“มีหลายฝ่ายเป็นห่วงว่า อาลีบาบา จะผูกขาดตลาดการค้าออนไลน์ในไทย ผมขอยืนยันว่า..เราไม่ได้ทำธุรกิจมุ่งแสวงหากำไร หรือ “ผูกขาดทางการค้า” แต่เน้นสร้างความสามารถให้ธุรกิจ และคนรุ่นใหม่ประสบความสำเร็จ เพราะกำลังคนยังไม่เพียงพอ และหากได้คนที่ประสบความสำเร็จเข้ามาเป็นหุ้นส่วนธุรกิจ ก็จะสำเร็จไปด้วยกัน..”
นี่คือ คำมั่นจาก “แจ็ค หม่า” อภิมหาเศรษฐีผู้มั่งคั่ง นักธุรกิจระดับโลกเจ้าของ “อาลีบาบา” ราชา E-Commerce แดนมังกร ที่มาลงนามเอ็มโอยูกับรัฐบาลไทยเป็น 4 ฉบับ เมื่อวันที่ 19 เม.ย.ที่ผ่านมา (อ่านรายละเอียด “แจ็ค หม่า” ใช้อี-คอมเมิร์ซพัฒนาการค้าไทย-จีน “อาลีบาบา” ลงทุนหมื่นล้านบาท )
แต่ในโลกของธุรกิจ ไม่มีคำว่า “เพื่อน” หรือ “มิตรแท้” จะให้เราไว้ใจ เจ้าพ่ออาณาจักรอาลีบาบาเลยก็ใช่ว่าจะดี ดังนั้น เราจึงต้องศึกษาเขาด้วย เพื่อป้องกัน “สยามประเทศ” ของเราเพลี่ยงพล้ำ
...
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้ติดต่อผู้ที่คร่ำหวอด รู้จริงเกี่ยวกับประเทศจีน ได้แก่ อดีตผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน (Thai-Chinese Strategic Research Center : TCRC) สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ รศ.ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาช่วยวิเคราะห์การร่วมมือครั้งนี้
วิเคราะห์สูตรสำเร็จของ แจ็ค หม่า กว่าจะมีวันนี้ มุ่งเจรจา B to G เน้นเจรจากับระดับรัฐบาลของแต่ละประเทศเป้าหมาย
เพื่อให้เข้าใจความคิดและวิธีการดำเนินธุรกิจของ “แจ็ค หม่า” ทีมข่าวฯ ได้สอบถามเรื่องนี้ไปยัง รศ.ดร.อักษรศรี จึงเลกเชอร์ชีวประวัติฉบับย่อของราชา E-Commerce คนนี้ให้เราฟังสักเล็กน้อย ก่อนจะวิเคราะห์การเข้ามาลงทุนหมื่นล้านในไทย
“แจ็ค หม่า ไม่ใช่คนจีนคนเดียวที่ประสบความสำเร็จด้านธุรกิจในระดับโลก แต่ แจ็ค หม่า เก่งในการนำเรื่องราวสู้ชีวิตของตนมานำเสนอ จนกลายเป็นตำนานระดับโลก ดังนั้น สิ่งที่ แจ็ค หม่า กำลังทำ คือ การสร้างสถานะทางสังคมที่โดดเด่นให้กับตัวเองจนกลายเป็นผู้ทรงอิทธิพลของโลก จากความสำเร็จของ อาลีบาบา กลายเป็นผู้เปลี่ยน ดิจิทัล ไลฟ์สไตล์ ให้กับสังคมจีน และหากใครได้อ่านประวัติก็คงจะทราบว่า เขากลายเป็นไอดอล “คนสู้ชีวิต” ที่ไม่เคยยอมแพ้ในสิ่งใด อาทิ ต้องสอบเข้ามหาวิทยาลัยหลายครั้งกว่าจะสำเร็จ ต้องทนลำบากปั่นจักรยานออกจากบ้านหลายกิโลทุกวันเพื่อไปเป็นไกด์อาสาฝึกพูดภาษาอังกฤษกับฝรั่ง เป็นต้น ซึ่งสิ่งที่ทำนั้น คือ การทำให้ตัวเองดูมีโปรไฟล์ที่ดี มีภาพลักษณ์ของนักธุรกิจต้นแบบที่แสนดีในระดับโลกไปแล้ว..แน่นอนยิ่งเขาเป็นที่รู้จักมากเท่าไหร่ ธุรกิจ อาลีบาบา ของเขาก็ยิ่งใหญ่มากขึ้นเท่านั้น”
สูตรสำเร็จของเขา คือ การทำธุรกิจไม่เหมือนคนอื่น เพราะโดยปกติแล้วการทำธุรกิจในต่างประเทศมักจะใช้วิธีการ B2B (Business-to-Business) เช่น บริษัทจีนกับบริษัทในไทยคุยกันเพื่อร่วมลงทุนธุรกิจ แต่ผู้ชายคนนี้คิดการใหญ่ เขาจะไม่ทำเพียงแค่นั้น แต่เขาเน้นวิธี B2G (Business to Government) ไม่ว่าเขาจะไปรุกตลาดประเทศไหน เช่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เขาก็จะเน้นไปคุยกับผู้นำระดับรัฐบาลนั้นๆ โดยมาในมาดนักธุรกิจแสนดีแนวฮีโร่ บอกว่า “อาลีบาบา จะมาร่วมมือกับรัฐบาลประเทศนั้นๆ เพื่อจะช่วยพัฒนาด้านต่างๆ เช่น จะช่วยเกษตรกร จะช่วย SME จะเป็นที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีให้รัฐบาลฯ" ดังนั้น สตอรี่ และภาพลักษณ์ที่เขามานำเสนอกับเมืองไทยก็ไม่มีอะไรแปลกใหม่ เพราะเป็นสิ่งที่เขาก็ใช้โมเดลนักธุรกิจแสนดีทำนองนี้ไปบอกกับรัฐบาลประเทศอื่นๆ ด้วย"
...
อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า จริงๆ แล้วกรณีของไทย แจ็ค หม่า เป็นฝ่ายวิ่งมาหาเราก่อนนะ เขาเป็นฝ่ายมาจีบ มาขอพบกับนายกฯ ตู่ ตั้งแต่เมื่อครั้งนายกฯ ตู่ บินไปประชุมที่หางโจว ถิ่นของอาลีบาบา
รศ.ดร.อักษรศรี ยังได้กล่าวถึงเบื้องหลังก่อนจะถึงวันนี้ว่า เริ่มตั้งแต่ แจ็ค หม่า มาขอเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อครั้งที่บินไปประชุม G20 ที่เมืองหางโจว ปี 2559 ซึ่งการเข้าพบของแจ็ค หม่า ไม่อยู่ในวาระกำหนดการเดิมของนายกฯ แล้วจู่ๆ แจ็ค หม่า ก็ติดต่อมาขอเข้าพบนายกฯ ที่โรงแรมในหางโจว และในครั้งนั้นนอกจากไทยแล้ว แจ็ค หม่า ยังได้ขอเข้าพบผู้นำอินโดนีเซียด้วย จึงมีข้อสังเกตว่า แจ็ค หม่าสนใจประเทศที่มีตลาดพลเมืองเน็ตขนาดใหญ่อย่างไทยและอินโดนีเซีย แล้วหลังจากพบกันครั้งนั้น นายกฯ ตู่ จึงเชิญ แจ็ค หม่า มาร่วมงานการประชุมกรอบความร่วมมือเอเชีย (ACD) ที่ไทยเป็นเจ้าภาพในอีกไม่กี่เดือนถัดมา
...
ส่วนในการทำธุรกิจเพื่ออนาคต แจ็ค หม่า จะเน้นใช้ประโยชน์จากคนรุ่นใหม่ คน Gen Y ที่มีไฟแรง โดยเขาเลือกใช้ทีมงานพลังคนรุ่นใหม่ที่มีความคิดสร้างสรรค์ นี่คือความชาญฉลาดในการดึงพลังความคิดของทีมงานคนรุ่นใหม่ เพื่อคิดค้นธุรกิจรูปแบบใหม่ๆ และสร้างสรรค์ผลงานคิดค้นการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล
วัดใจไทยได้หรือเสีย เวลาจะพิสูจน์
ทีมข่าวฯ ถามว่า การลงทุนในไทยครั้งนี้ สิ่งที่ต้องระมัดระวัง หรือไทยจะได้ประโยชน์ หรือเสียประโยชน์มากกว่ากัน รศ.ดร.อักษรศรี อดีต ผอ.ศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน กล่าวว่า “เรื่องนี้ยังสรุปชัดไม่ได้ ต้องรอวัดความจริงใจ เราเองก็ยังไม่รู้ว่าเขาจริงจังและจริงใจกับไทยแค่ไหน กับการแค่มาลงนามเอ็มโอยูทั้ง 4 ฉบับนี้ ก็ไม่ได้มีอะไรที่เป็นการผูกพัน ลงนามเซ็นเอ็มโอยูวันนี้ พรุ่งนี้ฉีกทิ้งก็ได้ เป็นแค่กระดาษแผ่นหนึ่งที่ไม่มีข้อผูกมัด ซึ่งจะต้องใช้เวลาพิสูจน์ แต่ถ้าถามว่า การเซ็นเอ็มโอยูครั้งนี้มีประโยชน์ไหม คำตอบคือ ก็น่าสนใจ มันคือโอกาสที่เจ้าพ่อ e-commerce ระดับโลก สนใจร่วมมือกับไทย แต่ยังไม่มีข้อมูลรายละเอียดว่า จะมาทำอะไรเพื่อคนไทยบ้าง และตกลงกันแล้วจะปฏิบัติได้จริงเพียงใด"
“พูดตรงๆ นะคะ สิ่งที่เขาเป็นไปลงทุนกับประเทศอื่น เช่น มาเลเซีย ก็อ้างคำว่า “ฮับ” เช่นกัน แต่สิ่งที่ดูจะแตกต่างกับที่ แจ็ค หม่า ไปทำกับ มาเลเซีย หรือ ฟิลิปปินส์ ก็คือ ข้อตกลงที่ว่าจะให้ไทยเป็นฮับในกลุ่ม CLMV เพราะไทยโดดเด่นที่สุดในบรรดาประเทศ CLMV ข้างบ้านเหล่านี้.."
...
ในส่วนของมาเลเซีย แจ็ค หม่า ได้ไปลงทุนสร้าง DIGITAL FREE TRADE ZONE ซึ่งความร่วมมือของแจ็ค หม่า กับมาเลเซีย ที่เดินหน้าเป็นรูปธรรมแล้ว ตอนนี้ยังได้นำ Alibaba Cloud ไปช่วยควบคุมระบบการจราจรในมาเลเซียด้วย
ส่วนที่ฟิลิปปินส์ แจ็ค หม่า ก็ไปหยอดคำหวานกับประธานาธิบดีดูเตร์เต ผู้นำรัฐบาลฟิลิปปินส์ บอกว่า ฟิลิปปินส์มีศักยภาพจะพัฒนา digital economy บอกว่า จะไปช่วยผลักดันและพัฒนาเทคโนโลยี และตลาดอีคอมเมิร์ซของฟิลิปปินส์จะเติบโตต่อไปด้วยพลังประชากรเกือบ 100 ล้านคน.. แจ็ค หม่าจะไปทำ FinTech (เทคโนโลยีเกี่ยวกับการเงิน) ในฟิลิปปินส์ด้วย"
เขาเป็นคนฉลาดมาก เขามีโมเดลชัดเจนในใจว่า.. “จะใช้ประโยชน์จากแต่ละประเทศในอาเซียนอย่างไร”
ดังนั้น อย่าหลงคิดว่า แจ็ค หม่า จะมาร่วมมือกับไทยประเทศเดียวเท่านั้น แต่เขาไปทุกที่ถ้ามีผลประโยชน์ และชัดเจนว่า ในแต่ละที่เขาจะใช้เพื่ออะไร ไปประเทศมาเลเซียเพื่ออะไร ไปฟิลิปปินส์เพื่อทำอะไร และจะใช้ไทยในเรื่องใด
สิ่งที่เขาคิดคือ การครองความยิ่งใหญ่ในระดับโลก จำได้ใช่มั้ยคะ ตอนที่ โดนัล ทรัมป์ ชนะเลือกตั้ง ปธน.สหรัฐฯ แจ็ค หม่า ก็รีบบินไปพบที่ทรัมป์ ทาวเวอร์ นี่แหละคือ โมเดลของแจ็ค หม่า ที่ต้องการให้ตนเป็นจุดสนใจระดับโลก จึงเน้นร่วมมือในระดับรัฐบาล และพบปะกับผู้นำของแต่ละประเทศ..
แจ็ค หม่า ไว้ใจได้แค่ไหน..รวมข้อกังวล นักวิชาการ เกษตรกรไทย ลงนามเอ็มโอยู อาลีบาบา
ทีมข่าวฯ ถาม ดร.อักษรศรี สิ่งที่ต้องระวังในการร่วมมือครั้งนี้มีอะไรบ้าง? อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตอบว่า เท่าที่ได้รับเสียงสะท้อนมาจากผู้ประกอบการรายย่อย และชาวสวนผลไม้ไทยที่ได้พูดฝากมา หลายคนมีความกังวล..
“หลายคนตั้งคำถามถึงความจริงใจของ แจ็ค หม่า เกรงว่า จะแค่มาสร้างภาพแล้วเปิดช่องให้กองทัพทุนจีนมากินรวบ หลายคนเคลือบแคลงใจว่า การมาของเขา รัฐบาลจะให้สิทธิพิเศษอะไรกับกลุ่มอาลีบาบาบ้าง..” ซึ่งดิฉันกำลังเกาะติดจับตาเรื่องนี้อยู่ หากรัฐบาลจะให้สิทธิพิเศษในการดึงเข้ามาลงทุนในเมืองไทย ก็ต้องทำอย่างโปร่งใส คนไทยทุกคนต้องได้รับทราบข้อมูล..
นอกจากนี้ ยังมีนักวิชาการหลายท่านที่กังวลต่อความร่วมมือครั้งนี้ เพราะยังไม่มีรายละเอียดปลีกย่อยต่างๆ เสนอออกมาเลย มีเพียงหัวข้อใหญ่ๆ เท่านั้น รู้เพียงว่าลงนามในเอ็มโอยู 4 ฉบับ แต่ยังไม่มีรายละเอียดว่าจะต้องทำยังไงต่อไป จะมีอะไรเอื้อประโยชน์ต่อการพัฒนาทักษะ หรือการจ้างงานคนไทยหรือไม่ ชีวิตเกษตรกรไทยจะดีขึ้นได้ตามราคาคุยของแจ็ค หม่า หรือไม่.. เท่าที่ติดตามฟังบทสัมภาษณ์ แจ็ค หม่า ผ่านสื่อต่างๆ ก็ได้ยินแต่คำตอบกว้างๆ ลอยๆ ว่า จะมาช่วยเกษตรกรไทย แต่จะช่วยยังไงที่เป็นรูปธรรมนั้นไม่ได้ระบุ
“ขอย้ำว่าประเทศไทยจะได้ประโยชน์หรือไม่ ประเทศไทยจะไว้ใจ แจ็ค หม่า ได้หรือไม่ เรื่องนี้ยังไม่สามารถตอบได้ในเวลานี้ เพราะต้องรอดูรูปธรรมของความร่วมมือ และกาลเวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์”
เมื่อถามว่า ที่ผ่านมาหลายประเทศที่มีการร่วมมือกับอาลีบาบา ผลที่ออกมาเป็นอย่างไรบ้าง รศ.ดร.อักษรศรี กล่าวว่า "ที่พอเห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนก็คือ ความร่วมมือที่ประเทศมาเลเซีย ซึ่งเมื่อลงทุนไปแล้ว เขาก็ได้สัมปทานใหญ่ๆ ในประเทศตามมา เช่น ระบบจราจรในมาเลเซีย" มีข้อสังเกตว่า "เขาจะได้ข้อมูล big data ไปใช้ประโยชน์ต่อ อันนี้คือเบื้องลึกที่ แจ็ค หม่า ต้องการเพื่อไปต่อยอดทำมาหากินได้อีกหลายธุรกิจตามมา"
“แจ็ค หม่า เป็นคนที่คิดการใหญ่ เขาลงทุนทำสารพัดอย่าง เช่น การสร้างภาพยนตร์ แล้วร่วมแสดงหนังกังฟูเองด้วย การลงทุนพัฒนารถยนต์ไร้คนขับ เป็นต้น อะไรที่เป็นเรื่องใหม่ เป็นนวัตกรรมของโลก แกจะลองทำ แม้กระทั่งไปหนุนหลังการลงทุนของสตาร์ทอัพจีน ทำแอปพลิเคชันที่พักแนว Airbnb เป็นต้น ดังนั้นต้องจับตาดูว่า เขาจะมาทำอะไรที่เมืองไทยบ้าง เขาคงกำลังสนุกกับสิ่งที่ทำ โดยเฉพาะสิ่งใหม่ๆ จากเดิมที่ทำเพียงเว็บไซต์ให้คนขายของออนไลน์ ทำ platform ให้คนเอาของมาขาย แต่ตอนนี้แกทำธุรกิจหลากหลาย ทั้งกองทุนการเงิน ทั้งที่พักโรงแรม ทั้งรถยนต์ไร้คนขับ ทำเกือบทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีแห่งอนาคต”
ด้วยที่เขาชาญฉลาดขนาดนี้..รู้สึกกังวลหรือไม่ โดยเฉพาะธุรกิจการเงินการธนาคาร อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตอบว่า "หากเรารู้เท่าทันเขา เรามีทักษะด้านเทคโนโลยีดิจิทัลที่จะทำได้ตามเขา ก็อาจจะสนุกไปกับเขาได้ แต่คำถามคือ เราพร้อมหรือยัง เรามีทักษะแห่งอนาคตหรือยัง และต้องไม่ลืมว่า เขามาเพื่อทำธุรกิจ ผลประโยชน์ทางธุรกิจของเขาต้องมาก่อนนะคะ” อย่าไปโลกสวยคิดไปว่า แจ็ค หม่า จะมาเป็นนักบุญ ไม่ใช่ค่ะ เขาคือนักธุรกิจที่มองธุรกิจแห่งอนาคต และคงภูมิใจที่ได้ทำสิ่งใหม่ๆ ก่อนใคร”
อย่างไรก็ดี การร่วมมือใดๆ กับเขา เราก็ต้องระมัดระวัง โดยเฉพาะเรื่องสิทธิประโยชน์ แต้มต่อที่เราจะไปให้เขา เราต้องไม่เสียเปรียบ ไม่เปิดช่องให้คนจีนมากินรวบ
เอ็มโอยู 2 ฉบับ โอกาสพัฒนาทักษะคนไทย
จากเอ็มโอยูทั้ง 4 ฉบับ รศ.ดร.อักษรศรี ให้ความสนใจ 2 ฉบับ ในแง่โอกาสที่จะพัฒนาทักษะคนไทย คือ
1. ความร่วมมือด้านการพัฒนาบุคลากรด้านดิจิทัลและอีคอมเมิร์ซ โดยระบุว่า จะมาส่งเสริมพัฒนาดาวเด่นด้านดิจิทัล เห็นว่าจะมีโรงเรียนสอนด้านธุรกิจจากอาลีบาบาเข้ามาด้วย ซึ่งตรงนี้หากทำจริงก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจ แต่ต้องดูรายละเอียด ไม่ใช่ว่า จะเอาเรื่องนี้มาอ้างเพื่อคิดจะขายคอร์สให้คนไทยไปเรียนแล้วคิดค่าเรียนแพงๆ ดังนั้น เราจึงต้องศึกษารายละเอียดในสิ่งที่จะเป็นความร่วมมือกัน
2. ความร่วมมือพัฒนาทักษะด้านอีคอมเมิร์ซให้กับผู้ประกอบการและเอสเอ็มอีไทย (Start up) ซึ่งฟังดูดีมาก มีการบอกว่าจะให้การช่วยเหลือระดับจังหวัด หรือภูมิภาคของไทย แต่ก็ยังขาดรายละเอียด เช่น จะช่วยเหลืออย่างไร
แจ็ค หม่า เป็นคนที่ฉลาดที่จะเน้นร่วมงานกับคนรุ่นใหม่เพื่อดึงพลัง ดึงสมอง ดึงศักยภาพความสามารถของคนรุ่นใหม่มาต่อยอดธุรกิจกลุ่มอาลีบาบา
ส่วนอีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจ คือ แจ็ค หม่า นับถือศาสนาพุทธ ศึกษาคำสอนของพระพุทธเจ้า และสนใจปรัชญาตะวันออก แต่แม้ว่าจะดูเป็นคนมีคุณธรรมจริยธรรม ในเรื่องการทำธุรกิจก็ยังเน้นผลประโยชน์ต้องมาก่อน และทำเพื่อให้อาณาจักรอาลีบาบาของตนเองได้ยิ่งใหญ่ครองตลาดโลก แจ็ค หม่า เป็นคนคิดการใหญ่ ทุกอย่างที่ทำต้องยิ่งใหญ่..
“ถามว่าเรารู้แล้วว่า เขาคิดแบบนี้จะเป็นอันตรายกับเรามั้ย ส่วนตัวเชื่อว่าไม่..เพราะหากเรารู้ว่าเขาเป็นแบบนี้แล้ว และเราใช้เป็นโอกาสเรียนรู้ไปกับเขา หาช่องทางเติบโตไปกับเขา ถ้าเขาตั้งใจมาพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลให้ประเทศเราจริง ถ้านักเรียนนักศึกษาของเราสามารถไปเรียนรู้กับเขาได้จริง ก็ถือว่าเป็นเรื่องดี แต่คนของเราเองก็ต้องมีความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ไปกับเขาด้วย เราต้องพร้อมที่จะไปเรียนรู้กับเขา โดยเฉพาะพื้นฐานด้านภาษาเราต้องดีพอที่จะสื่อสารกับทีมงานเขา”
ในช่วงท้าย อาจารย์อักษรศรี ได้สรุปการเข้ามาของ แจ็ค หม่า ว่า จะกระทบอย่างไร บวกหรือลบ คนไทยเราต้องหันมามองตัวเองด้วย พิจารณาจุดอ่อน/ปัญหาตัวเอง ต้องแก้ไขปัญหาที่ตัวเราเองให้ได้ซะก่อน เราถึงจะใช้ประโยชน์จากโอกาสต่างๆ ที่หลั่งไหลเข้า ไม่งั้นก็ไม่ไปไหน เดินย่ำอยู่กับที่เช่นนี้ต่อไปค่ะ คนไทยพร้อมรึยังคะ?
"ที่แน่นอน คือ ผลกระทบของการเข้ามาของ แจ็ค หม่า จะสร้าง disruptive โดนเขย่าหนักจนปั่นป่วนขนานใหญ่ค่ะ"
หลังจากนี้คงจะได้เห็นอะไรดีๆ เกิดขึ้นกับบ้านเรา โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่ได้บริษัทยักษ์ใหญ่บ้านพี่อย่าง "อาลีบาบา" มาช่วยพัฒนาชาติให้กับเรา แต่...ต้องไม่ลืมว่า นักธุรกิจไทยต้องอยู่ได้ ผลประโยชน์ชาติต้องอยู่ครบ หวังว่าผลลัพธ์ที่ได้คงจะจบสวยแบบ วิน-วิน
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน