“มันเป็นความทรงจำที่นึกขึ้นมาตลอดว่า วันที่ 13 แล้วเหรอ ครบรอบอีกปีแล้ว
ซึ่งเป็นวันที่เราประสบอุบัติเหตุ เมื่อ 13 เม.ย. แล้วก็คิดขึ้นมาว่า...
ไม่น่าไปเลย ไม่น่าเล่นเลย คิดแบบนี้ทุกปี ตลอดระยะเวลา 20 ปี"

นิภาดา แสนสุภา หรือ อิ๋ว วัย 36 ปี หนึ่งในเหยื่อของ “ความประมาท” ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ และในวันที่ 13 เม.ย. 61 นี้ ครบรอบ 20 ปี ของเหตุการณ์เลวร้ายที่เปลี่ยนแปลงชีวิตเธอไปตลอดกาล...

นิภาดา แสนสุภา หรือ อิ๋ว วัย 36 ปี
นิภาดา แสนสุภา หรือ อิ๋ว วัย 36 ปี

...

เล่าย้อนวินาที รถคว่ำ แหกโค้ง วันสงกรานต์

นิภาดา หรือ อิ๋ว เล่าว่า “ช่วงนั้นต้องไปถ่ายบัตรประชาชนอายุ 15 ปี ที่บ้านใน จ.บึงกาฬ และได้เจอเพื่อนก็เลยไปเที่ยวสงกรานต์ด้วยกัน โดยขี่รถมอเตอร์ไซค์โนวาแดชของน้า พร้อมกับเอาเพื่อนอีกคนหนึ่งซ้อนท้ายไปด้วย

เราขี่รถตะลอนเล่นไปทั่วเมืองกับเพื่อนอีก 5-6 คัน พอเล่นเสร็จเริ่มก็เพลียๆ เหนื่อยๆ เพราะอากาศมันร้อน แต่ไม่ได้ดื่มเหล้านะ พอบ่ายแก่ๆ ก็ขี่รถกลับบ้าน ช่วงที่เข้าโค้งเหมือนร่างกายมันเพลีย สติเบลอ จังหวะนั้นก็ขี่รถหลุดโค้งออกไป ตอนนั้นเราก็รู้สึกตัว เพื่อนที่ซ้อนท้ายมาไม่เป็นอะไร ก็มาดูเราว่าเป็นไงบ้าง

พอกำลังจะลุกแต่มันลุกไม่ขึ้น มันเจ็บขาไปหมด แต่ไม่มีแผล ไม่มีเลือด คิดว่าขาน่าจะหัก พอไปถึงโรงพยาบาลนิ้วข้างขวากระดิกไม่ได้ หมอเลยบอกว่า น่าจะเส้นเอ็นขาด ต้องผ่าตัด ซึ่งจริงๆ ช่วงผ่าตัดก็ปกติดี ต้องล้างแผลทุกวัน แต่ช่วงนั้นสงกรานต์มีผู้ป่วยค่อนข้างเยอะ ปรากฏว่า แผลติดเชื้อจากเครื่องมือแพทย์ ทำให้ขาบวม อักเสบ สุดท้ายแผลก็เน่า หมอเลยจำเป็นต้องตัดขา ซึ่งเรารักษาตัวอยู่โรงพยาบาลนาน 3-4 เดือนเลย”

"เราไม่ได้เสียใจนะที่เป็นแบบนี้ เพียงแต่ว่า เรายอมรับมันได้ ซึ่งมันย้อนกลับไปแก้ไขอะไรในอดีตไม่ได้แล้ว"
อิ๋วได้งบประมาณจากการกีฬาฯ ในการจัดซื้อขาเทียม
อิ๋วได้งบประมาณจากการกีฬาฯ ในการจัดซื้อขาเทียม
เข้าโหมดปิดตัวเอง อาย ขาดความมั่นใจ กลัวสายตาคนมองแปลกประหลาด

อิ๋ว เล่าว่า ตอนนั้นเพิ่งจบ ม.3 กำลังมีอนาคต แต่ต้องกลายเป็นผู้ทุพพลภาพ ด้วยอายุแค่ 15 ปีเท่านั้น ทำให้รู้สึก “อาย” ขาดความมั่นใจ ไม่กล้าสู้กับสายตาคนอื่นที่มองเหมือนคนแปลกประหลาด

“ช่วงแรกๆ เราปิดตัวเอง ไม่ค่อยออกไปเจอหน้าใคร ในต่างจังหวัดเป็นที่รู้กันว่า ลูกสาวบ้านนี้ถูกตัดขา คนเขาก็จะเข้ามาดูกัน แต่เรากลับรู้สึกไม่ดี ในตอนนั้นมันแย่มากๆ ส่วนเรื่องเรียนต่อเราก็สอบติดอาชีวะ แต่ว่าตอนนั้นเราไม่เอาอะไรเลย ไม่อยากเรียน ไม่อยากไปไหน ไม่อยากเจอใคร เพราะกลัวว่าคนจะมองเราเป็นตัวประหลาด กลัวโดนเพื่อนล้อ ก็เลยตัดสินใจไม่ไปเรียน”

เราใช้ชีวิตเหมือนคนปกติ ทำทุกอย่างได้ด้วยตัวเอง ไม่ใช่นั่งชี้ให้คนอื่นทำให้ เราจะดูมีค่าขึ้นมาทันที
เราใช้ชีวิตเหมือนคนปกติ ทำทุกอย่างได้ด้วยตัวเอง ไม่ใช่นั่งชี้ให้คนอื่นทำให้ เราจะดูมีค่าขึ้นมาทันที

...

“พิการจะทำอะไรได้?” ล้มเลิกฝัน ความหวังครอบครัวพังทลาย

อิ๋ว เคยวาดฝันในตอนเด็กๆ ว่า เมื่อโตขึ้นมาเธออยากจะเป็นพยาบาล คอยช่วยเหลือคนเจ็บป่วย แต่หลังจากเกิดเหตุการณ์เลวร้ายในชีวิต เธอจึง “ล้มเลิก” ความฝันนั้น เพราะดูเหมือนเป็นสิ่งที่ “ไม่น่าจะเป็นไปได้” กับคนที่มีขาเพียงข้างเดียวอย่างเธอ

นอกจากเธอจะต้องเสียขาไปแล้ว เธอยังสูญเสียอะไรอีกมากมาย ด้วยความที่เป็นความหวังของครอบครัว ในฐานะที่เธอเป็นลูกสาวคนเดียวของบ้าน ถูกคาดหวังให้เรียนสูงๆ มีงานการดีๆ ทำ มีความก้าวหน้าในชีวิต กลับพังทลายเพราะอุบัติเหตุในครั้งนั้น

“สิ่งที่เราอยากจะทำในทุกๆ เรื่อง สิ่งที่คิดไว้ ตั้งความหวังไว้ มันหายไป และเราก็ไม่รู้ด้วยว่า วันข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ซึ่งเรายังติดกับคำว่า ความพิการ จะไปทำอะไรได้ จะมีคนรับเข้าทำงานไหม”

อิ๋ว เคยวาดฝันในตอนเด็กๆ ว่า เมื่อโตขึ้นมาเธออยากจะเป็นพยาบาล
อิ๋ว เคยวาดฝันในตอนเด็กๆ ว่า เมื่อโตขึ้นมาเธออยากจะเป็นพยาบาล

...

ขาเทียมที่เธอใส่อยู่นั้น ราคาข้างละ 2 แสนกว่าบาท
ขาเทียมที่เธอใส่อยู่นั้น ราคาข้างละ 2 แสนกว่าบาท
เปิดใจจากกีฬาเฟสปิกเกมส์ ... มุ่งมั่นอยากเป็นนักกีฬา

กระทั่ง มีการแข่งขันกีฬาเฟสปิกเกมส์ ครั้งที่ 7 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ เพื่อนของน้าอยากให้อิ๋วได้ไปดูกีฬา เผื่อว่าสภาพจิตใจจะดีขึ้นบ้าง จึงได้มีโอกาสไปดู และเจอบูธของโรงเรียนอาชีวพระมหาไถ่ พัทยา ที่สอนวิชาชีพให้กับผู้พิการ อิ๋วจึงได้ทิ้งใบสมัครเรียนไว้

“พอเราไปเห็นคนพิการแล้ว เรามีความรู้สึกว่า ยังมีอีกหลายคนที่เป็นมากกว่าเรา ต้องนั่งรถเข็น แต่เราใส่ขาเทียม ทำให้เรารู้สึกว่า เราไม่อยากไปเรียนร่วมกับคนปกติ สมัยนั้นจิตใจเรายังรับความจริงไม่ได้ แต่พอได้มาเห็นความคิดก็เปลี่ยนไป จากที่เคยคิดว่า คนพิการคงทำอะไรไม่ได้ เป็นภาระของครอบครัว แต่ไม่ใช่เลย พวกเขาสามารถทำงานได้ เล่นกีฬาได้ ใช้ชีวิตได้อย่างคนทั่วไป เราก็คิดว่า วันหนึ่งเราอยากเป็นนักกีฬา”

...

การรับใช้ทีมชาติ ในฐานะนักแบดมินตัน
การรับใช้ทีมชาติ ในฐานะนักแบดมินตัน
17 ปี ทำให้อิ๋วเล่นกีฬาได้อย่างคล่องแคล่ว
17 ปี ทำให้อิ๋วเล่นกีฬาได้อย่างคล่องแคล่ว
จากเด็กไร้ฝัน สู่ นักแบดทีมชาติ

อิ๋วจึงเริ่มให้โอกาสตัวเองอีกครั้งจากการเล่นบาสเกตบอล จากนั้นด้วยความที่อิ๋วชอบไปตีแบดกับเพื่อนๆ ถึงแม้ขาจะวิ่งไม่ได้ แต่ก็พอเอื้อมตีลูกถึงบ้างไม่ถึงบ้าง กระทั่งได้มีโอกาสคัดตัวในกีฬาแบดมินตันคนพิการ และก็ติดทีมชาติไทยเป็นครั้งแรกในชีวิต ในวัย 19 ปี

เธอใช้เวลาฝึกซ้อมทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ 09.00-16.00 น. และเก็บตัวแข่งขันทั้งในระดับประเทศจนไปถึงระดับโลก ในที่สุดเธอก็ก้าวขึ้นมาเป็นนักกีฬาแบดมินตันคนพิการ มือวางอันดับ 1 ของประเทศไทยจนได้

ปัจจุบัน เป็นเวลา 17 ปีแล้ว ที่ได้เป็นตัวแทนทีมชาติไทย โดยเธอได้รับเหรียญรางวัลมามากกว่า 100 เหรียญทั้งในและนอกประเทศ เป็นที่ภาคภูมิใจของครอบครัวและตัวเธอเอง จากเด็กผู้หญิงที่โลกมืดมนจนแทบจะไร้อนาคต แต่เพราะครอบครัว คนรอบข้าง กำลังใจ ที่สำคัญที่สุดคือ การยอมรับความจริง จนลุกขึ้นมาสู้กับชีวิต และประสบความสำเร็จมาถึงทุกวันนี้

"ถ้าเราไม่เป็นแบบนี้ เราก็ไม่รู้ว่า จะได้เข้ามาเป็นนักกีฬาทีมชาติหรือเปล่า"
นิภาดา ได้รับเหรียญรางวัลมามากกว่า 100 เหรียญทั้งในและนอกประเทศ
นิภาดา ได้รับเหรียญรางวัลมามากกว่า 100 เหรียญทั้งในและนอกประเทศ
สิ่งที่ก้าวผ่านยากที่สุด คือ การยอมรับความจริง

ในทางการแพทย์ ผู้ที่สูญเสียบางสิ่งบางอย่างในชีวิต จะเกิดปฏิกิริยาการตอบสนองของการสูญเสีย ซึ่งในระยะแรกเป็นระยะปฏิเสธไม่ยอมรับความจริง ไม่ปฏิสัมพันธ์กับใคร ต่อมา ระยะโกรธ โกรธคนใกล้ชิด คนรอบข้าง คนที่ทำให้ตัวเองต้องกลายเป็นแบบนี้ ระยะเศร้า เกิดความเสียใจ กลัว สิ้นหวัง และในท้ายที่สุด จะเข้าสู่ระยะยอมรับการสูญเสียนั้นได้

เช่นเดียวกับ อิ๋ว “ตอนนั้นสิ่งที่เราคิด เราจะต้านไปหมดทุกอย่าง คิดในแง่ลบ กลัวว่าเพื่อนไม่ยอมรับ แต่พอมาได้ใช้ชีวิต โตขึ้น มันต่างกับสิ่งที่เคยคิด สังคมรอบข้าง เพื่อน ไม่ได้เป็นแบบที่เราคิด ทำให้เรารู้สึกว่า เราไม่ได้เสียใจนะที่เป็นแบบนี้ เพียงแต่ว่า เรายอมรับมันได้ ซึ่งมันย้อนกลับไปแก้ไขอะไรในอดีตไม่ได้แล้ว เรามีสิ่งที่ดีที่สุด เราต้องยอมรับให้ได้ และดำเนินชีวิตต่อไป”

สิ่งที่ข้ามผ่านยากที่สุด คือ การยอมรับความจริง ถ้าข้ามไปไม่ได้มันก็จะฝังอยู่ในใจ
สิ่งที่ข้ามผ่านยากที่สุด คือ การยอมรับความจริง ถ้าข้ามไปไม่ได้มันก็จะฝังอยู่ในใจ
นิภาดา แสนสุภา หรือ อิ๋ว
นิภาดา แสนสุภา หรือ อิ๋ว

อิ๋ว ยังเล่าถึงประสบการณ์ชีวิตอีกด้วยว่า สิ่งที่ข้ามผ่านยากที่สุด คือ การยอมรับความจริง ถ้าข้ามไปไม่ได้ มันก็จะฝังอยู่ในใจ อย่างเมื่อก่อนคนอื่นมองเราทำไม เกิดความรู้สึกไม่โอเคที่ถูกคนมอง แต่พอผ่านไปได้ก็จะมีความคิดที่ว่า ตัวเองก็มองคนที่ผิดปกติเหมือนกัน แต่มองว่า เขาเก่งนะ และลองกลับมาคิดในด้านบวกว่า ที่คนเขามอง เขาอาจจะชื่นชมเราก็ได้

นอกจากนี้ เมื่อเราเข้าใจชีวิตมากขึ้น เห็นเพื่อนๆ ต่างชาติใส่กางเกงขาสั้น และมีขาเหล็กแท่งเดียว เขาก็ไม่เห็นอายใคร ซึ่งมองว่า หากเรารู้จัก “ยอมรับความจริง” ได้ ใครจะมองอะไร ไม่สนใจ แค่เราใช้ชีวิตเหมือนคนปกติ ทำทุกอย่างได้ด้วยตัวเอง ไม่ใช่นั่งชี้ให้คนอื่นทำให้ เราจะดูมีค่าขึ้นมาทันที ตราบที่เรายังมีชีวิตอยู่ต้องสู้ต่อไป

ขาเทียมต้องเปลี่ยนทุกๆ ปี เนื่องจากใช้ขาในการฝึกซ้อมเยอะ
ขาเทียมต้องเปลี่ยนทุกๆ ปี เนื่องจากใช้ขาในการฝึกซ้อมเยอะ
"เราสูญเสียตรงนี้ไป ไม่ได้แปลว่าชีวิตเราต้องหยุด"
“สูญเสียขา ไม่ได้แปลว่าชีวิตต้องหยุด” เผย ครอบครัว คือ แรงผลักให้ลุกขึ้นสู้

อะไรที่ทำให้ผ่านช่วงเวลาสูญเสียมาได้? ทีมข่าวถาม สาววัย 36 ปี อมยิ้ม ก่อนตอบว่า “ครอบครัวค่ะ จากที่เราเป็นลูกสาวคนเดียว ก็เลยทำให้รู้สึกว่า ‘เราจะทำอะไรไม่ได้จริงๆ หรอ’ เราต้องสู้สิ ประจวบเหมาะกับได้มาเรียน เล่นกีฬา มีชื่อเสียง หาเงินหาทองเองได้ โดยที่ไม่ต้องไปพึ่งพาคนอื่น การที่เราเป็นแบบนี้จะต้องขอเขาอย่างเดียว เพื่อนที่เป็นเยอะกว่าคนอื่นเขายังสู้เลย บางคนนั่งรถเข็น บางคนแขนขาด ขาขาด บางคนเป็นอัมพาตครึ่งตัว เขายังสู้

และโชคดีที่มีคนรอบข้างคอยให้กำลังใจ และเชื่อมั่นว่าเราสามารถทำได้ มันทำให้เรามีความรู้สึกว่า เราต้องสู้ เราคิดว่าเราก็ทำได้เหมือนคนอื่นทุกๆ คน เพียงแต่ว่า เราสูญเสียตรงนี้ไป ไม่ได้แปลว่าชีวิตเราต้องหยุด”

“มันเป็นความทรงจำที่นึกขึ้นมาตลอดว่า วันที่ 13 แล้วเหรอ ครบรอบอีกปีแล้ว
“มันเป็นความทรงจำที่นึกขึ้นมาตลอดว่า วันที่ 13 แล้วเหรอ ครบรอบอีกปีแล้ว"
13 เมษา วนบรรจบ ครบ 20 ปี

ในวันที่ 13 เม.ย. 61 ครบรอบ 20 ปี ที่อิ๋วประสบอุบัติเหตุจนต้องสูญเสียขาขวาไป 1 ข้าง อิ๋ว ได้ถ่ายทอดความรู้สึกขณะนี้ ว่า “มันเป็นความทรงจำที่นึกขึ้นมาตลอดว่า วันที่ 13 แล้วเหรอ ครบรอบอีกปีแล้ว ซึ่งเป็นวันที่เราประสบอุบัติเหตุ เมื่อ 13 เม.ย. แล้วก็คิดขึ้นมาว่า ไม่น่าไปเลย ไม่น่าเล่นเลย คิดแบบนี้ทุกปี ตลอดระยะเวลา 20 ปี

แต่บางทีเราก็ย้อนกลับมาคิดในด้านดีๆ ว่า ถ้าเราไม่เป็นแบบนี้ เราก็ไม่รู้ว่า จะได้เข้ามาเป็นนักกีฬาทีมชาติหรือเปล่า แต่เวลานี้ เรามีครอบครัว มีหน้าที่ มีงานทำ ก็ทำให้คนรอบข้าง หรือคนอื่นๆ ยอมรับในตัวเรา อย่างคนแถวบ้านบางคนยังบอกว่า ขนาดลูกเราแขนขาดี งานการไม่ทำ ลูกเธอเป็นแบบนี้ยังมีเงินส่งให้ที่บ้าน มันก็ทำให้เรารู้สึกภูมิใจ และแตกต่างจากเมื่อก่อน ที่เราคิดว่า เรามืดมน ไม่รู้จะไปทางไหน”

อย่างไรก็ตาม หลังจากอ่านเรื่องราวทั้งหมดแล้วนั้น ท้ายที่สุด อิ๋ว ฝากบอกทิ้งท้ายก่อนไปทำหน้าที่เป็นตัวแทนทีมชาติไทยไปแข่งกีฬาแบดมินตัน ด้วยว่า ทุกคนต้องใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาท เพราะความประมาทจะส่งผลตามหลังมาอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียอะไรหลายอย่างในชีวิต ทั้งการเรียน การงาน อนาคตของตัวเอง เราอาจจะโชคดีที่เราไม่ตาย แต่ก็ไม่รู้ว่ากว่าเราจะฟื้นตัวจะต้องใช้เวลาเท่าไร ดังนั้น อยากให้ทุกคนมีสติ อย่าใช้ชีวิตประมาท

นักแบดมินตันคนพิการ มือ 1 ทีมชาติไทย
นักแบดมินตันคนพิการ มือ 1 ทีมชาติไทย
ภาพแห่งความสำเร็จของอิ๋ว นิภาดา
ภาพแห่งความสำเร็จของอิ๋ว นิภาดา

**** ล้อมกรอบ ****

นิภาดา แสนสุภา หรือ อิ๋ว วัย 36 ปี
นักกีฬาแบดมินตันคนพิการ ทีมชาติไทย
มือวางอันดับ 1 ของประเทศ
และอันดับ 5 ของโลก ในประเภทคู่ผสม

รางวัลระดับโลกที่เคยได้รับ

Irish Para Badminton 2017
เหรียญทองหญิงคู่
เหรียญทองคู่ผสม
เหรียญทองแดงหญิงเดี่ยว

ASEAN Para Games 2015
เหรียญเงินหญิงคู่
เหรียญเงินคู่ผสม
เหรียญทองแดงหญิงเดี่ยว

Indonesia Para Badminton 2015
เหรียญเงินหญิงคู่
เหรียญทองแดงหญิงเดี่ยว
เหรียญทองแดงคู่ผสม

Para-Badminton World Championships 2013
เหรียญเงินคู่ผสม
เหรียญเงินหญิงคู่

และยังมีรางวัลอื่นๆ อีกหลายรายการ ทั้งการแข่งขันภายในประเทศและต่างประเทศ