“ผมว่าดีที่มีตู้กดถุงยางอนามัยในโรงเรียน เด็กจะได้กล้าซื้อ อย่างน้อยก็ช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ คนที่ไม่กล้าซื้อในร้านสะดวกซื้อ ร้านขายยาก็มากดซื้อได้อย่างสบายใจ” ความคิดเห็นของนักเรียนชาย ม. 5 โรงเรียนดังแห่งหนึ่งย่านรัชดาภิเษก

ด้านสาวออฟฟิศ วัย 35 ปี แต่ไม่มีครอบครัว ก็มีความเห็นสนับสนุน ควรมีในโรงเรียนเช่นกัน “ควรมีขายในสถานศึกษา อย่างน้อยๆ เด็กจะได้คุ้นชิน และไม่อายที่จะซื้อหรือใช้”

ส่วนความคิดเห็นของคุณแม่ลูกสอง ซึ่งกำลังเรียนในระดับ ม.ต้น ตอบด้วยเสียงดุดัน
“รับไม่ได้ ควรเอาตู้ไปตั้งที่อื่น ร้านสะดวกซื้อมีเป็นหมื่นๆ ร้าน เด็กคงสะดวกใจกว่าซื้อกับตู้ในโรงเรียน”

และคุณพ่อของวัยรุ่นหญิงที่กำลังเรียน ม.ต้น ก็ไม่เห็นด้วยเช่นกัน
“ไม่ว่าจะติดในโรงเรียน หรือมหา' ลัยก็ไม่เหมาะสม ไม่ควรมี และไม่จำเป็นด้วย เพราะหาซื้อตามร้านสะดวกซื้อได้ง่าย เด็กสมัยนี้ไม่มีความอายแล้ว ทำแบบนี้เหมือนแก้ที่ปลายเหตุ แทนที่เด็กจะสนใจเรื่องเรียน อาจทำให้หมกมุ่นแต่เรื่องเพศ”

เหล่านี้คือหลากหลายมุมมองเมื่อทีมข่าวฯ ได้ลงพื้นที่สำรวจความคิดเห็น กรณีการจัดตั้งตู้หยอดเหรียญซื้อถุงยางอนามัยในสถานศึกษา ทั้งกลุ่มอาชีวศึกษา และสายสามัญตั้งแต่ระดับ ม.ต้นขึ้นไป ซึ่งเป็นมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการติดเชื้อเอชไอวี หรือ เอดส์ เป็นยุทธศาสตร์ของปี 2558-2562 ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ต้องการรณรงค์ให้ความรู้เรื่องการป้องกันรักษาโรคและส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงอุปกรณ์ป้องกันโรค

นพ.สมาน ฟูตระกูล
นพ.สมาน ฟูตระกูล

...

ซึ่งปี 62 จะสิ้นสุดยุทธศาสตร์นี้แล้ว “ตู้ขายถุงยางอนามัยในโรงเรียน” ที่สังคมกำลังถกเถียงกันอยู่นี้ ยังมีความเหมาะสมหรือไม่ จริงหรือที่จะเป็นการชี้โพรงให้กระรอก ทีมข่าวฯ ได้สอบถามข้อมูลและทัศนะจากหลายฝ่าย เพื่อเป็นข้อมูลให้กับสังคมช่วยกันคิดว่า ถึงเวลาหรือยังที่จะเปิดใจรับ หรือจะห้ามไม่ให้มีตู้ขายถุงยางอนามัยในโรงเรียน

สธ. ยึดมั่นสนับสนุน ประเมินเพื่อขับเคลื่อนในระดับนโยบายต่อไป

“สธ. ไม่ได้บังคับ แต่ให้ดำเนินการในรูปแบบสมัครใจและความพร้อม โรงเรียน สถานศึกษา สมาคมผู้ปกครอง ครู นักเรียน คุยกันประเมินร่วมกันแล้วเห็นว่าจะมีประโยชน์ หรือมีโทษมากกว่ากัน หากตกลงจะที่ติดตั้งตู้ กรมควบคุมโรค ของ สธ. พร้อมสนับสนุน และจะมีการประเมินผลหลังติดตั้ง ปัญหาท้องไม่พร้อม โรคทางเพศสัมพันธ์เพิ่มหรือลด เพื่อเป็นข้อมูลนำไปขับเคลื่อนในระดับนโยบายต่อไป

ผมมารับตำแหน่ง 1 ปี ในระหว่างนี้ ยังไม่มีการประสานมาขอติดตั้งจากโรงเรียน การดำเนินการติดตั้งตู้ขายถุงยางอนามัยมีเอกชนรายเดียวที่ทำ ให้ข้อมูลว่ายังไม่เคยติดในสถานศึกษา แต่ว่าเคยติดบริเวณใกล้สถานศึกษา เช่น ปั๊มน้ำมัน”  นพ.สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักโรคเอดส์ วัณโรค และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขกล่าวถึงเจตนารมณ์

พกถุงยางอนามัย คือคนรอบคอบ ไม่ใช่การหมกมุ่น

ทั้งนี้ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรคที่ทีมข่าวฯ ได้รับ พบว่า ปี 2555-2560 อัตราการป่วยด้วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น ซิฟิลิส มีอัตราการติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นมากกว่า 2 เท่า ต่อประชากรแสนคน กลุ่มที่มีอัตราป่วยสูงสุดคิดเป็น 143.44 ต่อประชากรแสนคน คือ วัยรุ่นและเยาวชน อายุ 15-24 ปี

และในปี พ.ศ. 2558-2559 พฤติกรรมการใช้ถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์ครั้งล่าสุดกับแฟนหรือคนรักใน 12 เดือนที่ผ่านมามีความแตกต่างกันในกลุ่มนักเรียนชั้น ม.5 และกลุ่มนักเรียนอาชีวศึกษา (ปวช.2) ดังนี้ กลุ่มนักเรียนชั้น ม.5 ชายและหญิงลดลงจากร้อยละ 76.5 เป็นร้อยละ 75 และร้อยละ 70.6 เป็นร้อยละ 67.4 แต่กลุ่มอาชีวศึกษา (ปวช.2) เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 62.8 เป็นร้อยละ 67.4 และร้อยละ 52.8 เป็นร้อยละ 61.78 ซึ่งทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นว่าการใช้ถุงยางอนามัยจำเป็นอย่างยิ่ง

“เพศสัมพันธ์เป็นเรื่องที่อยู่คู่กับมนุษยชาติมานาน ในเรื่องถุงยางอนามัย เรื่องการมีเพศสัมพันธ์ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง การจะลดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ ต้องมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย ต้องใช้ถุงยางอนามัย ป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์แล้ว ยังช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ด้วย

...

เป็นการป้องกันราคาถูกและมีประสิทธิภาพสูง ร้านทั่วไปจะราคา 50-60 ขึ้นไป แต่ราคาในตู้ขายอัตโนมัติ แตกต่างกันตามรส สี กลิ่น ราคาโดยเฉลี่ย 10-20 บาท ต่อชิ้น หรือจะไปขอฟรีได้ที่สถานบริการสาธารณสุขของรัฐได้ทุกที่ รพ.จังหวัด รพ.ส่งเสริมสุขภาพตำบล สังคมต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติว่าคนพกถุงยางอนามัยเป็นคนรอบคอบ อย่าคิดว่าเป็นคนหมกมุ่น และสังคมต้องร่วมไม้ร่วมมือ หาทางออกร่วมกัน ในการก่อให้เกิดสิ่งดีๆ เพราะประโยชน์ตกกับเยาวชนทั้งสิ้น” นพ.สมานไขความกระจ่าง

“มีชัย” ชี้แนะใส่ถุงยางที่สมอง ก่อนหยิบใส่ตู้ขาย

ด้าน นายมีชัย วีระไวทยะ อดีต ส.ว.กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงจากบทบาทในการรณรงค์การใช้ถุงยางอนามัย เพื่อคุมกำเนิด และป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ อีกทั้งเป็นผู้ก่อตั้งสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน ตั้งแต่ พ.ศ. 2517 จนในช่วงนั้นคนไทยนิยมเรียกชื่อถุงยางอนามัยว่า "ถุงมีชัย" ให้คำตอบ หลังทีมข่าวฯ ถามว่ามีความคิดเห็นอย่างไร หากมีการติดตั้งตู้ขายถุงยางอนามัยในโรงเรียนว่า “ควรใส่ถุงยางในสมอง ก่อนใส่ตู้ในโรงเรียน”

...

นายมีชัย วีระไวทยะ
นายมีชัย วีระไวทยะ

สาเหตุที่ต้องตอบเช่นนั้น นายมีชัยระบุว่า เนื่องจากไม่มีทัศนคติ เลยไม่มีพฤติกรรม แทนที่เด็กจะรับรู้ รับทราบ เกิดความเข้าใจอย่างจริงจังกับเรื่องเพศ โรงเรียนควรสอนอย่างจริงจังให้เกิดความเข้าใจว่า สิ่งที่มีชีวิตทั้งหมดในโลกเกิดมาโดยมีความสนใจในเรื่องเพศ พร้อมชี้แนะควรเป็นนายของถุงยางอนามัย และพึงใช้ให้เหมาะสมและถูกกับคน

“ต้องเริ่มที่สอนให้เกิดความเข้าใจ ว่าสิ่งที่มีชีวิตทั้งหมดในโลก เกิดมาโดยมีความสนใจในเรื่องเพศโดยอัตโนมัติ ถูกสั่งมาโดยธรรมชาติ ไม่ใช่เป็นทางเลือก มันเป็นทางบังคับ เพราะฉะนั้นควรศึกษาให้ดีให้ชัด วางตัวเป็นผู้รู้ อย่าเป็นทาสของมัน ควรเป็นนายของมัน รู้ว่าใช้กับใครและเมื่อไหร่จึงถูกต้อง เอาถุงยางไปใส่ตู้ก็เป็นทาสมันแล้ว เพราะฉะนั้นควรเอาถุงยางใส่สมองก่อน คือ ใส่ความรู้ต่างๆ นานาให้ถูกต้อง

เพื่อให้รู้ว่าการมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งจะถูกเวลาหรือไม่ถูกเวลา แต่ถ้าไม่ใส่อะไรป้องกัน มันมี 35 โรคที่ติดได้ รวมทั้งโรคทางเพศสัมพันธ์ เช่น เอดส์ พ่อ แม่ ต้องช่วยด้วย คนอื่นจะสอนแต่มุมมืด ในโรงเรียนก็ให้นักเรียนสอนกันเองอย่างถูกต้อง จัดเป็นคอร์สฝึกอบรม ขอให้มีความรู้เรื่องเพศศึกษาอย่างถูกต้องในสมอง อบรมในทางที่ถูกต้อง ไม่มีปัญหาท้องในวัยเรียนเกิดขึ้น” นายมีชัยแสดงทัศนะ

...

“ระเบียบรัตน์” ชี้ถุงยางเหมือนทิชชู ขอรัฐช่วยจัดตั้งงบประมาณ ให้พกถุงยาง

ขณะที่นางระเบียบรัตน์ พงษ์พานิช นายกสมาคมเสริมสร้างครอบครัวให้อบอุ่นและเป็นสุข และอดีตสมาชิกวุฒิสภา จ.ขอนแก่น มองว่า การพกถุงยางอนามัย นั้น ไม่ใช่ความผิดร้ายแรง เปรียบเหมือนพกทิชชูหรือไม้จิ้มฟัน ควรยินดีเมื่อคนใกล้ตัวพกถุงยางอนามัย และถึงเวลาที่คนไทยต้องยอมรับความเป็นจริงว่า สถานการณ์ของการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ หรือเด็กติดเอดส์สูงขึ้นเรื่อยๆ หากคิดแต่ว่าไม่เหมาะไม่ควร โดยอ้างความเหมาะสมนานัปการ อาจเป็นความคิดที่ก้าวไม่ทันเด็ก

“ดิฉันต้องการให้สังคมคิดว่า การพกถุงยางอนามัยเป็นเรื่องปกติ เหมือนเราพกกระดาษทิชชูหรือไม้จิ้มฟัน ไม่ใช่เรื่องพิสดาร ใครพก ใครจับ ใครซื้อ ใครครอบครองไว้ ไม่ใช่เป็นเรื่องไม่ดี อยากให้รัฐบาลจัดตั้งงบประมาณสนับสนุน จัดให้มีถุงยางอนามัยบริการ 100 เปอร์เซ็นต์ โดยไม่ต้องไปซื้อ ไม่ต้องไปตั้งตู้ในโรงเรียน ให้ตั้งอยู่ในที่สาธารณะ ปั๊มน้ำมัน ห้องน้ำ สถานีรถไฟ

นางระเบียบรัตน์ พงษ์พานิช
นางระเบียบรัตน์ พงษ์พานิช

อย่างไรเสียเด็กก็ต้องมีเพศสัมพันธ์ไม่วันใดก็วันหนึ่ง มาป้องกันที่เด็กจะดีกว่าปล่อยให้ท้องแล้วหมดอนาคต เด็กสมัยนี้เลี้ยงได้แต่ตัว ใจเลี้ยงไม่ได้ สังคมควรยอมรับความจริง ไม่ใช่ยุคที่ต้องมานั่งพูดถึงรักนวลสงวนตัว โดยไม่มีมาตรการอะไรป้องกันเด็กเลย ” นางระเบียบรัตน์กล่าวเน้นย้ำ

3 เรื่องเท่ๆ SEX รอบคอบตอบ OK

สำหรับการป้องกันตนเองและคู่ให้ปลอดภัยจากการติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และเอดส์ โดยใช้ถุงยางอนามัย กรมควบคุมโรค โดยสำนักโรคเอดส์ วัณโรค นั้นก็ได้มีการสนับสนุนสื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ในรูปแบบแพ็กเกจถุงยางอนามัยให้กับหน่วยงานระดับเขตและจังหวัดเพื่อใช้ในการจัดกิจกรรมส่งเสริมการใช้ถุงยางอนามัย ซึ่งสามารถดาวน์โหลดสื่อต้นแบบได้ที่ เว็บไซต์สำนักโรคเอดส์ วัณโรค และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งมีคำแนะนำดังแนวคิด “SEX รอบคอบตอบ OK : เรื่องเท่ ๆ กับรักของเรา” คือ

- กล้าปฏิเสธ...หากไม่พร้อมจะมีเพศสัมพันธ์ หรือหลีกเลี่ยงที่จะมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย เพราะนอกจากความรักที่มีให้กันแล้ว ต้องรับผิดชอบต่อผลที่จะตามมาทั้งต่อตนเองและคู่

- คนพกถุงยางอนามัยเป็นคนรอบคอบ ควรพกถุงยางอนามัยติดตัวไว้เสมอ และใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ ถ้าไม่ใช้ถือว่าประมาท และเสี่ยงต่อการติดโรค…เพราะใครๆ ก็ติดโรคได้

- ถุงยางอนามัย นอกจากจะช่วยป้องกันการตั้งครรภ์แล้ว ยังป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี/โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และราคาถูกด้วย

ทั้งนี้หากปฏิบัติ หรือเปลี่ยนทัศนคติได้ดัง 3 ประการข้างต้น อัตราการเพิ่มของผู้ติดเชื้อเอดส์ หรือตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ก็จะลดน้อยลง


จากทัศนะของ 3 ท่านที่ทีมข่าวฯ นำมาเสนอในวันนี้ คงเป็นลู่ทางคำตอบได้ชัดเจนว่า ถึงเวลาแล้วที่เราควรจะสอนลูก หลาน หรือคนใกล้ตัวให้รู้จักเรื่องเพศสัมพันธ์ที่ถูกต้อง และการใช้ถุงยางอนามัยว่ามีความสำคัญมากน้อยเพียงไร

สืบเสาะข่าว รับเรื่องราวร้องทุกข์ สามารถส่งเรื่องราว หรือประเด็นปัญหาของท่านมาได้ที่ 
reporter.thairath@gmail.com หรือช่องทาง Facebook : ทีมข่าวเฉพาะกิจ