“นั่งแล้วรู้สึกสบายใจ ปลอดภัย ไม่กลัวถูกปล้น ถูกข่มขืน เพราะมีกล้องและปุ่มฉุกเฉิน SOS ในรถ”

“เห็นวิ่งในกรุงเทพฯบ้างแล้ว แต่หวังว่าคงจะไม่มีปัญหาปุ่ม sos ใช้ไม่ได้ เวลาเกิดเหตุร้ายนะ”

“ประเภทนั่งแล้วไม่จ่าย คงไม่รอดแล้วแหละ เพราะมีกล้องในรถแล้ว”

“ต่อให้ติดอุปกรณ์ดีเท่าไหร่ ถ้ายังปฏิเสธผู้โดยสาร อ้างแก๊สหมด เดี๋ยวส่งกะไม่ทัน สุดท้าย ผมว่าก็คงจะห่วยเหมือนเดิม”

“ผมขับแท็กซี่อยู่ ผมว่าเป็นการเพิ่มภาระมากกว่า เพราะมีรายจ่ายเพิ่ม ทั้งค่าติดตั้งอุปกรณ์ในรถเกือบสามหมื่น ค่ารายเดือน GPS 500 บาท เฉพาะค่าผ่อนรถก็ไม่พอแล้ว มันเป็นการแก้ไขปัญหาไม่ถูกเลย แค่รถไม่รับผู้โดยสาร โทรแจ้งร้องเรียนที่ศูนย์ได้ คนขับดีๆ ก็มีอยู่”

ทั้งหมดนี้ เป็นความคิดเห็นของสองฝ่าย คือผู้โดยสาร และผู้ขับแท็กซี่ ซึ่งทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ได้ลงพื้นที่สอบถามเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 61 ย่านสะพานควาย ลาดพร้าว และรัชดาภิเษก หลังตั้งแต่ปลายเดือน ม.ค. 61 กรมการขนส่งเปลี่ยนโฉมแท็กซี่ไทยตามยุค เปิดบริการโครงการ TAXI OK ที่มีไฟ "ว่าง" สีเขียว

...

โดยนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ และสร้างความเชื่อมั่นในความปลอดภัยตลอดการเดินทาง จัดเต็มทั้งระบบ GPS Tracking ติดตามพิกัดตำแหน่งรถ, ระบบยืนยันตัวตนผู้ขับรถ, กล้องบันทึกภาพในรถแบบ Snap Shot, ปุ่มฉุกเฉิน SOS แจ้งเหตุร้องเรียน และแอปพลิเคชัน Taxi OK เพื่อเพิ่มทางเลือกในการเรียกรถ โดยค่าโดยสารของแท็กซี่โอเคเท่ากับแท็กซี่เดิม คือ เริ่มต้นที่ 35 บาท และมีค่าบริการเรียกผ่านแอปพลิเคชันครั้งละ 20 บาท

กับความคิดเห็นที่ยังแตกออกเป็นสองฝ่ายข้างต้นที่ทั้งเห็นด้วย และไม่เห็นด้วยกับ TAXI OK และประชาชนยังมีข้อสงสัยอีกมากในวันที่ทีมข่าวฯ ลงพื้นที่ อาทิ

TAXI OK ยังจะมีต่อหรือไม่?
ปุ่มฉุกเฉิน SOS ใช้ได้จริงหรือ?
แท็กซี่ระบบเดิมจะวิ่งต่ออีกนานแค่ไหน?
กรมการขนส่งมีมาตรการแก้ปัญหาที่ตามมากับระบบอย่างไร?

ข้อคาใจทั้งหมด ทีมข่าวฯ มีคำตอบจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

TAXI OK มีเกือบ 8 พัน ไม่ถึง 10% ของรถในระบบ พบปัญหาบริการได้ไม่เต็มที่

นายเชิดชัย สนั่นศรีสาคร รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยกับทีมข่าวฯ ถึงตัวเลข TAXI OK ที่มีให้บริการขณะนี้มีแท็กซี่เริ่มทยอยเข้ามาในระบบวันละประมาณ 100 กว่าคัน รถ TAXI OK มีบริการ 7- 8 พันคัน ทั้งแบบที่เป็น TAXI OK ประมาณ 3-4 พันคัน และภาคสมัครใจ ประมาณ 4-5 พันคัน เมื่อเทียบกับรถที่มีในระบบนั้น มีไม่ถึง 10% ทำให้การเรียกใช้ผ่านแอปพลิเคชันอาจได้รถบ้าง ไม่ได้รถบ้าง ยังไม่เต็มรูปแบบนัก จึงยังไม่ได้รับการบริการเต็มที่ แต่จะเพิ่มการประชาสัมพันธ์ โดยเชิญให้รถเข้ามาสู่ระบบมากขึ้น ปัญหาดังกล่าวคงค่อยๆ ทยอยหมดไป

“แท็กซี่ที่ยังไม่พร้อมเข้าร่วมโครงการก็ให้บริการได้ปกติ เพราะถือเป็นรูปแบบการให้บริการสาธารณะที่ถูกกฎหมาย ให้บริการประชาชนได้จนกว่าจะหมดอายุใช้งานรถตามกฎหมาย 9 ปี หากคันไหนต้องการเข้าร่วมโครงการภาคสมัครใจ กรมฯ จะดูว่าในรถมีอุปกรณ์ส่วนควบเดิมที่ยังดีไหม เป็นรถใหม่พอสมควรหรือเปล่า แล้วจะติดสติกเกอร์ TAXI OK รับรองให้ อุปกรณ์ส่วนควบ ที่กำหนดให้ติดตั้งเพิ่มเติม จะมาทดแทนอุปกรณ์เดิม ของเดิมกำหนดว่าต้องมีวิทยุสื่อสาร ของใหม่ต้องมี GPS Tracking ซึ่งเป็นเครื่องแสดงตัวตน และแอปพลิเคชัน Taxi OK สื่อสารได้สองทาง” นายเชิดชัยกล่าว

...

ขั้นตอนช่วยเหลือเป็นอย่างไร ปุ่มฉุกเฉิน SOS ใช้ได้จริงหรือ

กับข้อสงสัยของหนุ่มวัย 35 ปี ที่ฝากคำถามกับทีมข่าวฯ นายเชิดชัยให้ข้อมูลว่าใช้ได้จริง และมีการกดเล่นวันละหลายครั้ง แต่มีการคัดกรองก่อนแจ้งสัญญาณให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าระงับเหตุ

“ทุกวันนี้มีการกดเล่นวันละหลายครั้ง โดยทางศูนย์วิทยุที่รถคันนั้นสังกัดอยู่ทำหน้าที่ตรวจสอบเบื้องต้น และศูนย์บริหาร GPS ของกรมการขนส่งทางบกก็ต้องคัดกรองด้วย เนื่องจาก ปุ่มฉุกเฉิน SOS เชื่อมต่อสัญญาณไปยังสถานีตำรวจทุกสถานี กรมฯ มีการเซ็น MOU กับทางตำรวจไว้ให้มีการคัดกรองก่อน ว่าเป็นเหตุด่วนเหตุร้ายจริงๆ ก็จะย้ำสัญญาณไปอีกที แล้วตำรวจจะมายังที่เกิดเหตุ มาระงับเหตุให้” นายเชิดชัยชี้แจง พร้อมอธิบายเหตุป้ายว่างใช้สีเขียว เนื่องจากป้ายสีเขียวเป็นสัญลักษณ์สากล ในต่างประเทศก็ใช้สีเขียว

จัดอบรม เสริมทัพคนขับ คุ้นเคยแอป TAXI OK

ทั้งนี้ จากข้อมูลของคนขับแท็กซี่วัย 45 ปี คนหนึ่งได้บอกกับทีมข่าวฯ ว่าตนนั้นยังไม่คุ้น และมีปัญหาการใช้แอปพลิเคชัน TAXI OK อยู่ ทีมข่าวฯ จึงสอบถามจากนายเชิดชัย ถึงกรณีนี้ว่า กรมการขนส่งมีมาตรการแก้ไขปัญหาอย่างไร

...

โดยนายเชิดชัย กล่าวว่ากรมการขนส่งทางบก มีบริการจัดสัมมนาเชิญผู้ประกอบการขนส่งและคนขับแท็กซี่ เพื่อมุ่งเน้นเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจการให้บริการผ่านแอปพลิเคชันอย่างมืออาชีพ รวมถึงกฎหมายและระเบียบต่างๆ และกรมการขนส่งทางบก ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ กำหนดจุดจอดรถ Taxi OK ในแหล่งชุมชนที่ประชาชนนิยมใช้บริการเป็นจำนวนมาก

นายเชิดชัย สนั่นศรีสาคร รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก
นายเชิดชัย สนั่นศรีสาคร รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก

“กรมฯ เชิญผู้ขับรถมาอบรม 2 รุ่นแล้ว และจะดำเนินการไปอีกจนกว่าคนขับจะคุ้นเคยกับระบบ นอกจากนี้หลังจากที่มีการใช้ระบบ TAXI OK มีการใช้ GPS ทำให้มีฐานข้อมูลว่าประชาชนเรียกรถจากจุดไหนมากเป็นพิเศษ กรมฯ ก็ได้ส่งเสริม จัดหาจุดจอดรถให้ในหลายที่ๆ รองรับคนใช้บริการเยอะ เช่น จตุจักร ขนส่ง สนามบิน

กรมฯ พยายามจะพัฒนา ยกระดับการให้บริการขนส่งสาธารณะ พยายามสร้างมาตรการในเชิงบวก นอกจากมีการอบรมผู้ขับรถในความรู้วิชาชีพแล้ว เรายังประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาเสริมความรู้ด้านภาษาอังกฤษ หรือภาษาอื่นๆ เพื่อจะได้สื่อสารกับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ ถ้าคนขับบริการดีก็จะมีความมั่นคงในอาชีพและมีรายได้ที่ดี” นายเชิดชัยอธิบาย

...

TAXI OK สร้างเพื่อทัดเทียม uber คู่ปรับตลอดกาล

ทั้งนี้ตลอด 3 ปี ที่ อูเบอร์เข้ามาช่วยเพิ่มทางเลือกในการบริการสาธารณะของคนเมือง ทั้งที่ผิดกฎหมาย คือ นำแอปพลิเคชันไปใช้เรียกรถยนต์ส่วนบุคคล (ป้ายดำ) เพื่อใช้รับจ้างขนส่งผู้โดยสาร ซึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ. 2522 ฐานใช้รถยนต์ผิดประเภทจากที่จดทะเบียนไว้

ไม่ใช้มาตรค่าโดยสารตามที่ทางราชการกำหนด ผู้ขับรถไม่มีใบอนุญาตขับรถสาธารณะ และไม่เข้าสู่ระบบทะเบียนศูนย์ข้อมูลประวัติผู้ขับรถสาธารณะของกรมการขนส่งทางบก ซึ่งหากมีอุบัติเหตุ ประชาชนจะไม่ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมาย จนทำให้มีการร้องเรียนจากผู้ให้บริการรถสาธารณะและคนขับแท็กซี่ว่า อูเบอร์เข้ามาแย่งผู้โดยสาร และเริ่มเกิดเหตุทะเลาะวิวาทระหว่างผู้ขับแท็กซี่และอูเบอร์บ่อยครั้ง TAXI OK จะขจัดอูเบอร์ได้หรือไม่ นายเชิดชัยนิ่งคิด ก่อนให้คำตอบกับทีมข่าว

“กรมฯ ยกระดับการบริการรถสาธารณะ ส่วนของอูเบอร์เป็นบริการอีกลักษณะหนึ่ง ซึ่งยังผิดกฎหมาย เราพยายามชักชวนให้เขาเข้ามาสู่ในระบบ ตอนหลังๆ มีการพยายามเข้ามาคุย มีท่าทีผ่อนคลายลง กรมฯ กำลังพยายามดำเนินการแก้ไขอยู่” นายเชิดชัยกล่าวถึงสถานการณ์ล่าสุด

10 สหกรณ์แท็กซี่ ตั้งศูนย์ GPS แท็กซี่ระบบเก่ากับใหม่ ค่าใช้จ่ายไม่ต่างกัน

ด้านนายวิฑูรย์ แนวพานิช ประธานเครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่ในเขต กทม. เปิดเผยกับทีมข่าวฯ ว่าอุปกรณ์ที่ติดตั้งเพิ่มเพื่อเข้าระบบ TAXI OK นั้น มีค่าใช้จ่ายไม่ถึง 3 หมื่นต่อคัน ค่าใช้จ่ายรายเดือนไม่ต่างจากระบบเดิม

“อุปกรณ์เพิ่ม ทุกเจ้าที่ซื้อขายกันในตลาดทั่วๆ ไป อยู่ที่ประมาณ 2 หมื่น ถึง 2 หมื่นสาม แต่ต้องสังกัดศูนย์แท็กซี่ใดศูนย์หนึ่ง เพราะระบบ Gps ต้องสังกัดแม่ข่ายใดแม่ข่ายหนึ่งที่ขนส่งอนุญาต ตอนนี้มี 10 สหกรณ์ที่ตั้งศูนย์ GPs แล้ว ค่าใช้จ่ายแต่ละเดือนอยู่ที่ประมาณ 300-350 บาท

ป้ายแท็กซี่ระบบเดิม
ป้ายแท็กซี่ระบบเดิม

แท็กซี่ระบบใหม่ มีค่าใช้จ่ายเพิ่มไหม ผมว่าแทบไม่มีส่วนต่าง เพราะเมื่อก่อนกฎหมายกำหนดว่า รถแท็กซี่ต้องมีและใช้วิทยุสื่อสาร ราคาถัวเฉลี่ยอยู่ที่ 2 หมื่นห้า ถึง 3 หมื่นบาท พอตอนนี้มาบังคับใช้ GPS ค่าใช้จ่ายรายเดือนก็เท่าของเดิม ก่อนหน้านี้รายเดือนที่ใช้วิทยุสื่อสาร อยู่ที่ 300-350 บาท ตอนนี้มาใช้ GPS ก็อยู่ที่ราคาเดียวกัน” นายวิฑูรย์อธิบาย

ข้อดี ของระบบเก่ากับใหม่ อาจมี TAXI OK เพิ่ม 1-2 หมื่นคัน เร็วๆ นี้

พร้อมนี้นายวิฑูรย์ แนวพานิช ยังชี้ให้เห็นประโยชน์ที่ผู้โดยสารได้รับจาก TAXI OK ว่า เมื่ออยู่ในรถ เวลาเกิดเหตุ หากต้องการความช่วยเหลือจากคนภายนอก ก็กดปุ่ม SOS ทันที ทำให้ช่วยได้ไวขึ้นกว่าเดิมเพราะรู้พิกัดตำแหน่งที่แน่นอนจาก GPS ซึ่งระบบเก่าทำอะไรไม่ได้เลย

ดังกรณีของ คนขับแท็กซี่ลวงนางงาม-นางแบบสาวชาวบราซิล ขึ้นแท็กซี่ จากหน้าสนามบินดอนเมือง ไปทำร้ายร่างกายแล้วข่มขืนยับ เสร็จกิจทิ้งไว้กลางทุ่งนาเปลี่ยว จ.สุพรรณบุรี เมื่อ เม.ย. 60 ซึ่งใช้เวลาอยู่บนรถตั้งหลายชั่วโมง แต่ไม่สามารถร้องให้คนภายนอกได้รับรู้

“หากมีการขับวิ่งอ้อมเส้นทาง ระบบเก่ามันไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าทางไหนถูกต้อง หรือไม่ถูกต้อง แตพอมีระบบ GPS มันสามารถมาดูย้อนหลังได้ หากมีคนมาร้องเรียนว่าขับอ้อม ภาพรวมผมว่าเป็นประโยชน์กับผู้ใช้มากขึ้น เป็นการพัฒนาแท็กซี่ของไทยให้ทัดเทียมกับหลายประเทศที่มีใช้มาก่อนหน้านี้แล้ว

มีรถแท็กซี่ปลดระวาง 3 หมื่นกว่าคัน แต่ที่จดทะเบียนใหม่ได้ 3 พันคัน เนื่องจากรุ่นรถที่เอามาทำแท็กซี่ ok คือ โตโยต้า อัลติส กำลังขาดตลาด ถ้ามีความคล่องตัวในเรื่องรถ แท็กซี่โอเคอาจมีเพิ่ม 1-2 หมื่นคันในเร็วๆ นี้ ราคารถต่อคัน อยู่ที่โตโยต้าจะปรับแต่ละรุ่นอย่างไร ราคาประมาณ 9 แสนบาทต่อคัน ราคาปีที่แล้วต่างกันเกือบแสน” นายวิฑูรย์กล่าว

คนขับ Yes Or No กับ TAXI OK จาก 3 พัน เป็น 3 หมื่น

แล้วในมุมมองคนขับ TAXI OK ล่ะ รู้สึกเยี่ยงไร เมื่อมีระบบใหม่เกิดขึ้น ทีมข่าวฯ จึงยืนรอโบกรถ TAXI OK บริเวณห้างดังแห่งหนึ่งย่านรัชดาภิเษก แทนการเรียกผ่านแอปพลิเคชัน เวลาไม่ถึง 5 นาที ก็ได้ขึ้นมานั่ง TAXI OK

หนุ่มใหญ่วัย 37 ปี บอกกับทีมข่าวฯ ว่า ตนมาขับ TAXI OK เป็นเดือนที่ 3 จดทะเบียนเป็นส่วนบุคคลเมื่อเดือน ม.ค. 61 รู้สึกดีกับระบบใหม่ในเรื่องการป้องกันเหตุต่างๆ ที่ไม่คาดคิดได้ระดับหนึ่ง เพราะมีศูนย์ GPS ทำให้เหมือนมีคนดูแลคุ้มครองตลอดเวลาที่ขับรถ แต่ต้องแลกกับค่าใช้จ่ายทุกเดือนๆ ละ 300 บาท

“ก่อนหน้า ผมเคยขับแท็กซี่ระบบเก่า ราคารถตามค่ายที่ขายและรุ่น และขนาดเครื่องยนต์ที่ซื้อ ของผมซื้อมา 8 แสน 7 หมื่น เครื่องยนต์ 1600 ผมว่าซื้อกับศูนย์รถราคาจะถูกกว่า ถ้าซื้อผ่อนส่งกับสหกรณ์ดอกเบี้ยแพง

พอมาขับ TAXI OK มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม คือ ค่าติดตั้งมิเตอร์กับระบบ ซึ่งระบบเดิมค่าติดตั้งประมาณ 3-4 พัน ก็แล้วแต่ยี่ห้อของมิเตอร์ ไม่มีค่าใช้จ่ายรายเดือน แต่กับ TAXI OK จะมีค่าติดตั้งราว 3 หมื่น ผมว่าเจ้าของอุปกรณ์ ควรลดราคาหน่อย ราคาสูงไป ลดค่าใช้จ่ายในการติดตั้ง ไปกินยาวค่าดูแลรายเดือนดีกว่า

ผมขับวันละ 12-14 ชั่วโมง รายรับยังคงเดิมเหมือนระบบเก่า ผมมีปัญหาติดขัดกับระบบเรียกรถผ่านแอปฯ เช่น เราวิ่งรถอีกช่องทาง แต่ผู้โดยสารอยู่ฝั่งตรงข้าม ถ้าเกิดเรียกจากจุดนั้น ก็ต้องไปกลับรถค่อนข้างไกล หากการจราจรติดขัดก็ต้องเสียเวลามากในการที่จะวนกลับไปรับ เป็นไปได้ยากที่เราจะตรวจรับงาน”

Taxi OK เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ผู้ขับรถแท็กซี่ใหม่ก็ยินดีปฏิบัติตามกฎที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด แต่ข้อคิดเห็นของทั้งผู้โดยสารและคนขับแท็กซี่บางส่วนก็น่ารับฟัง แต่จะได้รับการแก้ไขจากกรมการขนส่งหรือไม่

สืบเสาะข่าว รับเรื่องราวร้องทุกข์ สามารถส่งเรื่องราว หรือประเด็นปัญหาของท่านมาได้ที่ 
reporter.thairath@gmail.com หรือช่องทาง Facebook : ทีมข่าวเฉพาะกิจ