จากกรณีที่ นายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหาร บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) พร้อมพวกรวม 4 คน ลักลอบล่าสัตว์ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี แล้วพบว่าการแจ้งข้อหาที่ 10 ในข้อหาทารุณกรรมสัตว์ ที่ นายณรงค์ชัย สังวรวงศา หัวหน้าด่านกักสัตว์กาญจนบุรี เป็นผู้ร้องทุกข์ได้แจ้งถอนการแจ้งข้อกล่าวหาแล้ว เมื่อวันที่ 21 ก.พ. ที่ผ่านมา

โดย พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบ.ตร. ระบุว่า ไม่สามารถเอาผิดกับนายเปรมชัยได้ เนื่องจากไม่เข้าข่าย พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ ในมาตรา 3 ที่ระบุว่าสัตว์ที่เลี้ยงไว้เป็นสัตว์บ้าน สัตว์เลี้ยงไว้ใช้งาน ใช้เป็นอาหารเพื่อการแสดง และให้รวมถึงสัตว์ที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติ ตามที่รัฐมนตรีประกาศ แต่ยังไม่ได้ประกาศถึงสัตว์ป่าคุ้มครอง และมีข้อหาอื่นที่ใช้กับสัตว์ป่าคุ้มครองครอบคลุมอยู่แล้ว

ส่วนกฎหมายอาญา มาตรา 381 “ผู้ใดกระทำการทารุณต่อสัตว์ หรือฆ่าสัตว์โดยให้ได้ รับทุกขเวทนาอันไม่จำเป็น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” สำหรับกรณีนี้ที่ฆ่าเสือดำ ไม่มีหลักฐานเครื่องมือการทารุณกรรม

ที่กล่าวมาข้างต้นนี้ เป็นประเด็นถกเถียงของคนในสังคมอย่างมาก บ้างไม่พอใจเจ้าหน้าที่ว่าเอื้อประโยชน์ให้กับเจ้าสัว บ้างมองว่าดราม่าจนไม่ได้ศึกษาข้อกฎหมายที่แท้จริง แต่ทุกข้อสงสัยของประชาชน เรามีคำตอบมาให้ โปรดอ่านและวิเคราะห์ตามตั้งแต่บรรทัดล่างเป็นต้นไป...

...

เจตนารมณ์คณะร่างก.ม. ยัน คุ้มครองสัตว์ทุกชนิด ติง ตีความกฎหมายให้มีช่องโหว่

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ พาไปส่องข้อกฎหมายจากมุมมองต่างๆ เริ่มด้วย เก๋ ชลลดา เมฆราตรี ในฐานะประธานมูลนิธิเดอะวอยซ์เสียงจากเรา และเป็นหนึ่งในคณะกรรมการร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสัตว์ เปิดเผยว่า ความหมายของคำว่า สัตว์ ตาม พ.ร.บ.ป้องกันทารุณกรรมและจัดสวัสดิภาพสัตว์ 2557 นั้น ให้คำนิยามว่า....

“สัตว์” หมายความว่า สัตว์ที่โดยปกติเลี้ยงไว้เพื่อเป็นสัตว์บ้าน สัตว์เลี้ยงเพื่อใช้งาน สัตว์เลี้ยงเพื่อใช้เป็นพาหนะ สัตว์เลี้ยงเพื่อใช้เป็นเพื่อน สัตว์เลี้ยงเพื่อใช้เป็นอาหาร สัตว์เลี้ยงเพื่อใช้ในการแสดง หรือสัตว์เลี้ยงเพื่อใช้ในการอื่นใด ทั้งนี้ ไม่ว่าจะมีเจ้าของหรือไม่ก็ตาม และให้หมายความรวมถึงสัตว์ที่อาศัยอยู่ในธรรมชาติตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

เก๋ ชลลดา เมฆราตรี ในฐานะประธานมูลนิธิเดอะวอยซ์เสียงจากเรา
เก๋ ชลลดา เมฆราตรี ในฐานะประธานมูลนิธิเดอะวอยซ์เสียงจากเรา

หลายคนเข้าใจผิดว่า พ.ร.บ.ทารุณกรรมสัตว์ ช่วยเหลือแต่สุนัข ดูแลแต่สัตว์เลี้ยง แต่ไม่ใช่นะคะ กฎหมายฉบับนี้ ดูแลทุกชีวิตสัตว์ที่ไม่ใช่มนุษย์ ส่วนเสือดำไม่ได้หลุดจากข้อกฎหมายฉบับนี้ ไม่ใช่ว่า พ.ร.บ.ไม่คุ้มครอง แต่หลุดคดี เพราะการทำสำนวนตีความต่างหาก

และตามกฎหมายวรรคหนึ่งระบุว่า และให้หมายความรวมถึงสัตว์ที่อาศัยอยู่ในธรรมชาติตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด โดยคำว่า สัตว์ที่อาศัยอยู่ในธรรมชาติ อย่างในประเทศไทยมีป่า ก็ต้องมีเสือ คำตอบมันมีอยู่ในตัวอยู่แล้ว คิดว่า คนที่เอากฎหมายมาแปลจนก่อให้เกิดความเข้าใจผิดกับมวลชน มันไม่ถูกต้อง หาเรื่องให้มีช่องโหว่

แต่อย่างไรก็ตาม ถึงเราจะเป็นหนึ่งในคณะร่าง พ.ร.บ.แต่ก็ไม่ได้พึงพอใจกับกฎหมายฉบับนี้ ยอมรับว่า มีช่องโหว่ ทำให้ไม่เข้มแข็ง เพราะ เรามีคำห้อยท้าย ว่าขึ้น อยู่กับดุลยพินิจและประกาศของรัฐมนตรี คือ เหตุผลที่คนรักสัตว์เรียกร้องขอทำกฎหมายลูก เพื่อไปอุดช่องโหว่ของ พ.ร.บ. ฉบับนี้” หนึ่งในคณะกรรมการร่างกฎหมาย อธิบาย

...

ฟังชัดๆ ไขเหตุผล ไฉนฆ่าเสือดำไม่เข้าข่าย พ.ร.บ.ทารุณกรรมสัตว์

แต่อย่างไรก็ตาม นสพ.อภัย สุทธิสังข์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กล่าวเอาไว้ว่า พ.ร.บ.ดังกล่าว มีเจตนารมณ์คุ้มครองสัตว์ ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิต มีความรู้สึก และเป็นองค์ประกอบสำคัญของสิ่งแวดล้อม ไม่ให้ถูกกระทำการทารุณกรรม และเจ้าของสัตว์ ซึ่งนำสัตว์มาเลี้ยงจะต้องจัดสวัสดิภาพ ให้เหมาะสมตามประเภท และชนิดของสัตว์ ทั้งในระหว่างการเลี้ยงดู การขนส่ง การนำสัตว์ไปใช้งาน หรือ ใช้ในการแสดง พ.ร.บ.ฉบับนี้ สามารถบังคับใช้กับสัตว์อื่นๆ ได้ ตามประกาศที่กำหนด

แต่ขณะนี้ อยู่ระหว่างการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย ในประเด็น คำนิยามของสัตว์ ที่อาศัยอยู่ในธรรมชาติ ประกาศกำหนด มาตรา 3 วรรคสุดท้าย หมายรวมถึงสัตว์ ที่อาศัยอยู่ในธรรมชาติ ซึ่งกรมปศุสัตว์จะเร่งประชุมคณะกรรมการ ให้ได้ข้อสรุปนิยาม สัตว์ที่อาศัยอยู่ในธรรมชาติ ให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนอย่างสูงสุด ภายในวันที่ 9 มีนาคมนี้

...

อย่างไรก็ตาม แม้ยังไม่ได้มีกำหนดนิยามให้สัตว์ป่า ที่อาศัยในธรรมชาติ เป็นสัตว์ตาม พ.ร.บ.ทารุณกรรมสัตว์ฯ แต่ สัตว์ป่า ก็อยู่ภายใต้ กฎหมายว่าด้วย การสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า เป็นกฎหมายเฉพาะ หากไปล่า หรือ ทำร้าย จะมีโทษหนักกว่า ส่วนสัตว์ป่า แม้อยู่ตามธรรมชาติ แต่หากนำมาเลี้ยง จะอยู่ภายใต้กฎหมายว่าด้วย การทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557

ด้าน พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร อดีตที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการปฏิรูปตำรวจ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มีมุมมองไปในแนวทางเดียวกันว่า สำหรับ พ.ร.บ.คุ้มครองสัตว์จะว่าไม่ผิดก็ใช่ เพราะว่ายังไม่ได้ประกาศ ซึ่งมันอาจจะขัดต่อความรู้สึกของคนว่าเหตุใดไม่เข้ากฎหมาย แต่ในเมื่อเป็นช่องว่างของกฎหมาย ที่ พ.ร.บ.ดังกล่าว ระบุให้รัฐมนตรีประกาศประเภทสัตว์ก่อนว่ามีประเภทใดบ้างที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายฉบับนี้ เมื่อไม่ได้ประกาศก็ถือว่า เสือดำไม่ได้รับการคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ป้องกันทารุณกรรมและจัดสวัสดิภาพสัตว์ 2557

...

“อธิบายง่ายๆ ว่า ใครฆ่าเสือด้วยการล่าสัตว์ แล้วมาแล่ทีละชิ้น ขณะนี้ก็ไม่ผิด พ.ร.บ.ป้องกันทารุณกรรมและจัดสวัสดิภาพสัตว์ 2557 แต่ผิดเรื่องล่าสัตว์ เพราะ พ.ร.บ.ดังกล่าว เริ่มมาจากสัตว์บ้านเป็นหลัก ใกล้ชิดกับมนุษย์ ส่วนสัตว์ที่อาศัยตามธรรมชาติ ในป่า มันมีเยอะแยะมาก ก็เลยต้องประกาศออกมาก่อนว่ามีอะไรบ้าง แต่ก็ไม่ทราบว่าเหตุใดยังไม่ประกาศ” พ.ต.อ.วิรุตม์ อธิบาย

นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญา สำนักอัยการสูงสุด
นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญา สำนักอัยการสูงสุด

ขณะที่ นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญา สำนักอัยการสูงสุด ไขแง่มุมของกฎหมายฉบับนี้ว่า หากพิเคราะห์ตามตัวบทกฎหมาย วัตถุประสงค์จะคุ้มครองสัตว์ที่เป็นสัตว์เลี้ยง สัตว์ที่ใช้แสดงในการละคร ส่วนสัตว์ประเภทอื่นรัฐมนตรีกำหนด แต่รัฐมนตรีไม่เคยกำหนด

ดังนั้น พ.ร.บ.ป้องกันทารุณกรรมและจัดสวัสดิภาพสัตว์ 2557 จึงจัดอยู่คนละประเภทกับการล่าสัตว์

ยิงเสือดำ ถลกหนัง เปิบจู๋ ทารุณกรรมสัตว์หรือไม่?

เก๋ ชลลดา ระบุว่า การทารุณกรรม คือ การกระทำที่ทำให้สัตว์ได้รับความทุกข์ทรมาน ไม่ว่าทางร่างกายหรือจิตใจ ได้รับความเจ็บปวด ความเจ็บป่วย ทุพพลภาพ หรืออาจมีผลทำให้สัตว์นั้นตาย

“คนรักสัตว์ทุกคนบอกไว้เลยว่า ตามหลักแล้วอะไรก็ตามที่ผิดธรรมชาติ ผิดวิธี มนุษย์เจ็บปวด รู้สึกอย่างไร สัตว์ก็รู้สึกได้แบบนั้นเหมือนกัน อย่างที่บางคนบอกว่า มันไม่มีการทรมาน คุณรู้ได้อย่างไรว่ามันไม่ทรมาน แล้วการยิง ไม่เป็นการทรมานอย่างไร เขาก็เจ็บปวด ถึงแก่ชีวิตใช่ไหม” ประธานมูลนิธิเดอะวอยซ์ ย้อนถามสังคม

ด้าน พ.ต.อ.วิรุตม์ อธิบายว่า การทารุณกรรมสัตว์ ตามกฎหมายอาญา มาตรา 381 นั้น ยกตัวอย่างเช่น จับสัตว์มาแล้วยังไม่ฆ่า จับแขวนคอ จนขาดอากาศหายใจ โดยกฎหมายนี้ไม่จำเป็นต้องมีประกาศว่าเป็นสัตว์ชนิดไหนบ้าง เพราะครอบคลุมถึงสัตว์ทุกชนิด

“การยิงสัตว์ก็ถือเป็นการฆ่า แต่การทารุณกรรม มาตรา 381 ต้องเป็นการฆ่าแบบให้ได้รับความทุกข์ทรมานเวทนาโดยไม่จำเป็น ถ้ายิงให้สัตว์ตายอาจจะไม่เข้าข่ายทารุณกรรม แต่ถ้าค่อยๆ ยิงขา ยิงแขน ค่อยๆให้เขาตาย แบบนี้ก็เข้าข่ายทารุณกรรม” เจ้าของฉายานายตำรวจกระดูกเหล็ก ระบุ

ขณะที่ นายปรเมศวร์ กล่าวว่า การทรมาน คือ การทำให้เจ็บปวดและตายอย่างช้าๆ ส่วนกรณีเสือดำนั้น จากที่ได้สอบถามทางเจ้าหน้าที่อุทยาน พบว่า ก่อนที่เสือดำจะตายได้วิ่งไปที่ทุ่งหญ้า โดยมีลักษณะราบเป็นบริเวณกว้าง ซึ่งหมายความว่าเสือดำไปดิ้นอยู่ตรงจุดนั้น

“ถ้ายิงนัดเดียวแล้วตายเลยเราเรียกว่า ไม่ทรมาน แต่ถ้ายิงแล้วไม่ตายทันที ยังดิ้นทุรนทุรายอยู่ คือ การทรมาน ซึ่งตามกฎหมายอาญา มาตรา 381 คงไม่เข้าข่ายโดยตรง อย่างเช่นกรณีผูกคอสุนัขแล้วลากไป แบบนี้คือการทรมานชัดๆ เพื่อให้มันตาย

ถามว่าเจตนาให้มันทรมานหรือไม่ ผมว่าวัตถุประสงค์ของเขาต้องการให้มันตายทีเดียวไม่ต้องการให้มันตายแบบทรมาน มันก้ำกึ่ง ผมว่ายังไม่ค่อยเข้าข่ายเท่าไหร่ และข้อหานี้โทษก็เบาด้วย” รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญา กล่าว

สั่งภาคทัณฑ์ ผิดกฎหมาย! ตร. มีหน้าที่รับแจ้งความ ผิดไม่ผิดไม่ใช่คนตัดสิน

นอกจากนี้ พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าวเสริมในประเด็นที่ร้อยเวรโดนภาคทัณฑ์ ว่า เมื่อแจ้งความกล่าวโทษแล้ว พนักงานสอบสวนจึงต้องรีบดำเนินการสอบสวนอย่างไม่ชักช้า จะผิดไม่ผิดไม่ใช่หน้าที่ของตำรวจที่จะมาวินิจฉัยแล้วบอกไม่รับคดี แม้ว่าจะบอกว่าไม่เข้าข้อกฎหมาย เนื่องจากเสือดำยังไม่ถูกประกาศคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ป้องกันทารุณกรรมและจัดสวัสดิภาพสัตว์ 2557 แต่ก็ต้องสอบสวนสรุปสำนวนเสนอพนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้อง

และการที่ไม่ได้เข้าข้อกฎหมายนี้ ไม่ได้หมายความว่า จะไม่สอบสวน ซึ่งการไม่สอบสวน มี 2 กรณี คือ กรณีที่ผู้กล่าวโทษไม่บอกชื่อตัวตน และการสอบสวนถูกต้องแล้ว เพื่อเป็นหลักประกันป้องกันไม่ให้ตำรวจปฏิเสธการรับคำร้องทุกข์

พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร อดีตที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการปฏิรูปตำรวจ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)
พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร อดีตที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการปฏิรูปตำรวจ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)

ดังนั้น การลงโทษสั่งภาคทัณฑ์ ถือว่าผิดกฎหมาย แต่ร้อยเวรไม่อยากมีเรื่อง ก็ต้องก้มหน้ารับกรรมไป ส่วนถ้าไม่รับแจ้งก็โดนมาตรา 157 อยู่ดี

“การลงโทษเขาไม่ได้เซ็นต์คำสั่งเอง แต่ให้ผู้กำกับเซ็นต์ ซึ่งผู้กำกับก็กลัว จึงยอมเซ็นต์ไปทั้งที่ผิดกฎหมาย ขณะที่ ร้อยเวรก็รู้ว่าผิดกฎหมายแต่ก็ไม่สู้ ไม่อุทธรณ์ เพราะเดี๋ยวอนาคตดับ มันจึงเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในวงการตำรวจตอนนี้” อดีตที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการปฏิรูปตำรวจ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) แจงปัญหาเบื้องลึก

อย่างไรก็ตาม จากการจำลองเหตุการณ์และวิถีกระสุน พบว่า ห่างจากจุดที่พบปลอกกระสุนราว 100 เมตร พบคราบเลือด ขนเสือ กองขี้เสือดำ และรอยตะกุยที่เจ้าหน้าที่ระบุว่ามีความผิดปกติ เนื่องจากการขี้โดยไม่ฝังกลบไม่ใช่วิสัยของสัตว์ตระกูลแมว จึงอาจเป็นไปได้ว่า เสือดำเกิดการบาดเจ็บ จากการถูกยิง แต่ยังไม่ตาย โดยวิ่งหนี ดิ้นทุรนทุรายทรมานจนธาตุไฟแตก ในจุดที่พบขี้เสือ และเป็นไปได้ว่า เสือดำอาจตายในจุดนั้น

แบบนี้เป็นการทารุณกรรมหรือไม่?


ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

- ติดตามอ่านรายงานพิเศษ คดีเสือดำ -

- ติดตามชมคลิปคดีเสือดำ -