ความร้อนแรงของ ‘คดีเปรมชัย’ ร้อนฉ่าขึ้นมาอีกครั้ง!
ภายหลังจากที่หัวหน้าด่านกักกันสัตว์กาญจนบุรี ถอนแจ้งความนายเปรมชัย กรรณสูต ซีอีโอบริษัทอิตาเลียนไทยฯ และพวก “ข้อหาทารุณกรรมสัตว์”
สังคมป่าวร้อง พร้อมตั้งคำถามทันที! เปรมชัย หลุดข้อหาทารุณกรรมสัตว์ ไปได้อย่างไร ทั้งๆ ที่พยานหลักฐานชัดแจ้งถึงเพียงนี้ ไม่ว่าจะถลกหนังเสือดำ ส่วนหางเสือดำก็ต้มอยู่ในหม้อ นอกเหนือจากนี้ ก็ยังมีหลักฐานอะไรต่อมิอะไรมากมายรัดตัวแน่น หรือจะให้ประเมินเบื้องต้น คนธรรมดายังมองว่ารอดยาก!
ฉะนั้น เราย้อนกลับมาพิจารณา พ.ร.บ.ทารุณกรรมสัตว์ 2557 กันสักนิด ก่อนที่สังคมไทยจะดราม่ากันไปไกลอย่างสนุกปาก...
เมื่อพิจารณานิยามคำว่า “สัตว์” พบว่า ไม่เข้าตามคำนิยามของตาม พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557
...
เนื่องจากมาตรา 3 ในพระราชบัญญัตินี้ ได้ระบุว่า “สัตว์” หมายความว่า สัตว์ที่โดยปกติเลี้ยงไว้เพื่อเป็นสัตว์บ้าน สัตว์เลี้ยงเพื่อใช้งาน สัตว์เลี้ยงเพื่อใช้เป็นพาหนะ สัตว์เลี้ยงเพื่อใช้เป็นเพื่อน สัตว์เลี้ยงเพื่อใช้เป็นอาหาร สัตว์เลี้ยงเพื่อใช้ในการแสดง หรือสัตว์เลี้ยงเพื่อใช้ในการอื่นใด ทั้งนี้ ไม่ว่าจะมีเจ้าของหรือไม่ก็ตาม และให้หมายความรวมถึงสัตว์ที่อาศัยอยู่ในธรรมชาติตามที่รัฐมนตรีประกาศกําหนด
ฉะนั้น จึงจะเห็นได้ว่า กฎหมายฉบับนี้ จึงมีไว้เพื่อปกป้อง “สัตว์เลี้ยง” เป็นหลัก
เมื่ออ่านจนครบถ้วนทุกบรรทัด หลายคนอาจจะยังสงสัยอยู่ดีว่า...
“เสือดำ” ไม่เข้าข่าย “สัตว์ที่อาศัยอยู่ในธรรมชาติ” หรืออย่างไร?
คำตอบ คือ คำนิยามของคำว่า สัตว์ตามมาตรา 3 ให้หมายความรวมถึงสัตว์ที่อาศัยอยู่ในธรรมชาติตามที่รัฐมนตรีกำหนด และเมื่อตรวจสอบแล้วปรากฏว่า รัฐมนตรียังมิได้ประกาศกำหนดสัตว์ตามธรรมชาติว่าต้องเป็นสัตว์ชนิดใด นายณรงค์ชัย สังวรวงศา หัวหน้าด่านกักกันสัตว์กาญจนบุรี จึงขอถอนคำร้องทุกข์ไป
หากสรุปรวบย่อโจทย์ที่ตั้งข้อสงสัยไว้ข้างต้นให้กระชับ คือ คำว่า “สัตว์” ในคดีเปรมชัยนั้น หมายถึง “เสือดำ” ซึ่ง “เสือดำ” ยังไม่มีในประกาศที่รัฐมนตรีกำหนด
นอกจากนี้ ทนายนิติธร แก้วโต หรือ ทนายเจมส์ ได้พูดคุยกับผู้สื่อข่าวในเรื่องเดียวกันนี้ว่า “แม้จะถอนข้อหาออกไปบางบท แต่บทหลักก็ยังอยู่ เพราะคุณถือปืนเข้าไปในป่า นั่นหมายความว่า คุณมีความผิดแล้ว แม้ว่าคุณจะยังไม่ได้ยิง”
...
“แม้ว่า จะมีการแจ้งข้อกล่าวหาไปแล้ว แต่เมื่อกลับมาพิจารณาแล้วว่า ข้อหานี้มันไม่ใช่ มันไม่ตรงกับข้อกฎหมายหรือมีความคลาดเคลื่อนใดๆ ก็ตาม ย่อมถอนแจ้งความได้ ถือว่าชอบด้วยกฎหมาย แต่ไม่ใช่ว่า ไปแจ้งความแล้ว แต่มารู้ภายหลังว่า แจ้งข้อหานี้ไม่ได้ และเพิกเฉยไม่รู้ไม่เห็น กรณีนี้จะกายเป็นประมาทเลินเล่อ และเข้าข่ายผิดมาตรา 157” ทนายนิติธร ให้ความเห็นในแง่กฎหมาย
นายณรงค์ชัย สังวรวงศา หัวหน้าด่านกักกันสัตว์กาญจนบุรี กล่าวกับผู้สื่อข่าวสั้นๆ ว่า ก่อนไปถอนแจ้งความนั้น ตนได้คุยกับฝ่ายกฎหมายอย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้ว และได้มีการตรวจประกาศของกระทรวง รวมถึงประกาศในราชกิจจานุเบกษาอย่างละเอียดแล้วว่า รัฐมนตรียังไม่มีการประกาศออกมา ทำให้ไม่สามารถเอาผิดนายเปรมชัยในข้อหาทารุณกรรมสัตว์ได้
...
แม้จะถอนแจ้งความในข้อหา “ทารุณกรรมสัตว์” จนทำให้ประชาชนบางส่วนหวั่นใจว่า “เปรมชัย” จะหลุดคดียิงเสือดำ และพ้นผิดได้ในที่สุด แต่ขอให้ผู้อ่านทราบสักนิดเถิดว่า “เปรมชัย” ยังมีอีก 9 ข้อหาหนักรออยู่ ชนิดที่ว่า ไม่ช้าไม่เร็วนี้ ชีวิตเขาอาจพบเจอเข้ากับทุกข์หนัก และไม่ว่าใครก็ไม่สามารถยกทุกข์นี้ออกไปจากตัวเขาได้...
โดย 9 ข้อหา คดีเปรมชัย มีดังต่อไปนี้...
1. ฐานร่วมกันล่าสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 36 และมาตรา 53 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535
2. ฐานร่วมกันล่าสัตว์ป่าคุ้มครองโดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 16 และมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535
3. ฐานร่วมกันมีไว้ในครอบครองซึ่งซากของสัตว์ป่าคุ้มครองโดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 19 และมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535
...
4. ฐานนำเครื่องมือสำหรับใช้ในการล่าสัตว์ป่าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ตามข้อหา 1 (1) ของกฎกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ฉบับบที่ 7 (พ.ศ.2538) ออกตามความมาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติสงวน
5. ฐานร่วมกันเก็บหาของป่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติ โดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507
6. สำหรับความผิดต่อพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 ขอให้พนักงานสอบสวนดำเนินการแจ้งความกล่าวโทษตามฐานความผิดต่อไป
7. ฐานนำอาวุธปืนเข้าไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโดยไม่ได้รับอนุญาต
8. ฐานซ่อนเร้น อำพราง รับไว้ซึ่งซากสัตว์ซึ่งได้มาโดยผิดกฎหมาย
9. พระราชบัญญัติอาวุธปืนที่ไม่มีทะเบียน
ในประเด็น “ถอนแจ้งความนายเปรมชัย ข้อหาทารุณกรรมสัตว์” หากไล่เรียงกันด้วยเหตุด้วยผลนั้น ถือว่า มีเหตุผลที่เข้าใจได้ แต่อีกหนึ่งประเด็นที่หลายคนยังงุนงงสงสัย หรือสำหรับบางคนอาจหัวร้อนเสียด้วยซ้ำ!
“ผกก.ทองผาภูมิ สั่งภาคทัณฑ์พนักงานสอบสวนที่รับแจ้งความ คดีเปรมชัย ในข้อหาทารุณกรรมสัตว์!”
ร้อยตำรวจเอก สุมิตร พนักงานสอบสวนท่านนี้ เขาทำผิดหนักหนาอะไรหรือ?
หนังสือคำสั่งสถานีตำรวจภูธรทองผาภูมิที่ 37/2561 ลงวันที่ 28 ก.พ.2561 เรื่องลงโทษภาคทัณฑ์ ได้ระบุไว้ตอนหนึ่งว่า “การกระทำของ ร้อยตำรวจเอก สุมิตร พนักงานสอบสวน เป็นการบกพร่องต่อหน้าที่ เนื่องจากได้มีการรับคำร้องโดยไม่ตรวจสอบข้อกฎหมายให้แน่ชัดว่า การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตามกฎหมาย หรือไม่
ฉะนั้น อาศัยอำนาจแห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พุทธศักราช 2547 มาตรา 87 ประกอบกับกฎ ก.ตร. ว่าด้วยอำนาจการลงโทษข้าราชการตำรวจอัตราและการลงโทษภาคทัณฑ์ ทัณฑกรรม กักยาม กักขังหรือตัดเงินเดือนพุทธศักราช 2547 จึงให้ลงโทษภาคทัณฑ์ ร้อยตำรวจเอกสุมิตร บุญยะนิจ”
ลงโทษภาคทัณฑ์ ร้อยตำรวจเอกสุมิตร บุญยะนิจ!
ทนายนิติธร ได้ให้ความเห็นในเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า “โดยปกติแล้ว ตำรวจมีหน้าที่รับแจ้งความ หรือรับคำร้องทุกข์กล่าวโทษ ไม่ว่าเรื่องราวนั้นๆ จะผิดจะถูกยังไง ตำรวจไม่มีสิทธิ์มาบอกว่า ข้อหานี้แจ้งไม่ได้ ข้อหานี้ไม่เข้า ตำรวจไม่ใช่ศาลครับ ประชาชนแจ้งความมา เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ต้องพิจารณาปรับบท ปรับข้อหาที่ถูกต้องตามตัวบทกฎหมาย และเสนอความเห็นให้แก่พนักงานอัยการต่อไป”
“ตำรวจต้องรับเรื่องไว้ก่อน แล้วนำมารวบรวมพยานหลักฐานว่าเป็นความผิดจริงหรือไม่ หากเป็นว่าเป็นความผิด ก็ดำเนินคดีต่อไป แต่ถ้าเห็นว่าไม่เป็นความผิด ก็ไม่สามารถดำเนินคดีได้”
“บางทีนะครับ มีผู้แจ้งความข้อหาๆ หนึ่ง แต่เมื่อตำรวจรวบรวมพยานหลักฐานแล้ว ปรากฏว่า การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาไม่เข้าข่ายข้อหานั้นๆ ซึ่งกรณีเช่นนี้ ทางพนักงานสอบสวนก็สามารถเรียกผู้เสียหายมารับทราบข้อกล่าวหาที่ถูกต้องได้อีก โดยเป็นการแจ้งข้อกล่าวหาใหม่ ซึ่งกรณีเช่นนี้ย่อมทำได้” ทนายนิติธร กล่าวไปตามตัวบทกฎหมาย
เมื่อผู้สื่อข่าวถามความเห็นของ ทนายนิติธร เกี่ยวกับ “ผกก.ทองผาภูมิ สั่งภาคทัณฑ์พนักงานสอบสวนที่รับแจ้งความ คดีเปรมชัย ในข้อหาทารุณกรรมสัตว์!”
ทนายนิติธร ให้ความเห็นว่า “ผมคิดว่า มันมากเกินไปครับ และเราอย่าลืมนะครับว่า ตำรวจแต่ละคนมีประสบการณ์ไม่เท่ากัน ซึ่งในกรณีนี้ ต้องพิจารณาให้ดีนะครับว่า 1.พนักงานสอบสวนท่านนี้เขามีเจตนาหรือไม่ 2.พนักงานสอบสวนท่านนี้ทำให้เกิดความเสียหาย หรือประมาทเลินเล่อร้ายแรงหรือไม่”
“หากตัวพนักงานสอบสวนรู้อยู่แก่ใจว่า การกระทำของคุณเปรมชัยนั้นบริสุทธิ์ แต่กลับไปแจ้งข้อกล่าวหาเขา อย่างนี้ถือว่าผิดนะครับ แต่ในขณะเดียวกัน พนักงานสอบสวนจะมีหัวหน้าระดับรองผู้กำกับคอยควบคุมดูแลอยู่ หากหัวหน้าแย้งมาแล้วว่า ไม่เข้า พ.ร.บ.ทารุณกรรมสัตว์ฯ แต่พนักงานสอบสวนยังดันทุรังไปแจ้งข้อกล่าวหาเขา อย่างนี้ถือว่าประมาทและสมควรโดน” ทนายนิติธร พูดให้เห็นถึงหลากหลายแง่มุม
“แต่ในกรณีนี้คือ พนักงานสอบสวนรับแจ้งความไว้ แต่ภายหลังได้มีการพิจารณาอย่างถี่ถ้วน จนทราบว่า ไม่เข้าพ.ร.บ.ทารุณกรรมสัตว์ฯ ก็จึงได้ถอนข้อหานี้ไป ซึ่งการกระทำเช่นนี้ถือว่าถูกต้องแล้ว เพราะอย่าลืมนะครับว่า ตำรวจไม่สามารถปฏิเสธประชาชนที่มาแจ้งความ และประสบการณ์ของตำรวจทุกคนไม่ได้เท่ากัน” ทนายนิติธร ทิ้งท้ายไว้ให้คิด
ขณะที่ ทนายรัชพล ศิริสาคร ระบุว่า เมื่อเปิดดูคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 419/2556 เรื่อง การอำนวยความยุติธรรมในคดีอาญา การทำสำนวนการสอบสวน และมาตรการควบคุม ตรวจสอบ เร่งรัดการสอบสวนคดีอาญา โดยเปิดดูบทที่ 2 การอำนวยความยุติธรรมในคดีอาญา ข้อ 1 การรับแจ้งความ
ข้อ 1.1.3 ระบุว่า "...พนักงานสอบสวนมีหนัาที่ต้องรับคำร้องทุกข์หรือคำกล่าวโทษตามกฎหมาย.."
ข้อ 1.1.5 มีหลักว่า การรับแจ้งความที่ยังไม่แน่ชัดว่าเป็นคำร้องทุกข์ หรือคำกล่าวโทษ หรือเป็นเรื่องทางแพ่ง ให้พนักงานสอบสวนบันทึกการรับแจ้งความไว้แล้วรีบนำเสนอผู้บังคับบัญชาพิจารณาสั่งภายใน 24 ชม.
"กรณีที่ผู้กำกับมีคำสั่งลงโทษ โดยระบุความผิดในคำสั่งว่า "ไม่ตรวจสอบข้อกฎหมายให้แน่ชัดว่า การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตามกฎหมายหรือไม่ และรับคำร้องทุกข์ไว้" จึงขัดแย้งกับคำสั่ง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
"และตามคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ข้อ 1.1.5 ก็ระบุว่า ถ้าไม่แน่ชัดให้นำเสนอเรื่องต่อผู้บังคับบัญชาสั่งการ แล้วท่านผู้กำกับสั่งการไปอย่างไรครับ?" ทนายรัชพล ศิริสาคร ตั้งข้อสงสัย
พนักงานสอบสวนที่รับแจ้งความ "คดีเปรมชัย"
จะผิด หรือถูกในสายตาใคร
แต่ ณ วันนี้ เขาถูกภาคฑัณฑ์จากผู้เป็นนายไปเสียแล้ว
ต่อไป อนาคตพนักงานสอบสวนผู้นี้จะเป็นอย่างไร
สังคมอย่าลืมเลือนเขาแล้วกัน!
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง คลิกที่นี่ : คดีเปรมชัย