คดีหวย 30 ล้าน ยังไม่จบ เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมามีคลิปเสียงคลิปที่ 2 เป็นการคุยกันระหว่างผู้ชายและผู้หญิง โดยมีการพูดถึงเรื่องหวยและต้นขั้ว โดยผู้หญิงมีการแทนชื่อเรียกของอีกฝ่ายว่าอาจารย์ พยายามทบทวนว่า อาจารย์ในคลิปเสียงได้ซื้อหวยไปจากใคร มีการเอ่ยชื่อเจ๊พัช ว่า มีการซื้อหวยจากแผงดังกล่าว และทวงถามเผื่อจะได้ทิปจากฝ่ายตรงข้าม โดยในคลิประบุว่า ผู้ชายได้ระบุว่า หาหวยดังกล่าวไม่เจอ ขอไปหาก่อนอีกด้วย หลังจากที่คลิปแรกที่ออกมาก่อนหน้านี้ พูดทำนองว่า ไม่ถูกหวย เพราะเลข 3 ตัวหน้าไม่ตรงกัน โดยเลขที่ได้คือเลข 337726
ทำให้ผู้ที่ฟังคลิปดังกล่าว ต่างมองว่าคลิปเสียงที่ได้ยินนั้น คล้ายกับครูปรีชา ใคร่ครวญ ผู้ที่แจ้งความว่าลอตเตอรี่รางวัลที่ 1 หาย และ นางรัตนาภรณ์ สุภาทิพย์ หรือ ป้าบ้าบิ่น แม่ค้าขายลอตเตอรี่ให้กับครูปรีชา
วันนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้พูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายในกระบวนการยุติธรรมท่านหนึ่ง มาให้ความรู้เมื่อคดีความขึ้นสู่ชั้นศาล หลักฐานทางวิทยาศาสตร์อย่าง “คลิปเสียง” ใช้พิสูจน์ได้จริงหรือไม่
...
คลิปเสียงใช้เป็นหลักฐานในศาลได้ ขึ้นอยู่กับความน่าเชื่อถือ
ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย เปิดเผยว่า อย่างที่เคยได้ยินว่า คลิปเสียงใช้ในชั้นศาลไม่ได้นั้น ไม่มีกฎหมายระบุไว้ว่า ห้ามไม่ให้ใช้หลักฐานที่เป็นคลิปเสียง โดยตามกฎหมายคือ พยานหลักฐานอะไรก็ได้ที่สามารถพิสูจน์ข้อเท็จจริงในคดีก็สามารถเอามานำสืบได้ และขึ้นอยู่กับ “ความน่าเชื่อถือ” ของแต่ละชิ้นมากกว่า ว่า คลิปเสียงที่ใช้เป็นหลักฐานนั้น “ใช่เสียงเจ้าตัวจริงหรือไม่” หรือ “มีการตัดต่อทำขึ้นมาหรือเปล่า”
ที่ผ่านมา การใช้คลิปเสียงสู้กันในชั้นศาล มีผลมากน้อยแค่ไหน? ทีมข่าวตั้งคำถาม
แหล่งข่าวผู้มากประสบการณ์ ระบุว่า คำถามนี้ตอบได้ยาก เพราะขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงแต่ละคดีนั้นๆ ว่า คลิปเสียงที่ใช้ในการนำสืบมีปัญหาอะไรหรือไม่ ซึ่งแต่ละคดีไม่เหมือนกัน เพียงแต่ว่าในแง่กฎหมายไม่ได้มีข้อห้ามในการใช้คลิปเสียงเท่านั้น
แต่ถ้าพิสูจน์ได้ มีความน่าเชื่อถือก็มีน้ำหนักอยู่ในตัวอยู่แล้ว แต่ปัญหาคือ พิสูจน์ได้หรือไม่?
เครื่องมือพิสูจน์คลิปเสียง ไม่ชัด 100% เป็นเพียงหลักฐานประกอบ ไม่ได้ชี้ชัด
เมื่อสิ้นคำตอบ ทีมข่าวถามต่อว่า เทคโนโลยีที่ใช้ในการพิสูจน์คลิปเสียงในปัจจุบันนั้น ในทางกฎหมายยอมรับหรือไม่?
ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ตอบว่า ทางกฎหมายสามารถใช้ได้ โดยนำไปให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจพิสูจน์โดยดูคลื่นความถี่ของน้ำเสียงเปรียบเทียบกับเสียงตัวจริง ว่า เป็นเสียงของบุคคลคนเดียวกันหรือไม่ ซึ่งคนที่มาเบิกความเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญอีกครั้ง เพื่อมาสนับสนุน ว่า คลิปเสียงนี้ เป็นของ นาย ก นาย ข จริงหรือไม่ แต่ว่าขณะเดียวกัน คนที่มาเบิกความเป็นผู้เชี่ยวชาญ ก็ต้องพิจารณาเป็นรายคดีอีก ว่าเก่งจริงหรือไม่ หรือว่ามีข้อบกพร่องในการตรวจพิสูจน์หรือเปล่า
“กฎหมายไม่มีบัญญัติโดยตรงว่า ให้ยอมรับการใช้เทคโนโลยีการใช้พิสูจน์คลิปเสียง แต่บัญญัติกว้างๆ ว่า อะไรก็ตามที่สามารถพิสูจน์ข้อเท็จจริงในคดีก็สามารถเอามานำสืบได้ ซึ่งเทคโนโลยีการใช้พิสูจน์คลิปเสียงไม่มีอะไร 100% แต่ก็ไม่ได้ห้ามนำมาใช้เป็นหลักฐาน ดังนั้น คลิปเสียงจะใช้ประกอบเท่านั้น ไม่ได้ชี้ชัด” แหล่งข่าว ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ระบุ
...
คำพูดที่ทำให้ตัวเอง “เสียประโยชน์” มักไม่ใช่คำพูดที่โกหก
จากกรณีมีคลิปเสียง 2 คลิปหลุดออกมาว่า ฝ่ายชายไม่ถูกลอตเตอรี่ เพราะได้ลอตเตอรี่เลข 337726 ไม่ใช่รางวัลที่ 1 หมายเลข 533726 นั้นหากสมมติมีการพิสูจน์ทราบแล้วว่า คลิปเสียงนี้มาจากโทรศัพท์ของฝ่ายชาย
ประเด็นนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย มองว่า เป็นเรื่องที่น่าคิดว่า สิ่งที่พูดนั้น มีส่วนเป็นเรื่องจริง เนื่องจากเป็นการพูดทำให้ตัวเองเสียประโยชน์ โดยหลักในการรับฟังพยานหลักฐานบอกเล่า คำพูดใดก็ตามที่เป็นคำพูดที่ทำให้ตัวเอง “เสียประโยชน์” มักจะไม่ใช่คำพูดที่โกหก ซึ่งหลักพวกนี้มาจากการที่ทำคดีกันมานาน จนกระทั่งเกิดเป็นทฤษฎีตำรากฎหมาย
แต่อย่างไรก็ตาม ต้องนำไปเปรียบเทียบว่า ใช่เสียงบุคคลนั้นจริงหรือไม่ และดูว่าการอัดเสียงมาจากที่ไหน
สนิทพยาน ไม่ได้แปลว่าจะช่วยกันได้ อยู่ที่ความน่าเชื่อถือ
น้ำหนักของพยานจะเชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหน? ทีมข่าวถามกลับ
...
ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ยกตัวอย่าง
1. คนที่มาเบิกความ เป็นคนที่รู้เห็นข้อเท็จจริงที่เบิกความถึงจริงๆ หรือไม่
2. ความเป็นไปได้ในการที่จดจำรายละเอียดที่มาเบิกความมีโอกาสเห็นหรือจำได้มากน้อยแค่ไหน
3. มีเหตุจูงใจที่จะช่วยเหลือ กลั่นแกล้งกันหรือไม่
4. ความสมเหตุสมผลของข้อเท็จจริงที่เล่ามา
“ถ้ามีความสนิทสนมกัน หรือว่า รู้จักกันมาก่อน อาจจะช่วยหรือไม่ช่วยก็ได้ ไม่เสมอไป แล้วแต่เรื่องไป” แหล่งข่าว ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย กล่าว
นอกจากนี้ กฎหมายยังยกเว้นหรือต้องห้ามบางเรื่อง เช่น พยานเอกสาร ต้องเป็นพยานต้นฉบับ หรือคนที่เป็นพยานบอกเล่าก็ห้ามให้รับฟัง คนที่รับฟังคนอื่นเขามาแล้วเอามาเล่าต่อ ส่วนกรณีพยานที่มีความรู้จัก สนิทสนม กับทางฝ่ายโจทก์หรือจำเลย นั้น ไม่ต้องห้ามตามกฎหมายให้มาเบิกความ แต่การสนิทสนมนั้น เป็นข้อที่ต้องพิจารณาว่า เบิกความช่วยกันหรือไม่ เป็นเรื่องเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของพยานแต่ละราย
...
ไขคำตอบ ใช่ VS คลับคล้ายคลับคลา ต่างกันอย่างไร?
คำให้การของพยาน คำว่า “ใช่” กับ คำว่า “คลับคล้ายคลับคลา” มีผลต่างกันหรือไม่? ทีมข่าวถาม
แหล่งข่าวด้านกฎหมาย ตอบว่า ต่างกัน โดย คำว่า “ใช่” หมายความว่า ยืนยันชัดเจน ส่วนคำว่า “คลับคล้ายคลับคลา” นั้น หมายถึง ไม่มั่นใจนัก แต่ฟังดูแล้วอาจจะใช่ก็ได้ ซึ่งน้ำหนักคำว่า คลับคล้ายคลับคลาก็น้อยกว่า
แต่อย่างไรก็ตาม คำว่า “ใช่” ต้องพิจารณาด้วยว่าเชื่อถือได้หรือไม่ เช่น มีเวลาเห็นนานไหม แสงสว่างที่เห็นเพียงพอไหม ขณะนั้น ผู้เห็นอยู่ในสภาพอย่างไร มีสติสัมปชัญญะดีไหม ตกใจไหม อายุเท่าไร สายตาเป็นอย่างไร
พยานบุคคล VS คลิปเสียง หลักฐานใดมีน้ำหนักมากกว่ากัน?
ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ยังกล่าวด้วยว่า ในการนำสืบพยานในชั้นศาลนั้น พยานบุคคลจะมีน้ำหนักมากกว่าคลิปเสียง เนื่องจากว่า ทนายฝ่ายตรงข้ามสามารถซักค้านได้ เพื่อหาจุดบกพร่อง ขณะที่ คลิปเสียงนั้น ต้องนำไปพิสูจน์ให้ได้ก่อนว่าเป็นเสียงบุคคลนั้นจริงหรือไม่ และในขณะที่อัดเสียง เจ้าตัวทราบหรือไม่ว่ามีการอัด เพราะหากทราบก็ยิ่งทำให้มีน้ำหนักน้อย แต่หากไม่รู้ตัวก็มีน้ำหนักได้ส่วนหนึ่ง นอกจากนี้ เครื่องมือที่ใช้พิสูจน์ว่าเป็นเสียงใครนั้น ก็ไม่สามารถระบุได้ชัด 100% อีกด้วย
อ้างอิงคำพิพากษาศาลฎีกาคดีเก่าได้ แต่ไม่ได้แปลว่า ศาลจะคล้อยตาม
ทีมข่าวถามต่อว่า สามารถอ้างอิงคำพิพากษาศาลฎีกาเดิมได้หรือไม่ แหล่งข่าวมากประสบการณ์ ให้คำตอบว่า สามารถนำมาใช้อ้างอิงได้ ในแง่ที่ว่า กฎหมายไม่ห้ามยอมรับฟังได้ ว่าเคยมีการตีความข้อกฎหมายลักษณะนี้ พยานหลักฐานแบบนี้ ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่อ้างอิงคำพิพากษาศาลฎีกาเก่าๆ อยู่แล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่า ศาลจะต้องเชื่อ ตามคำพิพากษาเก่านั้น
“การที่จะพิสูจน์ข้อเท็จจริงในคดี ไม่ใช่ว่าต้องมีอันใดอันหนึ่งอันเดียว แต่ต้องเอาคลิปเสียงไปประกอบกับข้อเท็จจริงอื่นๆ พยานบุคคลที่รู้เห็น เอกสารที่เกี่ยวข้อง และเอาทั้งหมดมาโยงเข้าด้วยกัน และถ้าโยงเข้าด้วยกันแล้วสมเหตุสมผล เข้ากันได้ ถึงจะน่าเชื่อ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า อันใดอันหนึ่งจะทำให้ชี้เป็นชี้ตายในทุกอย่าง ต้องมีหลักฐานอย่างอื่นมาประกอบด้วย” ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายในกระบวนการยุติธรรม กล่าวทิ้งท้าย.
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
- ติดตาม คลิปซีรีส์สกู๊ป ศึกชิงหวย 30 ล้าน จากทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้ที่นี่ -
- สกู๊ปศึกชิงหวย 30 ล้าน ของทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ที่เกี่ยวข้อง -