ข้อสงสัยอีกหนึ่งประการสำคัญของ “คดีหวย 30 ล้าน” ที่ประชาชนต่างตั้งคำถามถึงความไม่ชอบมาพากล...
“เจ้าหน้าที่ตำรวจ ใช้อำนาจอะไรไปอายัดเงิน 25 ล้านที่อยู่ในบัญชีของ ร.ต.ท.จรูญ
ทั้งๆ ที่การอายัดดังกล่าว ยังไม่มีการแจ้งความดำเนินคดีมาก่อน?”
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ไล่เรียงหาคำตอบให้กับปมคาใจดังกล่าว โดยเริ่มย้อนเรื่องราวจากปากของ ผู้จัดการธนาคารกรุงไทย สาขากาญจนบุรี ซึ่งเป็นสาขาที่ ร.ต.ท.จรูญ เลือกเปิดบัญชี เพื่อนำเงินรางวัล 30 ล้านไปฝากเอาไว้ โดยที่ไม่รู้ว่าจะเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน...
...
นายกิชเชษ จันทร์หวร ผู้จัดการธนาคารกรุงไทย สาขากาญจนบุรี เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า หลังจากที่ ร.ต.ท.จรูญ วิมล ข้าราชการตำรวจบำนาญ ทราบว่า ตนเองถูกสลากกินแบ่งรัฐบาลงวดประจำวันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 รางวัลที่ 1 จำนวน 5 ใบ เป็นเงิน 30 ล้านบาท ร.ต.ท.จรูญ ก็เดินทางมาที่ธนาคาร เพื่อขอคุยกับตน ซึ่งก่อนหน้านี้ ตนและ ร.ต.ท.จรูญ ไม่เคยรู้จักกันเป็นการส่วนตัว และไม่เคยพบหน้ากันมาก่อน
นายกิชเชษ ผู้จัดการธนาคารกรุงไทย สาขากาญจนบุรี เล่าต่ออีกว่า จากนั้น 2 พ.ย.2561 ร.ต.ท.จรูญ ได้แจ้งว่า เขาถูกหวยรางวัลที่ 1 เป็นเงินถึง 30 ล้านบาท แต่เขาอยากอยู่เงียบๆ ไม่อยากเป็นข่าว และขอให้ปิดเรื่องนี้เป็นความลับ อย่าบอกใคร
“ผมจึงแนะนำให้ไปขึ้นเงิน จากนั้นวันที่ 3 พ.ย.2560 ผมและ ร.ต.ท.จรูญ ได้เดินทางไปที่กองสลากด้วยกันเพื่อไปขึ้นรางวัล และนำเงินใส่บัญชีออมทรัพย์ จากนั้น ก็ถอนเงินส่วนหนึ่งออกมาใช้หนี้ จ่ายค่าบ้าน และจองรถให้ลูกสาว และไม่ได้ให้ผมไปเป็นพยานอะไร” นายกิชเชษ ผู้จัดการธนาคารกรุงไทย สาขากาญจนบุรี เล่าไปตามจริง
“พอเข้าช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำหนังสือมายังธนาคาร เพื่อขอให้อายัดเงินของ ร.ต.ท.จรูญ ฉะนั้น เมื่อมีหนังสือขอความร่วมมือมาจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทางธนาคารก็ต้องปฏิบัติตามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้” นายกิชเชษ ผู้จัดการธนาคารกรุงไทย สาขากาญจนบุรี กล่าว
เมื่อผู้สื่อข่าวถาม นายกิชเชษ ผู้จัดการธนาคารกรุงไทย สาขากาญจนบุรี ว่า ฉะนั้น ระเบียบการอายัดเงิน มีหลักการอย่างไรบ้าง?
...
นายกิชเชษ ผู้จัดการธนาคารกรุงไทย สาขากาญจนบุรี ตอบว่า “อืมมม ก็ตามหลักการแล้วมันอายัดได้นะครับ มันอยู่ในระเบียบของกฎหมาย ซึ่งเราก็ต้องปฏิบัติตาม”
ผู้สื่อข่าวถามต่ออีกว่า แม้ว่าจะยังไม่ได้มีการแจ้งความใดๆ ก็ตามที่เกี่ยวข้องกับบัญชีเงินฝาก 30 ล้านบาทของ ร.ต.ท.จรูญ ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถสั่งธนาคารอายัดได้หรือ และทางธนาคารก็ต้องอายัดบัญชีนั้นๆ ด้วยใช่หรือไม่?
...
นายกิชเชษ ผู้จัดการธนาคารกรุงไทย สาขากาญจนบุรี ตอบว่า “ในหนังสือที่เจ้าหน้าที่ตำรวจนำมาวันนั้นมีหมายเลขคดีนะครับ ซึ่งหมายเลขคดีระบุอยู่ในหนังสือที่เขานำมาให้ธนาคารเลย และตามกฎหมาย หรือระเบียบธนาคาร จะมีการระบุอยู่แล้วว่า ถ้ามีหนังสือในลักษณะนี้มา ทางธนาคารต้องทำอย่างไร ซึ่งผมก็เปิดตำรา และปรึกษาทางกรุงไทยสำนักงานใหญ่ดู จึงได้รู้ว่า มันสามารถอายัดได้”
“สุดท้ายแล้ว ผมไม่มีส่วนได้เสียกับอะไรตรงนี้เลย ผมก็ทำไปตามหน้าที่ และทางธนาคารได้ทำการพูดคุยกับลุงจรูญแล้ว ซึ่งทางลุงจรูญยินดีที่จะให้ทำการอายัดไว้ เพราะเกรงว่าหากมีการเบิกจ่ายในระหว่างที่คดียังไม่เสร็จสิ้น อาจถูกมองว่าบัญชีนี้มีการทุจริต และในท้ายที่สุด หากตัดสินได้แล้วว่าเงินจำนวน 30 ล้านนี้เป็นของใคร ทางธนาคารก็พร้อมจะดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป” นายกิชเชษ ผู้จัดการธนาคารกรุงไทย สาขากาญจนบุรี ให้สัมภาษณ์ตามข้อเท็จจริง
...
ปมสงสัยที่ว่า
“เจ้าหน้าที่ตำรวจ ใช้อำนาจอะไรไปอายัดเงิน 25 ล้านที่อยู่ในบัญชีของ ร.ต.ท.จรูญ
ทั้งๆ ที่การอายัดดังกล่าว ยังไม่มีการแจ้งความดำเนินคดีมาก่อน”
ประเด็นดังกล่าว อาจจะยังไม่คลี่คลายเท่าใดนัก
ทีมข่าว จึงสอบถามไปยังสมาคมธนาคารไทย
แหล่งข่าวระดับสูงของสมาคมธนาคารไทย แจกแจงว่า ถ้าหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจตามกฎหมาย ยกตัวอย่างเช่น เจ้าหน้าที่ตำรวจระดับร้อยตรีขึ้นไป, ปปง.(สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน), ดีเอสไอ (กรมสอบสวนคดีพิเศษ) ทำหนังสือสั่งการมายังธนาคารให้อายัดบัญชีธนาคาร ซึ่งหนังสือในลักษณะนี้ จะมีการระบุคำสั่งค่อนข้างชัดเจนว่า เจ้าหน้าที่รัฐต้องการให้ธนาคารแห่งนั้นๆ ทำอะไร, กระทำกับบัญชีใด, เจ้าของบัญชีชื่ออะไร, หมายเลขบัตรประชาชนของเจ้าของบัญชีคือหมายเลขอะไร
“หนังสือสั่งการให้อายัดเงินของเจ้าหน้าที่ตำรวจในลักษณะนี้ ไม่จำเป็นต้องมีหมายเลขคดีระบุมาก็ได้ เพราะพวกเขามีอำนาจสั่งลงมาอยู่แล้ว” แหล่งข่าวระดับสูงของสมาคมธนาคารไทย กล่าวตามประสบการณ์
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า หากเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่มีข้อมูลบัญชีที่จะอายัดเงิน แต่เจ้าหน้าที่ธนาคารคนใดคนหนึ่งกลับเป็นผู้ให้ข้อมูลนั้นๆ แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยที่ไม่มีหนังสือสั่งการใดๆ ทั้งสิ้น การกระทำของเจ้าหน้าที่ธนาคารในลักษณะดังกล่าว สามารถกระทำได้หรือไม่?
แหล่งข่าวระดับสูงของสมาคมธนาคารไทย กล่าวเสียงเข้มและดังขึ้นเล็กน้อยว่า “ไม่สามารถทำได้อยู่แล้วครับ หากพบว่ามีเจ้าหน้าที่ธนาคารนำข้อมูลของลูกค้ามาเปิดเผย เจ้าหน้าที่ธนาคารคนนั้นๆ จะต้องรับโทษตามที่ธนาคารต้นสังกัดได้กำหนดไว้”
ตามระเบียบของทางธนาคารนั้น ต้องมีการแจ้งความดำเนินคดีก่อนหรือไม่ ถึงจะมีการอายัดบัญชีนั้นๆ ได้? ผู้สื่อข่าวซักถามแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ของสมาคมธนาคารไทย
“แม้ธนาคารจะต้องดำเนินการตามหนังสือที่เจ้าหน้าที่ตำรวจสั่งการลงมาก็ตาม แต่จู่ๆ เจ้าหน้าที่ตำรวจจะสั่งการลงมาซี้ซั้วไม่ได้ว่า ให้อายัดบัญชีนั้น บัญชีนี้ เพราะในท้ายที่สุดแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องตอบคำถามนี้ได้ครับว่า หากไม่มีการแจ้งความดำเนินคดีกันมาก่อน แต่ทางตำรวจจะมาสั่งอายัดบัญชีของคนนั้นคนนี้ คุณทำอย่างนี้ไปเพื่ออะไร คำถามนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องตอบให้ได้” แหล่งข่าวระดับสูงของสมาคมธนาคารไทย กล่าวเอาไว้อย่างน่าสนใจ
“แม้ว่า ไม่มีคนแจ้งความดำเนินคดีใดๆ ทั้งสิ้น แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจทำหนังสือสั่งการลงมาว่า ให้ธนาคารอายัดบัญชีใดบัญชีหนึ่ง ทางธนาคารก็จะต้องอายัดบัญชีนั้นๆ ให้ แต่เมื่อเกิดปัญหา หรือความคลางแคลงใดๆ ขึ้น ทีนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้องต้องตอบให้ได้นะครับว่า คุณใช้อำนาจอะไรสั่งอายัดทั้งๆ ที่ยังไม่มีการแจ้งความ ไม่มีผู้เสียหาย ไม่มีผู้ต้องสงสัย” แหล่งข่าวระดับสูงของสมาคมธนาคารไทย ชี้จุดสำคัญ
“คุณทำแบบนี้ไปเพื่ออะไร” แหล่งข่าวระดับสูงของสมาคมธนาคารไทย กล่าวไว้ให้คิด.
- ติดตาม คลิปซีรีส์สกู๊ป ศึกชิงหวย 30 ล้าน จากทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้ที่นี่ -
- สกู๊ปศึกชิงหวย 30 ล้าน ของทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ที่เกี่ยวข้อง -