เวลานี้เชื่อว่าคนทั้งประเทศกำลังส่งกำลังใจให้กับหนุ่มศรีสะเกษตัวเล็กๆ คนหนึ่ง ทั้งที่เมื่อไม่กี่วันก่อนยังไม่มีใครรู้จักเขามาก่อน ...

“วิเชียร ชิณวงษ์” นักวิชาการป่าไม้ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก กลายเป็น “ฮีโร่ผืนป่าคนใหม่” หลังจากสถานการณ์สร้างวีรบุรุษ เมื่อเขาหาญกล้าบุกจับ ซีอีโอแสนล้าน “เปรมชัย กรรณสูต” คาป่า พร้อมของกลางซากเสือดำ และซากสัตว์ป่าคุ้มครองอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม เวลานี้กลับมีการเสนอให้ทางกรมอุทยานฯ เอาผิด “วิเชียร” ในข้อหาไม่เก็บค่าเข้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ เพียงไม่กี่บาท เป็นที่มาของการโจมตี และไม่เห็นด้วยแก่ผู้คนจำนวนมาก...

คดีใหญ่ ซีอีโอคนดัง ถูกจับพร้อมของกลาง หนังเสือดำ ซากสัตว์ป่า โดยมีอาวุธจำนวนมาก
คดีใหญ่ ซีอีโอคนดัง ถูกจับพร้อมของกลาง หนังเสือดำ ซากสัตว์ป่า โดยมีอาวุธจำนวนมาก

...

ย้อนตำนาน เอกบุรุษ สืบ นาคาเสถียร ผู้พิทักษ์ผืนป่าและสัตว์โลก

วีรกรรมของ “วิเชียร ชิณวงษ์” ทำให้ใครหลายคนนึกถึง “สืบ นาคะเสถียร” ผู้พิทักษ์ผืนป่าห้วยขาแข้ง และทุ่งใหญ่นเรศวร ผู้พลีชีพเพื่อหวังว่าจะให้ผืนป่าดำรงอยู่สืบไป

“ผมคิดว่า ชีวิตผมทำได้ดีที่สุดแล้วเท่าที่ผมมีชีวิตอยู่
ผมคิดว่า ได้ช่วยเหลือสังคมดีแล้ว
ผมคิดว่า ผมได้ทำตามกำลังของผมดีแล้ว
และผมพอใจ ผมภูมิใจสิ่งที่ผมทำ...”

ถ้อยคำหลังปกหนังสือ อนุสรณ์ งานพระราชทานเพลิงศพ “สืบ นาคะเสถียร” ชาตะ 31 ธันวาคม 2492 มรณะ 1 กันยายน 2533

ปฐมบทของ สืบ นาคะเสถียร 

เดิมมีชื่อว่า “สืบยศ นาคะเสถียร” ชื่อเล่น “แดง”

สืบ พื้นเพอยู่ที่ จ.ปราจีนบุรี เป็นลูกชายคนโต ในจำนวนพี่น้อง 3 คนของ นายสลับ และ นางบุญเยี่ยม นาคะเสถียร โดยมีน้องสาวต่างพ่ออีก 1 คน

สืบ เรียนมัธยมศึกษา โรงเรียนเซนต์หลุยส์ ฉะเชิงเทรา ต่อมาได้เรียนปริญญาตรี คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (รุ่นที่ 35) ปี 2514 จากนั้นได้ไปเรียนปริญญาโทต่อ ที่สาขาวิชาวนวัฒน์วิทยา คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปี 2518 และได้ปริญญาโท สาขาอนุรักษ์วิทยา มหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ (ทุน British Council) นอกจากนี้ ยังได้เรียนหลักสูตรการอนุรักษ์และการจัดการสัตว์ ที่ศูนย์อนุรักษ์และวิจัย ฟร้อนต์ รอยัล เวอร์จิเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา (ทุนสถาบันสมิธโซเนียน)

ชีวิตการทำงานของ สืบ เริ่มที่กองสาธารณะของการเคหะแห่งชาติ ปี 2517 ก่อนบรรจุเข้ารับราชการในตำแหน่ง พนักงานป่าไม้ตรี กองอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมป่าไม้ ปี 2518 ไปปฏิบัติหน้าที่ ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขาเขียว-เขมชมภู่ จังหวัดชลบุรี ทำหน้าที่ผู้รักษากฎหมาย ได้จับกุมผู้บุกรุกทำลายป่า ก่อนไปศึกษาที่ประเทศอังกฤษ กลับมารับตำแหน่งหัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่า มีส่วนร่วมในการจัดการและประสานงาน รวมทั้งเป็นวิทยากรฝึกอบรมพนักงานพิทักษ์ป่า จนกระทั่งปี 2526 ได้ขอย้ายมาเป็นนักวิชาการ กองอนุรักษ์สัตว์ ทำหน้าที่วิจัยสัตว์ป่าเพียงอย่างเดียว ต่อมา ในปี 2529 ได้รับหมอบหมายให้เข้าไปช่วยเหลือ โครงการอพยพสัตว์ป่าจากการสร้างเขื่อนเชี่ยวหลาน แต่สามารถช่วยเหลือสัตว์ป่าได้เพียง 1,364 ตัว เป็นจำนวนไม่ถึง 10% ของสัตว์ทั้งหมดในพื้นที่ป่า...

ต่อมา รัฐบาลมีแผนจะสร้างเขื่อนน้ำโจนในบริเวณทุ่งใหญ่นเรศวร จึงพยายามในการเสนอให้ ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร และ ป่าห้วยขาแข้ง มีฐานะเป็นมรดกโลก โดยได้รับการยกย่องอย่างเป็นทางการจากองค์การสหประชาชาติ โดยเห็นว่าฐานะดังกล่าวเป็นหลักประกันสำคัญที่คอยคุ้มครองผืนป่าอย่างถาวร เมื่อปี 2532

...

กระทั่งวันที่ 9 ธันวาคม ปี 2534 ที่ประชุมพิจารณาคัดเลือกแหล่งมรดกโลกขององค์การยูเนสโก (UNESCO) ได้ประกาศ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง เป็นมรดกทางธรรมชาติของโลก!

สะท้อนแนวคิด “สืบ นาคะเสถียร” ตะโกนก้องสู่คนทั่วโลก

ย้อนกลับไป เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2533 สืบเคยให้สัมภาษณ์หลังการสัมมนาว่าด้วยการ “อนุรักษ์สัตว์ป่าและป่าไม้” โดยเขาได้ทำเรื่องของบประมาณจากองค์การยูเสด (Usaid - United State Agency for International Development) เพื่อขอให้ห้วยขาแข้ง และทุ่งใหญ่นเรศวร เป็นมรดกโลก

โดยก่อนจะให้สัมภาษณ์วันนั้น สืบ ได้ขึ้นอภิปรายอย่างเผ็ดร้อน โดยของบประมาณจากยูเสด จำนวน 40 ล้านบาท...

...

ความสำคัญของ ห้วยขาแข้ง และ ทุ่งใหญ่นเรศวร จากปาก สืบ นาคะเสถียร

“ห้วยขาแข้ง กับ ทุ่งใหญ่นเรศวร เป็นป่าอนุรักษ์ที่เป็นหัวใจของป่าตะวันตก ทั้งนี้ ทุ่งใหญ่มีพื้นที่กว้างใหญ่กว่า และสภาพป่าต่อเนื่องกันอยู่ ส่วนที่ห้วยขาแข้งนั้น มีสถานีวิจัยเกี่ยวกับเรื่องป่าไม้ ทำให้ผลงานวิจัยต่างๆ ที่ทำที่ห้วยขาแข้งมีมากกว่า ชื่อ ห้วยขาแข้ง จึงติดหูมากกว่า...”

“นักวิจัยต่างประเทศได้มารู้มาเห็นแล้ว จุดตรงนี้เป็นใจกลางสำคัญของรอยต่อของเขตภูมิศาสตร์ตามโซน มีอินโดไชน่าทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ อินโดเบอร์ม่า ทางทิษตะวันตกเฉียงเหนือ แล้วข้างล่างแถวอินโดมาเลย์ มันขึ้นมาตรงทุ่งใหญ่กับห้วยขาแข้งพอดี เป็นสัญลักษณ์ที่เด่นชัดมาก เป็นรอยต่อของ 3 เขต ซึ่งในโลกนี้หาไม่ได้เลยที่มันมีลักษณะแบบนี้ และประเทศไทยขวานทองนี้ มันตั้งอยู่ตรงนี้พอดี และบังเอิญว่าป่านี้มันเหลืออยู่ เพราะว่าทางรัฐบาลสมัยก่อนได้เห็นความสำคัญ จะเห็นได้ว่าการที่จะประกาศเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแต่ละแห่ง ถ้าเทียบกับอุทยานแห่งชาติ ยากลำบากมาก เพราะอะไร... เพราะกฎหมายไม่เปิดโอกาสให้เลย..”

นอกจากเรื่องป่า และการอนุรักษ์สัตว์แล้ว สืบ ยังได้เล่าย้อนถึงชีวิตตนเองตั้งแต่สมัยเรียน...และเผยความในใจว่า เพราะอะไรเขาถึงรักสัตว์ ทุ่มเทชีวิตดูแลป่าไม้

...

สืบเล่าว่า เขารู้ตัวเองว่า รักป่าไม้ รักสัตว์ป่า ทันทีที่ก้าวเท้าเข้ากรมป่าไม้

“สมัยเรียน ผมไม่ได้อยากเรียนวนศาสตร์ ไม่อยากเป็นป่าไม้ ผมไม่ชอบป่าด้วยซ้ำ แต่ผมเลือกไปอย่างนั้นเอง ผมเลือกป่าไม้ไปอันดับ 5 แต่พอผมสอบติด ผมจึงบอกแม่ว่า ผมไปเรียนดีกว่า อายุมันมากแล้ว รอปีหน้าก็ไม่รู้ว่าจะสอบเข้าสถาปัตย์ได้หรือเปล่า ถ้าเกิดสอบไม่ได้อีกก็คงต้องเกาะแม่กินไปเรื่อยๆ”

สืบเล่าประวัติตัวเองอย่างผ่อนคลาย จากนั้นเผยว่า หลังจากเรียนจบมาก็ตกงานอยู่ 2 ปี จากนั้นมาได้งานที่การเคหะ การเคหะจะให้ผมเอาต้นไม้ไปปลูกที่บ้าน ผมก็รู้สึก “เอ๊ะ! เรื่องอะไร งานหลวงนะไม่ใช่งานราษฎร์ ผมลาออกเลย”

จากนั้น สืบ จึงตัดสินใจเรียนต่อปริญญาโท สาขาวนศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ที่ตัดสินใจเช่นนี้เพราะรู้สึกว่า “เอาขาเข้าไปแหย่ในป่าไม้แล้ว” แต่เรียนได้ปีเดียวก็ได้งานทำ เป็นรองหัวหน้างาน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาเขียว จ.ชลบุรี

ผมเลือกที่นี่เพราะเกลียดพวกป่าไม้ แม้จะเรียนด้านนี้แต่ก็รู้สึกไม่ชอบ เพราะพวกป่าไม้มันโกง พวกมันรวยมาจากโกงป่า ผมรู้กำพืดพวกมันดี เพราะสมัยนั้นพ่อผมเป็นปลัดจังหวัด ผมไม่อยากไปโกงกับพวกมัน ถ้าผมไม่โกงกับมัน ผมก็อยู่ไม่ได้ ผมเลยเลือกมาอยู่กองนี้ ผมไม่มีเงิน ผมใช้เงินผม เงินเดือนผมฝากไว้กับธนาคารได้ 3-4 หมื่น แต่ช่วงหลังที่มาทำงานห้วยขาแข้ง ต้องซ่อมรถควักกระเป๋า

หากผมไม่มี ผมก็มายืมแม่ “แม่ก็ไม่ถามว่าทำไมต้องยืมเงิน แกก็มีเงินเดือน แต่แม่ก็เปรยๆ ว่าเห็นเขาทำงานก็มีแต่ร่ำรวย ผมบอกว่า ถ้าแม่หวังอย่างนั้นผมคงไม่ได้เป็น ผมอยากเป็นคนมีเกียรติมากกว่าคนมีเงิน ผมคิดว่าเป็นลูกคนจนๆ ที่มีเกียรติดีกว่า ผมอาจไม่มีเงิน แต่ผมพูดที่ไหนก็ได้ ผมไม่กลัวใคร ผมไม่ได้โกงกินใคร และไม่ได้โกงของผมด้วย..

สืบ เผยเรื่องราวชีวิต ตอนที่ทำงานอยู่เขาเขียว ว่าเขามุ่งทำงานอย่างเต็มที่ หลายคนมองว่าเขาเป็นคนบ้า ทำอะไรบ้าๆ กระทั่งเขาได้ทุนไปเรียนต่อที่อังกฤษ​ และตำแหน่งหัวหน้าเขตที่เขาเขียวรออยู่ แต่เขาก็ไม่เอา เพราะ บางคนจับได้ บางคนใหญ่โตเขาก็จับไม่ได้ ด้วยระบบราชการ “มันมีอะไรบ้าๆ” เขาจึงขอย้ายตัวเองอนุรักษ์สัตว์ป่าที่เขาเขียวแทน ที่จะเป็นหัวหน้าทำงานในฐานะราชการ ซี 6

สืบ ยอมรับว่า ตนเป็นคนโชคดี ที่ไม่ได้เกิดในครอบครัวที่ยากจน ทำให้เขาได้มีโอกาสได้เรียน และก้าวเข้ามาทำงานในจุดนี้ แม้เขาจะเป็นลูกข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ แต่ก็ไม่เคยได้รับอะไรที่พิเศษกว่าคนอื่น เพราะเขาไม่อยากได้

“..ผมเห็นใจคนที่ไม่มีโอกาสในสังคม ถูกเอารัดเอาเปรียบ ประเทศไทยจะดีขึ้น หากคนที่มีโอกาสยอมสละโอกาสบ้าง เราช่วยเหลือคนส่วนใหญ่ที่ไม่มีโอกาสได้ลืมตาอ้าปากได้ นอกจากจะเป็นกุศลแล้ว มันจะทำให้เราอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข ผมอยากเห็นสังคมดีขึ้น ผมพูดแล้วบางครั้ง..ผมอยากจะร้องไห้..”

นี่คือข้อความบางส่วนจากบทสัมภาษณ์ สืบ นาคะเสถียร ที่ตีพิมพ์ครั้งแรก ในนิตยสารอิมเมจ เล่มที่ 3 เดือนมีนาคม 2533 และถูกรวบรวมไว้ หนังสือ “ตะโกนก้องจากพงไพร” รวมผลงานและความคิดของ สืบ นาคะเสถียร

วาระสุดท้าย ผู้พิทักษ์ป่า ท้อใจ เหมือนต่อสู้อยู่ลำพัง..

ย้อนกลับไปในเดือนพฤษภาคม 2533 สืบทำงานอย่างหนักในฐานะหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ขณะนั้นได้มีบริษัทไม้แห่งหนึ่งได้ไปแจ้งกับรัฐมนตรีให้ตรวจพื้นที่ จ.อุทัยธานี ว่า พบมีการลักลอบตัดไม้ สืบ รู้ว่านี่คือ “การกลั่นแกล้ง” จึงเตรียมข้อมูลทุกอย่างเพื่อที่จะมาชี้แจง แต่เขากลับไม่มีโอกาสได้พูดอะไร.. ได้แต่คำพูดว่า

“คุณต้องทำงานหนักขึ้นกว่าเดิม”

“ผมไม่สามารถทำงานหนักกว่านี้ได้อีกแล้ว และผมก็ไม่สามารถบอกคนของผมให้ทำงานหนักกว่านี้ได้ เพราะสัปดาห์ที่ผ่านมา พวกเขาแทบไม่ได้หลับ ไม่ได้นอนเลย..”

ในคืนวันที่ 1 กันยายน 2533 “จิตประพันธ์ กฤตาคม” เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ลูกน้องคนสนิทของสืบ คือคนสุดท้ายที่เขาคุยด้วย

“ที่นี้ผมแน่ใจแล้วว่า ผมกำลังต่อสู้อย่างโดดเดี่ยว ผมไม่อาจจะคาดหวังจากใครได้อีก...”

คืนนั้น เสียงปืนดังลั่นป่า โดยมีที่มาจากบ้านพักสำนักงานเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ในเวลา 04.00 น.

“ผมมีเจตนาฆ่าตัวตายเอง โดยไม่มีใครเกี่ยวข้องกับกรณีนี้ทั้งสิ้น”

สืบลงชื่อบนแผ่นกระดาษเล็กๆ โดยเขาไม่มีโอกาสได้รับรู้ว่า ปี 2534 องค์การยูเนสโกประกาศให้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และ ทุ่งใหญ่นเรศวร เป็นแหล่งมรดกโลก สมกับเจตนารมณ์ที่ผู้พิทักษ์ป่าคนนี้ตั้งมั่น และเดินหน้าต่อสู้มาโดยตลอด

ขณะเดียวกัน สิ่งที่เกิดขึ้นกับ "วิเชียร ชิณวงษ์" ก็ดูคล้ายกับที่เคยเกิดขึ้นกับ "สืบ" แต่ที่แตกต่างกันคือ เราต้องไม่ปล่อยให้ "วิเชียร" สู้รบอย่างลำพัง เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นกับ "สืบ นาคะเสถียร"

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

ขอบคุณภาพ และเนื้อหาบางส่วนจากหนังสือ "อนุสรณ์ งานพระราชทานเพลิงศพ สืบ นาคะเสถียร" และ "ตะโกนก้องจากพงไพร รวมผลงานและความคิดของ สืบ นาคะเสถียร"