10 ข่าวเด่นวิทยาศาสตร์โลกที่ทีมข่าวเฉพาะกิจนำเสนอไป 2 ตอนเมื่อต้นเดือน ข่าวในอันดับ 3 มีแฟนๆ ไทยรัฐออนไลน์ถามไถ่กันเข้ามามากว่า สถานการณ์ล่าสุด อูมัวมัว วัตถุชิ้นแรกที่มาจากนอกระบบสุริยะ โผล่ให้เห็นเมื่อปีที่แล้วนั้น จะเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าใกล้ค้นพบมนุษย์ต่างดาวจริงไหม
เพื่อคำตอบที่แจ่มแจ้ง รศ.ดร.ชัยวัฒน์ คุประตกุล กูรูและผู้คร่ำหวอดด้านวิทยาศาสตร์ของไทย ให้ความกระจ่างทุกมุมมองกับทีมข่าวเฉพาะกิจ เพื่อไขข้อข้องใจให้กับแฟนๆ ไทยรัฐออนไลน์
การค้นพบ มั่นใจเกินร้อย คือวัตถุแรกจากนอกระบบสุริยะ
และเพื่อความเข้าใจง่ายขึ้น รศ.ดร.ชัยวัฒน์ จึงขอเริ่มเล่าถึงการค้นพบ “อูมัวมัว” วัตถุแรกสุดจากนอกระบบสุริยะ เมื่อกลางเดือนตุลาคม พ.ศ.2560 ซึ่ง โรเบิร์ต เวริค (Robert Weryk) และคณะนักดาราศาสตร์ ค้นพบจากภาพถ่ายโดยกล้องโทรทรรศน์ Pan – Starrs ที่หอดูดาวฮาลีอาคาลา (Haleakala Observatory) ในฮาวาย สหรัฐอเมริกา
...
ต่อมาก็ร่วมกับหอดูดาวที่อื่นๆ ด้วย ทั้งข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์ในชิลี และกล้องโทรทรรศน์เคกค์ 2 (KECK II) ในฮาวาย เมื่อได้ข้อมูลที่ชัดเจนแน่นอน จึงตั้งชื่อเรียกว่า Oumuamua (อูมัวมัว) และลงพิมพ์รายงานในวารสารเนเจอร์ ฉบับวันที่ 20 พ.ย. 2560 จนทำให้คนทั่วโลกที่สนใจตื่นเต้นกันมาก
ที่มาของชื่อ “อูมัวมัว” กว่าจะสรุปได้ ผ่านการวิเคราะห์ทางดาราศาสตร์ 2 ครั้ง
ส่วนที่ชื่อ “อูมัวมัว” เมื่อค้นพบใหม่ๆ และจากการศึกษาเบื้องต้น อูมัวมัวมีสภาพคล้ายกับดาวหาง (Comet) จากนอกระบบสุริยะ จึงตั้งชื่อในตอนแรกเป็น C / 2017 U1 โดย IAU หรือ International Astronomical Union เป็นคล้ายๆ สมาคมนักดาราศาสตร์อาชีวทั่วโลก เป็นผู้กำหนดในการตั้งชื่อสิ่งต่างๆ ที่ค้นพบใหม่ๆ ต่อมาพบว่า อูมัวมัว มีสภาพเป็นดาวเคราะห์น้อย (Asteroid) มากกว่าดาวหาง จึงได้ตั้งชื่อเรียกใหม่อีกเป็น A / 2017 U1
แต่ต่อมาจากข้อมูลที่ชัดเจนขึ้นว่าเป็นวัตถุแรกจากนอกระบบสุริยะอย่างแน่นอน จึงถูกกำหนดให้เป็นวัตถุประเภทใหม่ คือ Interstellar Object เป็นวัตถุนอกระบบสุริยะ หรือวัตถุระหว่างดวงดาว มีชื่อย่อเรียกเป็น I อูมัวมัวจึงมีชื่อเรียกตามระบบใหม่ เป็น 1 I คือ วัตถุนอกระบบสุริยะ อันดับ 1 ซึ่งก่อนจะชื่อ “อูมัวมัว“ ก็มีการเสนอชื่อ “Rama“ หรือ “ราม“ จากชื่อยานอวกาศจากต่างดาวในนิยายวิทยาศาสตร์เรื่อง Rendezvous With Rama ของอาเทอร์ ซี. คลาร์กด้วย
“จากการที่อูมัวมัวเป็นวัตถุแรกสุดจากนอกระบบสุริยะที่เดินทางมาถึงโลก ดั่งเป็น “แนวหน้า“ หรือ “หน่วยสอดแนม“ ก็เป็นแรงกระตุ้นให้ตั้งชื่อของวัตถุแรกสุดจากนอกระบบสุริยะเป็น ”อูมัวมัว” ซึ่งเป็นภาษาฮาวาย แปลว่า “ทหารแนวหน้า“ หรือ “หน่วยสอดแนม“ หรือ “ลูกเสือ“” รศ.ดร.ชัยวัฒน์ อธิบายความหมาย
เปลือกนอกของอูมัวมัวคืออะไร มีสิ่งใดซ่อนอยู่ใต้รูปร่างที่คล้ายซิการ์
...
หลังการตีพิมพ์ในวารสาร Nature ปลายเดือน พ.ย.2560 อูมัวมัวเป็นข่าวใหญ่ในวงการวิทยาศาสตร์ แต่ถึงประมาณต้นเดือนธันวาคม อูมัวมัวก็เป็นข่าวใหญ่สำหรับวงการทั่วไปของคนทั่วโลก เมื่อมีกลุ่มนักดาราศาสตร์ ซึ่งมีชื่อของ "สตีเฟ่น ฮอว์กกิ้ง" มาแสดงความคิดเห็นว่า อูมัวมัว อาจเป็นยานอวกาศของมนุษย์ต่างดาว คือ เอเลี่ยนจากนอกระบบสุริยะ โดยให้เหตุผลว่า รูปร่างของอูมัวมัวยาวประมาณ 400 เมตร คล้ายซิการ์ และส่วนกลางที่โป่ง มีเส้นผ่าศูนย์กลาง อาจประมาณ 100 เมตร เป็นรูปร่างที่ไม่ปกติธรรมดาของดาวหาง หรือดาวเคราะห์น้อยทั่วไป
“อูมัวมัวที่ค้นพบ ขนาดไม่ใหญ่โตอะไรมากมาย แต่มีรูปร่างแปลกๆ คล้ายเป็นซิการ์ มีความยาว 400 เมตร กว้าง 40 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 100 เมตร และเคลื่อนที่เร็วมาก จากรายงานตีพิมพ์โดยคณะนักวิทยาศาสตร์ อยู่มหาวิทยาลัยควีน ไอร์แลนด์เหนือ หัวหน้าทีมชื่อ ศ.อแลน ฟิตซิมมอนส์ (Alan Fitzsimmons) จากข้อมูลที่ส่องศึกษาด้วยกล้องโทรทรรศน์
...
ว่าอูมัวมัวมีคุณสมบัติเป็นดาวหางมากกว่า เดินทางมาไกลมาก นานมาก จุดเริ่มจริงๆ ยังไม่ทราบว่ามาจากไหน แต่ทราบแน่ๆ ว่ามาจากนอกระบบสุริยะ เพราะฉะนั้นภาพล่าสุดที่ตีพิมพ์ อูมัวมัวจะมีผิวนอกเป็นนำแข็ง แต่สลายไปแล้วจากการเดินทางมาไกล เปลือกนอกลักษณะแข็ง เพราะสารพวกคาร์บอน ภายในยังเป็นน้ำแข็งอยู่มาก” รศ.ดร.ชัยวัฒน์วิเคราะห์ตามหลักวิทยาศาสตร์
รู้และมั่นใจได้อย่างไรว่า อูมัวมัว มาจากนอกระบบสุริยะจริงๆ?
ข้อมูลยืนยันว่าอูมัวมัวมาจากนอกสุริยะจริงๆ นี้ รศ.ดร.ชัยวัฒน์ อธิบายว่า เหตุที่อูมัวมัวได้รับการกำหนดให้เป็นวัตถุจากนอกระบบสุริยะแรกสุดนั้น เป็นเพราะ 1.ความเร็วของอูมัวมัว เคลื่อนที่สูงมากเกินกว่าที่จะมีจุดกำเนิดในระบบสุริยะ เร็วกว่าบรรดาวัตถุจำพวกดาวหางและดาวเคราะห์น้อยที่มีอยู่ในระบบสุริยะ และ 2.วิถีการเคลื่อนโคจรของอูมัวมัวเป็นแบบไฮเปอร์โบลา ซึ่งหมายความว่าจุดเริ่มต้นมาจากนอกระบบสุริยะ และจะไม่กลับมา แต่อยู่กับระบบสุริยะไปอีกนานประมาณ 2 หมื่นปี ไม่ใช่แบบวงกลม หรือวงรี เช่น ดาวหาง หรือดาวเคราะห์น้อยในระบบสุริยะ
...
“วัตถุแบบอูมัวมัวอาจจะมีมากในระบบสุริยะ แต่เราตรวจจับไม่ได้มาก่อน เพราะเทคโนโลยียังไม่ดีพอ เมื่อเจอชิ้นนี้เป็นครั้งแรก ก็ทำให้คนทั่วโลกตื่นเต้นกันมาก ว่าต่อไปจะมีการตรวจจับได้มากขึ้น เพราะเทคโนโลยีด้านกล้องโทรทรรศน์มันดีขึ้นเรื่อยๆ พอจับได้ก็ทำให้มั่นใจว่าต่อจากนี้จะมีการค้นพบวัตถุจากนอกระบบสุริยะแบบอูมัวมัวมากขึ้น ซึ่งการค้นพบครั้งนี้นับว่าเป็นข่าวดี การทำการศึกษาครั้งนี้ก็เป็นการซ้อมมือ และเตรียมตัวในครั้งต่อๆ ไป”
อูมัวมัวมันคืออะไรกันแน่ วัตถุธรรมดา หรือ ยานอวกาศมนุษย์ต่างดาว
กับปัญหาคาใจของแฟนไทยรัฐออนไลน์ดังกล่าว และจากข้อมูลของโครงการ Breakthrongh Listen นำทีมโดย สตีเฟ่น ฮอว์กกิ้ง ซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์ดังของโลกชาวอังกฤษ นักฟิสิกส์ นักวิทยาศาสตร์ใช้กล้องโทรทรรศน์วิทยุขนาดใหญ่ของกรีนแบงก์ (Green Bank Telescope) สำรวจอูมัวมัวเมื่อกลางเดือน ธ.ค.2560 เพื่อพิสูจน์หาข้อเท็จจริงว่าอูมัวมัวเป็นยานอวกาศของมนุษย์ต่างดาวหรือไม่ เพราะเขาเชื่อว่ามนุษย์ต่างดาวมีอยู่จริงนอกระบบสุริยะ ถ้ามีก็อาจมีการใช้สัญญาณคล้ายวิทยุในการสื่อสารกัน โดยได้ตรวจจับสัญญาณสื่อสารที่ไม่เป็นธรรมชาติ ผลตรวจสอบไม่พบสัญญาณชวนสงสัย
“ตามความเชื่อของฮอว์กกิ้ง เขาบอกว่า ถ้ามนุษย์ต่างดาวรู้ว่าเราอยู่ที่นี่ มนุษย์ต่างดาวจะมาอย่างไม่เป็นมิตร จะมายึดโลก ถ้าเขามาหาเราได้ จะก้าวหน้าและเก่งกว่าเราเยอะ แต่นั่นเป็นความคิดของนักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่ง บางกลุ่มก็ค้านว่าจะมาอย่างมิตร แต่สำหรับผม ผมเชื่อว่าน่าจะมาอย่างเป็นมิตรมากกว่า
ในเชิงวิทยาศาสตร์ ถ้ามนุษย์ต่างดาวจะสร้างยานอวกาศมาหาเรา หรือแม้แต่เราจะสร้างยานอวกาศไปหามนุษย์ต่างดาว รูปร่างแบบที่น่าจะเหมาะที่สุดแบบหนึ่งในการสร้างยานอวกาศก็จะเป็นรูปร่างแบบซิการ์ของอูมัวมัว เพราะจะลดความเสียดทาน ทำให้เดินทางได้เร็ว
ถ้าอูมัวมัว เป็นยานอวกาศจากมนุษย์ต่างดาวจริง วิธีการสื่อสาร เทคโนโลยีที่เขาใช้ อาจจะแตกต่างกันมากกับที่โลกเราใช้ ผมจึงไม่ประหลาดใจที่ตรวจไม่พบสัญญาณการสื่อสารใดๆ ในอูมัวมัว แต่ในวงการวิทยาศาสตร์ก็ยังไม่หยุด และยังติดตามสำรวจ ศึกษาอูมัวมัวต่อไป”
ใกล้พบมนุษย์ต่างดาวจริงหรือ วงการนาซาจะทำอย่างไรต่อไปกับ “อูมัวมัว”
เป็นไปได้หรือไม่ หากส่งยานอวกาศไปสำรวจอูมัวมัว กับคำถามนี้ รศ.ดร.ชัยวัฒน์ นิ่งคิดสักพัก และแสดงทรรศนะอย่างเป็นเหตุและผลต่อว่า น่าคิด เพราะมนุษย์เราก็เก่ง เมื่อปี ค.ศ.1986 มนุษย์นี่แหละส่งยานอวกาศไป 5 ลำ ไปเยือนดาวหางแฮร์รี่ สำหรับการคิดส่งยานอวกาศไปสำรวจอูมัวมัว ได้มีการศึกษาและตั้งชื่อโครงการหนึ่งว่า “โครงการไลรา” (Project Lyra) โดยไลรา คือชื่อของกลุ่มดาวพิณ แต่มีปัญหาเยอะ
“ต้องสร้างยานอวกาศที่มีเทคนิคเยอะ ต้องวางแผนอย่างดี เมื่อไปถึงแล้วจะทำอย่างไรจึงจะศึกษามันได้ ปัญหาคืออูมัวมัว เคลื่อนที่เร็วมาก ช้าไปก็ไล่ไม่ทัน หากคิดจะส่งยานอวกาศไปดักแถวดาวพฤหัสบดีก็ได้ หากยานอวกาศสามารถไปลงจอดอูมัวมัวได้ก็จะดี ตอนนี้กำลังมีการเตรียมการศึกษา
แต่ก็มีคำเตือนจากกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ และคนที่เชื่อเรื่องมนุษย์ต่างดาวว่า มนุษย์ต่างดาว ถ้ามาถึงโลกจะมาอย่างศัตรู เพราะการที่เราส่งสัญญาณวิทยุไปสำรวจเขา เราอาจไปบุกรุกเขาแล้วก็ได้ ถ้ามีมนุษย์ต่างดาวอยู่ หรือเขาก็อาจจะศึกษาเราอยู่ก็ได้ แต่ก็ไม่ได้เป็นเรื่องที่น่าวิตกกังวล ต้องติดตามกันต่อ ผมเองก็กำลังติดตามเรื่องนี้ครับ”
อูมัวมัวอยู่ในอวกาศมานาน อาจเป็นพันล้านปีมาแล้ว เคยเข้ามาใกล้โลกมากที่สุดเมื่อ 14 ต.ค. 60 อยู่ห่างจากโลก 24 ล้าน กม. เดินทางผ่านวิถีโคจรของดาวอังคารวันที่ 1 พ.ย. 2560 จะผ่านวิถีโคจรของดาวพฤหัสบดี เดือน พ.ค.2561 และจะเดินทางออกนอกระบบสุริยะในอีกประมาณ 2 หมื่นปี หากอูมัวมัวชนโลก ก็จะสร้างหายนะครั้งใหญ่ และอูมัวมัวจะเป็นยานอวกาศของมนุษย์ต่างดาวหรือไม่ ต้องรอลุ้นติดตามกันต่อไป.
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านข่าวเกี่ยวข้อง