27 มิ.ย. 2511 “โรงหนังลิโด้” ถือกำเนิดขึ้นหลังจากก่อตั้งโรงหนังสยามได้ปีกว่า ต่อมาไม่นาน “โรงหนังสกาลา” ได้เปิดปฐมฤกษ์เมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 2512 ภายใต้การนำทีมของนายพิสิฐ ตันสัจจา ผู้ก่อตั้งโรงภาพยนตร์เครือเอเพ็กซ์

กระทั่งจวบจนปัจจุบัน เป็นเวลากว่า 50 ปีที่ “ลิโด้” และ “สกาลา” อยู่คู่ผืนแผ่นดินสยามสร้างความสุขให้แก่คนไทยมามากมาย

และช่วง 2 ปีที่ผ่านมามีข่าวหนาหูว่า ทางเจ้าของพื้นที่บริเวณนี้ จะ “รื้อ” หรือ “ทุบ” สองโรงหนังเก่าแก่ของสยามทิ้ง หลังหมดสัญญาปี 60… ?

วันนี้มีคำตอบถึง “อนาคต” ของทั้งสองโรงจะเป็นอย่างไร โปรดติดตาม

...

หัวอกผู้ค้าเช่าที่ขายของใต้โรงหนังลิโด้ หลังมีข่าวลือ จุฬาฯ จ่อขอพื้นที่คืน

หลังจากมีข่าวการรื้อโรงหนังลิโด้เพื่อปรับปรุงใหม่ ผู้ประกอบการรายย่อยที่อยู่ในพื้นที่คิดเห็นอย่างไรบ้าง ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ พาไปพูดคุยกับบรรดาพ่อค้าแม่ค้าในลิโด้...

สาวเจ้าของร้านขายรองเท้าจากฝีมือคนไทย กล่าวว่า เพิ่งทราบข่าวเมื่อต้นเดือน ม.ค. นี้เอง แต่ยังไม่แน่ชัด เพราะทางลิโด้ซึ่งเช่าที่กับจุฬาฯ แล้วมาปล่อยเช่าต่อนั้นยังไม่มีการเรียกประชุมใดๆ ตนรู้เพียงว่าจะมีการปรับในเดือน เม.ย.นี้ หรืออาจเลยเดือน เม.ย. ก็เป็นได้ ทั้งนี้ยังไม่แน่นอน แต่ตอนนี้มีนายทุนเจ้าใหญ่ ซึ่งมีคนไทยด้วยมาเทคโอเวอร์แล้ว

สำหรับเรื่องสัญญาเช่า ที่ผ่านมาไม่เคยมีปัญหาใด เพราะต่อสัญญาเช่ากับลิโด้มา 15 ปีแล้ว ค่าเช่าตอนนี้เดือนละ 6 หมื่นบาท ต่อพื้นที่ 4 คูณ 4 ตารางเมตร หากมีการเวนคืนที่ดินโดยนายทุนเจ้าใหญ่ คงต้องไปหาที่ขายของแห่งใหม่ เพราะเขาจะไม่ให้ผู้ประกอบการรายย่อยมาขายแบบนี้ แต่หากจะให้เช่าที่นอกตึกโรงหนังก็แพงมาก มีคนหัวใสปล่อยเช่าช่วงพื้นที่แค่ 3 คูณ 3 ตารางเมตร ราคาเช่าสูงถึง 130,000 บาทต่อเดือน

“เท่าที่รู้คือนายทุนจะรีโนเวททั้ง 3 ชั้น เป็นแบรนด์เสื้อรายใหญ่ที่มีชื่อเสียงของต่างชาติ โรงหนังก็จะไม่มี ที่จริงจุฬาฯ ควรจะจัดสรรพื้นที่รองรับไว้ให้พวกเรา แล้วค่อยๆ รีโนเวทไป เพราะทุกคนก็ต้องมีภาระค่าใช้จ่ายแต่ละเดือนอยู่แล้ว ไม่สนับสนุนคนไทย เอาแต่แบรนด์ดังๆ ต่างชาติมาลง แล้วจะให้คนไทยไปขายอะไร” เจ้าของร้านรองเท้าตัดพ้อ

ขณะที่ แม่ค้าร้านขายเสื้อ กล่าวว่า เสน่ห์ลิโด้คงหายไป เพราะในต่างประเทศก็มีห้างเยอะอยู่แล้ว ขณะที่คนไทยก็ชอบเดินแบบแนวสตรีท และเสนอว่าในเมื่อย่านนี้มีห้างเยอะแล้ว ควรทำเป็นสตรีทดีกว่า ซึ่งขณะนี้ค่าเช่ายังอยู่ในราคาที่ผู้ค้ารายย่อยพอมีกำลังเช่าได้ แต่หากอนาคตรีโนเวททำห้าง คาดว่าค่าเช่าแพงขึ้นแน่นอน เพราะมีการลงทุนที่มากขึ้น ค่าใช้จ่ายการเปิดร้านก็แพงขึ้น และถ้าแพงมากคงสู้ราคาไม่ไหว ตนเป็นเพียงร้านเล็กๆ ตอนนี้สยามไม่ได้บูมเหมือนอย่างอดีตแล้ว ตอนนี้มีไนท์มาร์เก็ตหลายที่ ถ้าสถานที่แพงอยู่ไม่ได้ก็คงต้องไป

...

คลาสสิก ราคาถูก เสน่ห์โรงหนังเก่าแก่กลางแผ่นดินทอง

หนุ่มกรุงเทพฯ วัย 27 ปี เผยเหตุผลว่าตนนิยมมาดูหนังที่สกาลามาเป็น 10 ปีแล้ว เพราะมีความคลาสสิกทุกอย่าง ทั้งตั๋วกระดาษ เลือกล็อกที่นั่งด้วยปากกา ราคาถูกกว่าโรงหนังในห้างใหญ่ ซึ่งปกติราคาจะประมาณ 160 บาท แต่ที่สกาลา 120-140 บาท และเอกลักษณ์ของโรงหนังสกาลา คือ หนังบางเรื่องไม่มีฉายในโรงหนังใหญ่ในห้าง

สำหรับข่าวเรื่องจุฬาฯ จะขอเวนคืนพื้นที่ ตนทราบข่าวและติดตามอยู่ และหากต้องรื้อโรงหนังสกาลาก็รู้สึกเสียดายมาก เพราะโรงหนังสกาลาเปรียบเสมือนสัญลักษณ์หนึ่งของย่านสยามสแควร์ อยากให้ทางจุฬาฯ อนุรักษ์ไว้

...

‘สกาลา’ ร่องรอยประวัติศาสตร์ พรมแดนเชื่อมยุคเปลี่ยนสมัยสถาปัตยกรรม

ด้าน นายอัชชพล ดุสิตนานนท์ นายกสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ อธิบายถึงความสวยงามของโรงหนังสกาลาว่าเหตุใดคนในวงการสถาปนิก ถึงได้มีความรู้สึกหวงแหนอาคารนี้ ว่า ตามประวัติของโรงหนังสกาลามีอายุร่วม 50 ปีแล้ว โดยโรงหนังสกาลาใช้เวลาการสร้างปีกว่า เปิดปฐมฤกษ์เมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 2512 หรือปี ค.ศ.1969 ออกแบบโดยสถาปนิกชื่อดังของเมืองไทย คือ พันเอก จิระ ศิลป์กนก เป็นปูชนียบุคคลของวงการสถาปัตยกรรม

ทั้งนี้ ตัวอาคารถูกสร้างในช่วงรอยต่อระหว่างยุคสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ (Modern Architecture) โดยเป็นการออกแบบอาคารที่เน้นรูปทรงเรียบง่าย เอาพวกลวดลายปูนปั้นทิ้งไป ต่อต้านการตกแต่งประดับประดาอาคาร มีลักษณะบริสุทธิ์ที่เน้นรูปทรงเชิงนามธรรม

ก่อนที่จะเข้าสู่ยุคสถาปัตยกรรมหลังสมัยใหม่ (Postmodern Architecture) ที่ผู้คนเริ่มหลงใหลกับศิลปะยุคเรอแนซ็องส์ และดึงเอาศิลปะลักษณะนี้กลับมาใช้ใหม่ ประจวบเหมาะกับสกาลาซึ่งอยู่ในช่วงรอยต่อพอดี จะได้รับอิทธิพลการผสมผสานตกแต่งในอาคารหลังนี้

...

ทำให้สกาลาเป็นเหมือนกับพรมแดนรอยเชื่อมระหว่างยุคสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ตอนปลายและยุคต้นของสถาปัตยกรรมหลังสมัยใหม่ที่กำลังมาแรงมากทั้งในอเมริกาและในยุโรป ดังนั้น งานชิ้นนี้จึงเป็นงานที่ถูกบันทึกไว้อยู่ในงานสถาปัตยกรรมชั้นดี

นอกจากนี้ อาคารหลังนี้เป็นอาคารแบบฟรีสแตนดิ้ง ยืนอยู่ได้ด้วยตัวเอง หมายความว่า โดยปกติอาคารต่างๆ จะเป็นในลักษณะการใช้งานแบบผสมผสาน แต่สกาลาสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นโรงหนังดีๆ เพียงโรงเดียว หรือที่เรียกกันว่า โรงหนังสแตนอโลน (Stand Alone) สถานที่แห่งนี้จึงมีความสมบูรณ์อยู่ในตัวเอง

“จะให้อธิบายสกาลาสวยตรงจุดไหนบ้าง คงบอกไม่ได้ เพราะความสวยงามของสถาปัตยกรรมไม่ได้เป็นจุดนั้นจุดนี้ แต่เป็นองค์รวมทั้งหมด เหมือนกับผู้หญิงสวย ไม่ใช่ตาสวย ปากสวย จมูกสวย แต่องค์รวมดูออกมาแล้วสวย สกาลาก็เช่นกันครับ” นายกสมาคมสถาปนิกสยามฯ อธิบาย

ทำไมควรอนุรักษ์ ‘โรงหนังสกาลา’ ให้มีอยู่ต่อไป?

นายกสมาคมสถาปนิกสยามฯ ให้ความเห็นในประเด็นดังกล่าวว่า งานสถาปัตยกรรมเกี่ยวโยงกับคุณค่าทางประวัติศาสตร์ และในเมืองไทยไม่ได้มีสกาลาเพียงแห่งเดียว แต่ก่อนหน้านั้นยังมี “โรงหนังเฉลิมเขตร์” ที่ออกแบบโดยสถาปนิกที่มีชื่อของเมืองไทย สกาลาก็เช่นกันที่เป็นสิ่งบ่งบอกถึงประวัติศาสตร์ของงานสถาปัตยกรรม ควรค่าที่จะอนุรักษ์ไว้ให้คนรุ่นหลังได้เข้ามาเรียนรู้และสัมผัส

สำหรับอาคารย่านสยามที่ควรจะเก็บไว้ในมุมมองของตน คือ โรงหนังสกาลา และอาคารบริติช เคานซิลเก่า แต่ในเมืองไทยยังมีสถาปัตยกรรมอีกมากมายที่ควรจะเก็บไว้

“ทุกอาคารล้วนมีคุณค่า ลิโด้ สกาลาก็เช่นเดียวกัน แต่ในความคิดผมลิโด้อันตรายมาก เก่า ทรุดโทรม เสี่ยงเป็นกองเพลิงได้ในอนาคต และตรงนั้นเป็นชุมชนแออัดด้วย ถามว่าลิโด้ควรรื้อทุบได้ไหม สำหรับผมทำได้ เป็นอาคารโมเดิร์นหลังหนึ่งเหมือนกับอาคารราชการทั่วไป แต่เปรียบเทียบกับสกาลาไม่ได้ สกาลามีเกร็ดประวัติศาสตร์ฝังอยู่ในอาคารนั้นมากกว่าลิโด้เยอะ” นายกสมาคมสถาปนิกสยามฯ กล่าว

ข่าวจริง! จุฬาฯ ขอคืนลิโด้ ปรับปรุงห้างใหม่ คงร้านค้าเสน่ห์สยาม

รศ.ดร.วิศณุ ทรัพย์สมพล รองอธิการบดีจุฬาฯ ฝ่ายทรัพย์สิน กล่าวกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ถึงประเด็นดังกล่าวว่า ขอให้แยกเป็น 2 ประเด็น คือ… ลิโด้ และ สกาลา

ประเด็นโรงหนังลิโด้ ทางจุฬาฯ ขอคืนพื้นที่ เนื่องจากปัจจุบันสภาพพื้นที่โดยรวมของร้านค้าใต้ลิโด้ที่แบ่งล็อกให้เช่าเป็นร้านค้ารายย่อยมีสภาพเก่าทรุดโทรมมาก ขาดการปรับปรุงและบำรุงรักษาที่ดี ทำให้มีความเสี่ยงด้านความปลอดภัย จึงจะขอกลับมาพัฒนาพื้นที่เอง

ทั้งนี้ ลังจากลิโด้จัดงานภาพยนตร์ในเดือน พ.ค. และขนย้ายของออกจากพื้นที่ให้เสร็จสิ้นภายในเดือน ก.ค. จึงจะมีการปรับปรุงลิโด้ คาดว่าน่าจะใช้เวลาประมาณ 6-8 เดือน และจะเปิดให้บริการคล้ายๆ กับสยามสแควร์ เป็นห้างโล่งๆ เปิดรับลม และมีช็อปเล็กๆ ที่ขายสินค้าสร้างสรรค์ เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของชาวสยาม เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายย่อยที่มีสินค้าสร้างสรรค์ ไอเดียดี มาขายบนพื้นที่แห่งนี้ แต่คงจะไม่กลับมาเป็นโรงหนังเหมือนเดิม

“ตอนนี้ผมให้ทางทีมเก็บคอนแท็กของผู้ค้าในลิโด้ไว้แล้ว เพื่อนำมาจัดระเบียบโซนนิ่ง สินค้าไหนขายดี เป็นเสน่ห์ของชาวสยามก็ยังคงสงวนไว้อยู่ ส่วนร้านไหนที่สินค้าขายไม่ได้ก็คงต้องหยุดไว้ ขึ้นอยู่กับประเภทของสินค้าด้วยว่าตรงกับรูปแบบไลฟ์สไตล์ของสถานที่หรือไม่ ซึ่งผมคิดว่าที่นี่จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ เป็นจุดหมายของชาวสยามในอนาคต และคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปีหน้าครับ” รศ.ดร.วิศณุ กล่าว

จุฬาฯ ยัน ไม่มีแผนรื้อสกาลา แต่ผู้เช่าแบกรับการขาดทุนไม่ไหว ยอมปิด 2 โรงหนังสยาม

รศ.ดร.วิศณุ กล่าวต่อว่า ส่วนโรงหนังสกาลา ทางจุฬาฯ ยังไม่มีแผนการรื้อทุบใดๆ ทั้งสิ้น และยืนยันว่า ไม่มีความประสงค์ที่จะขอคืนพื้นที่โรงภาพยนตร์สกาลาแต่อย่างใด ยังคงเปิดโอกาสให้เจ้าของสกาลายังทำโรงหนังอยู่ต่อไป แต่ทางเจ้าของยังยืนยันว่า หากขอคืนพื้นที่ลิโด้ ก็ขอหยุดประกอบการสกาลาด้วย เนื่องจากแบกรับการขาดทุนไม่ไหว เพราะลิโด้ยังมีร้านค้าช่วยกันแบกรับการขาดทุนของโรงหนัง แต่เมื่อไม่มีลิโด้แล้ว สกาลาจะต้องแบกรับเองทั้งหมด

นอกจากนี้ ผู้เช่าเป็นผู้เสนอเรื่องเวลาการย้ายออกเองด้วย โดยขอคืนพื้นที่ลิโด้ สิ้นเดือน พ.ค. และขอเวลาขนย้ายถึงสิ้นเดือน ก.ค. 61 ซึ่งจะขอยุติการเช่าของสกาลาไปพร้อมกัน เนื่องจากจะขอฉายภาพยนตร์แบบฟิล์มที่รวบรวมจากนานาประเทศ (International Film Festival) ในเดือน เม.ย. 61 และภาพยนตร์เงียบ (Silent film festival in Thailand) ในเดือน พ.ค. 61 ซึ่งผู้เช่าได้รับสิทธิในการเป็นผู้ฉายภาพยนตร์ดังกล่าว จุฬาฯ จึงได้ขยายระยะเวลาเช่าให้สิ้นสุดลงหลังจากมหกรรมการฉายภาพยนตร์ทั้งสองช่วงเสร็จสิ้นลง พร้อมทั้งให้การช่วยเหลือผ่อนปรนค่าเช่าเพื่อช่วยประคับประคองให้ธุรกิจของผู้เช่าที่อยู่คู่กับสยามสแควร์มาตลอดครึ่งศตวรรษได้ยุติลงด้วยความเรียบร้อย

“ส่วนประเด็นที่ว่าจุฬาฯ ขึ้นค่าเช่านั้น ต้องอธิบายก่อนว่า เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว สกาลาต้องจ่ายค่าแป๊ะเจี๊ยะเป็นเงินก้อนใหญ่หลายสิบล้านบาท และต้องเสียค่าเช่ารายเดือน โดยสัญญาหมดลงเมื่อปี 59 จากนั้นมีการต่อสัญญาปีต่อปี โดยหมดสัญญาเมื่อเดือน ธ.ค. 60 ทางจุฬาฯ ไม่มีค่าแป๊ะเจี๊ยะ มีแต่ค่าเช่ารายเดือน และราคาค่าเช่าเท่าเดิมด้วย ซึ่งถือว่าวันนี้ทางจุฬาฯ ลดค่าเช่าให้อยู่ และค่าเช่าก็ถูกกว่าที่ผ่านมา แต่เขาเองก็อยู่ไม่ไหว มันไม่ใช่ว่าจุฬาฯ ไม่ช่วย แต่เราก็ช่วยเหลือเขาเต็มที่” รศ.ดร.วิศณุ อธิบาย

อนาคตสกาลา จะกลายเป็น...?

จากการชี้แจงข้อเท็จจริง กรณีการพัฒนาพื้นที่โรงภาพยนตร์สกาลา ของสำนักจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ ที่ว่า ‘ที่ผ่านมาทางนายกสมาคมสถาปนิกสยามฯ ได้แสดงความสนใจที่จะขอใช้พื้นที่สกาลาเป็นพื้นที่แสดงกิจกรรมของสมาคม’ นั้น

นายอัชชพล นายกสมาคมสถาปนิกสยามฯ ยอมรับว่า เป็นเรื่องจริง โดยทางสมาคมประสงค์จะจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต หมายความว่า เป็นพื้นที่ที่ประชาชนจะเข้าไปและได้สัมผัสกิจกรรมต่างๆ มีที่แสดงออกของเด็กและเยาวชน จึงติดต่อกับทางสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ อย่างต่อเนื่อง

และพื้นที่สยามเป็นพื้นที่เศรษฐกิจ จะมีความคิดแบบยูโธเปียหรือแนวคิดเชิงอุดมคติ ความฝันก็คงไม่ได้ ต้องดูว่าพื้นที่ปัจจุบันเป็นอาคาร 2 ชั้น พื้นที่ประมาณ 4,000 ตารางเมตร และเป็นประวัติศาสตร์ เป็นโรงหนังเก่า จึงส่งทีมงานไปทาบทามหน่วยงานที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับโรงหนัง ว่า มีใครสนใจที่จะมายืนอยู่คู่กับสมาคมบ้าง แต่สภาพอาจจะต้องปรับ เพราะเป็นโรงหนังขนาดใหญ่ 800 ที่นั่ง อาจจะต้องทำให้เป็นโรงหนังเล็ก 3 โรง และทางทีมงานของสมาคมก็สามารถให้คำแนะนำในเรื่องนี้ได้

และเนื่องจากพื้นที่ตรงนี้มีค่าเช่าค่อนข้างสูง สมาคมจึงหาทางเจรจากับกลุ่มทุน เพื่อแบ่งปันพื้นที่บางส่วนให้ทางกลุ่มทุนช่วยมาสนับสนุน ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการเจรจา ยังไม่สามารถระบุได้ว่ามีกลุ่มไหนบ้าง แต่ในแผนงานมีประมาณ 5-7 กลุ่ม ที่พอที่จะมีกำลังในการเข้ามาจ่ายค่าเช่าพื้นที่ตรงนี้ได้ ให้มาดูแล 2,500 ตารางเมตร ส่วนที่เหลืออีก 1,500 ตารางเมตร จะเป็นของสมาคมและทางทีซีดีซี เพื่อจัดกิจกรรมเพื่อสังคม

“อนาคตมันอาจจะเป็นโรงหนัง โรงละคร หรืออะไรที่เกี่ยวข้องกับการแสดง ต้องดูก่อน แต่อย่างไรก็ตาม อาคารหลังนี้จะไม่ใช่อาคารพาณิชย์แบบที่ทุกคนเข้าใจ แต่มันจะเป็นในเชิงวัฒนธรรม ซึ่งมันไม่เคยมีมาก่อน จะเป็นนวัตกรรมใหม่ของสังคมเลย และทางสมาคมมีเนื้อหาเยอะมากที่ใครหลายคนคิดไม่ถึง แต่เราไม่มีพื้นที่ที่จะจัดแสดง

ขณะที่ ตอนนี้อยู่ในช่วงรวบรวมการประสานของกลุ่มทุน และกำลังจะนัดเข้าไปดูพื้นที่ แต่อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อว่าทางจุฬาฯ มีมโนธรรมเพียงพอที่จะไม่ทุบอาคารหลังนี้ทิ้งครับ” นายกสมาคมสถาปนิกสยามฯ กล่าวทิ้งท้าย

##########

“พอหมดสัญญาเช่า แม้เราจะเป็นผู้ก่อสร้างก็ต้องยกทั้งหมดให้กับเจ้าของที่
ส่วนเขาจะรักที่นี่เหมือนที่เรารักหรือเปล่าก็ไม่รู้
เขาไม่จำเป็นต้องเอาเราไว้ แต่ขอแค่โรงหนังสกาลายังคงอยู่ต่อไปก็พอ”
นันทา ตันสัจจา เจ้าของโรงหนังลิโด้-สกาลา เคยกล่าวไว้กับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์

อนาคตเราจะได้เห็นลิโด้-สกาลา ปรับปรุงโฉมในรูปแบบไหน คงไม่นานเกินรอ...

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง