10 ยอดข่าววิทยาศาสตร์โลก ตามการจัดอันดับของ รองศาสตราจารย์ ดร.ชัยวัฒน์ คุประตกุล กูรูวิทยาศาสตร์ไทย ใน EP.2 นี้ จะมีอะไรที่น่าสนใจกันบ้าง แฟนๆ ไทยรัฐออนไลน์ สามารถเหวี่ยงสายตาลงไปละเลียดอ่านอย่างมีความสุข ฉลองปีใหม่ได้ นับจากบรรทัดนี้เป็นต้นไป
แต่ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ขอเกริ่นไฮไลต์สั้นๆ ยั่วใจเพียงว่า มีทั้ง...
ความคืบหน้า ความพยายามผ่าตัด ตัดหัวมนุษย์ไปใส่ในร่างใหม่
การค้นพบ วัตถุจากนอกระบบสุริยะแรกสุด ที่อาจจะเป็นจานบินเอเลี่ยน
เอาล่ะ ไม่พูดพร่ำทำเพลงกันแล้ว.. เราไปเริ่มที่อันดับ 5 กันก่อนเลยดีกว่า
...
อันดับที่ 5 โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศถอนสหรัฐฯ จากข้อตกลงปารีส
ต้นเดือนมิถุนายน พ.ศ.2560 ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศถอนสหรัฐอเมริกาจากข้อตกลงปารีส ค.ศ.2015 (Paris Agreement 2015) ส่งผลกระทบต่อความพยายามของนานาชาติในการแก้ปัญหาโลกร้อน
วันที่ 1 เดือนมิถุนายน พ.ศ.2560 ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศถอนสหรัฐอเมริกาออกจากข้อตกลงปารีส ซึ่งสหรัฐอเมริกาได้ให้สัตยาบันรับรองไปก่อนแล้วในยุคสมัยที่ บารัค โอบามา เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ เหตุผลที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศในการถอนสหรัฐฯ จากข้อตกลงปารีส 2015 เพราะการปฏิบัติตามข้อตกลงเป็นภาระ และผลเสียต่อเศรษฐกิจของประเทศ และโดนัลด์ ทรัมป์ เชื่อว่าปัญหาเรื่องโลกร้อนเป็นเรื่องไม่จริง
ข่าวสารข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับปัญหาโลกร้อน ว่าโลกร้อนเป็นผลการกระทำของฝีมือมนุษย์ เป็นข่าวสารข้อมูลที่ “ไม่จริง“ หรือ “fake news“ สร้างขึ้นมาโดยนักวิทยาศาสตร์เอง
ก่อนการประกาศถอนสหรัฐฯ จากข้อตกลงปารีส 2015 ของนายโดนัลด์ ทรัมป์ โลกได้เห็นสัญญาณที่ดีของการแก้ปัญหาที่ชัดเจนจากการแถลงร่วมกันของผู้นำสหรัฐอเมริกา (บารัค โอบามา) และผู้นำประเทศจีน (สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน) ในการสนับสนุนข้อตกลงปารีส 2015 ที่มีเป้าหมายหลักคือ การควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส จากระดับอุณหภูมิช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม และความพยายามจำกัดการเพิ่มของอุณหภูมิ 1.5 องศาเซลเซียส จากระดับอุณหภูมิช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม
สหรัฐอเมริกา และประเทศจีน เป็นสองประเทศที่ปล่อยแก๊สเรือนกระจกเข้าสู่บรรยากาศมากที่สุดของโลก และทั้งสองประเทศก็ปฏิเสธไม่ยอมลงสัตยาบันรับรอง “พิธีสารเกียวโต“ (Kyoto Protocol) จนกระทั่งพิธีสารเกียวโตหมดอายุไปเมื่อปี พ.ศ.2555 และมี “ข้อตกลงปารีส 2015“ เป็นผลความพยายามร่วมมือกัน เพื่อแก้ปัญหาโลกร้อนล่าสุดของนานาประเทศ
การประกาศถอนสหรัฐอเมริกาจากข้อตกลงปารีส จะยังไม่มีผลอย่างเป็นทางการ ก่อนวันที่ 4 เดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2563 แต่ก็มีผลอย่างเป็นรูปธรรมในทันทีที่โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศความตั้งใจ เพราะก็กลายเป็นนโยบายและการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ทั้งภายในประเทศสหรัฐอเมริกาและโลก
...
การประกาศถอนสหรัฐฯ จากข้อตกลงปารีส 2015 ของโดนัลด์ ทรัมป์ ถูกคัดค้านจากประเทศส่วนใหญ่ของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มประเทศยุโรปและจีน ซึ่งแสดงเจตนารมณ์ชัดเจนในการร่วมมือกันช่วยแก้ปัญหาโลกร้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศจีนที่กลายเป็นประเทศนำของโลกในเรื่องนี้ ส่วนกลุ่มประเทศยุโรป เป็นกลุ่มประเทศที่มีบทบาทสำคัญช่วยแก้ปัญหาโลกร้อนอย่างเป็นรูปธรรมตามพิธีสารเกียวโต
อันดับที่ 4 หนูสองหัว และคนเปลี่ยนหัวคน
กลางเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2560 นายแพทย์ชาวอิตาลี แถลงข่าวที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ว่า เขาและคณะแพทย์ที่ประเทศจีน ประสบความสำเร็จในการผ่าตัดเปลี่ยนศีรษะมนุษย์สองคน โดยที่มนุษย์ทั้งสองคนนั้นเป็นคนที่เสียชีวิตแล้ว
โดยก่อนหน้านี้ คือเมื่อเดือนพฤษภาคม คณะของเขาก็ประสบความสำเร็จผ่าตัดนำเอาหัวของหนูตัวหนึ่งไปต่อเข้ากับหนูอีกตัวหนึ่ง เกิดเป็นหนูสองหัว มีชีวิตอยู่ได้ประมาณ 36 ชั่วโมง ทั้งหมดนี้นายแพทย์อิตาลีแถลงว่า เป็นความก้าวหน้าสู่การผ่าตัดเปลี่ยนศีรษะคนที่ยังมีชีวิตอยู่ตามโครงการของเขา
...
เมื่อกลางเดือนเมษายน ปี พ.ศ.2558 นายแพทย์อิตาลี เซอร์จิโอ คานาเวอร์โร (Sergio Canavero) แถลงข่าวเปิดตัวอาสาสมัครคนแรกคือ หนุ่มรัสเซีย ชื่อ วาเลอรี สปิโรโดนอฟ (Valery Spirodonov) ที่จะรับการผ่าตัดเปลี่ยนศีรษะกับคนที่ร่างกายยังสมบูรณ์ (แต่สมองตาย) และประกาศว่าการผ่าตัดเปลี่ยนหัวคนของเขาจะเกิดขึ้นในช่วงปลายปี พ.ศ.2560
ถึงวันที่ 17 เดือนธันวาคม พ.ศ.2560 นายแพทย์คานาเวอร์โร ก็ได้แถลงข่าวที่กรุงเวียนนาว่า เขาและคณะแพทย์จีน ที่มหาวิทยาลัยการแพทย์ฮาร์บิน (Harbin Medical University) ประเทศจีน มี นพ.เซียวพิง เร็น (Siaoping Ren) เป็นหัวหน้าคณะ ได้ประสบความสำเร็จ ทำการทดลองผ่าตัดเปลี่ยนศีรษะของคนคนหนี่ง ไปต่อเข้ากับร่างของคนอีกคนหนึ่ง โดยเป็นการทดลองผ่าตัดเปลี่ยนศีรษะของศพสองศพ ใช้เวลาผ่าตัดประมาณ 18 ชั่วโมง ได้ผลออกมาน่าพอใจ โดยรายละเอียดผลการทดลองนั้น ให้รอรายงานผลที่จะมีการตีพิมพ์เผยแพร่ต่อไป
...
นอกเหนือไปจากการแถลงข่าวการผ่าตัดเปลี่ยนหัวคนแล้ว นายแพทย์คานาเวอร์โร ก็ได้แถลงข่าวความสำเร็จในการทดลองผ่าตัดนำเอาหัวของหนูตัวหนึ่งไปต่อเข้ากับส่วนตรงคอด้านบนของหนูอีกตัวหนึ่งที่ใหญ่กว่า เกิดเป็นหนูสองหัว โดยทำการทดลองกับหนูหลายคู่ ได้ผลสรุปออกมาเป็นหนู 14 คู่ ที่มีชีวิตอยู่หลังการผ่าตัดเปลี่ยนหัวเป็นเวลาเฉลี่ย 36 ชั่วโมง
การทดลองตัดต่อหัวหนูเกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2560 มีนายแพทย์เซียวพิง เร็น เป็นหัวหน้าคณะ หลังการแถลงข่าวของนายแพทย์คานาเวอร์โร มีการถกเถียง วิพากษ์ และตั้งประเด็นความเป็นไปได้จริงหรือไม่ตามการแถลงข่าว เช่น การผ่าตัดเปลี่ยนศีรษะศพสองศพมีนัยอย่างเป็นสาระหรือไม่ เพราะจะแตกต่างอย่างแน่นอนกับการผ่าตัดเปลี่ยนศีรษะของคนเป็นๆ อีกทั้งประเด็นความเหมาะสมทางด้านจริยธรรม ของชีวิตมนุษย์ด้วย
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของประโยชน์จากโครงการของนายแพทย์คานาเวอร์โร โดยยังไม่ต้องถึงประเด็นความเป็นไปได้จริงหรือไม่ และข้อถกเถียงทางด้านจริยธรรมที่ยังเห็นเป็นประโยชน์ได้บ้างคือ ความรู้จากโครงการของนายแพทย์คานาเวอร์โร อาจจะเป็นประโยชน์เชิงการแพทย์ สำหรับการบำบัดรักษาความผิดปกติ หรือความเจ็บป่วยที่เกี่ยวกับ ไขสันหลัง เส้นเลือด และเส้นประสาท
อันดับที่ 3 อูมัวมัว ผู้มาจากนอกระบบสุริยะ
กลางเดือนตุลาคม พ.ศ.2560 มีการค้นพบวัตถุแรกสุดจากนอกระบบสุริยะ ซึ่งได้รับการตั้งชื่อเรียกต่อมาเป็น Oumuamua (อูมัวมัว) ถึงประมาณต้นเดือนธันวาคม อูมัวมัวก็กลายเป็นเป้าความสนใจของวงการทั่วไป เมื่อมีกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ เช่น สตีเฟ่น ฮอว์กกิ้ง แสดงความคิดเห็นว่า อูมัวมัว อาจเป็นยานอวกาศของมนุษย์ต่างดาวจากนอกระบบสุริยะ
วันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ.2560 โรเบิร์ต เวรีค (Robert Weryk) และคณะนักดาราศาสตร์ ค้นพบอูมัวมัวจากภาพถ่ายโดยกล้องโทรทรรศน์ Pan – Starrs ที่หอดูดาวฮาลีอาคาลา (Haleakala Observatory) ในฮาไว สหรัฐอเมริกา ประกอบกับข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์ในชิลี และกล้องโทรทรรศน์เคกค์ 2 (KECK II) ในฮาไว โดยเมื่อค้นพบสิ่งใหม่ๆ และจากการศึกษาเบื้องต้นพบว่า อูมัวมัวมีสภาพคล้ายกับดาวหาง (Comet) จากนอกระบบสุริยะ จึงได้รับการตั้งชื่อในตอนแรกเรียกเป็น C / 2017 U1 (โดย IAU หรือ International Astronomical Union)
ต่อมาพบว่า อูมัวมัว มีสภาพเป็นดาวเคราะห์น้อย (Asteroid) มากกว่าดาวหาง จึงได้รับการตั้งชื่อเรียกใหม่เป็น A / 2017 U1 แต่ต่อมาอีก จากข้อมูลที่ชัดเจนขึ้นอีกของอูมัวมัวว่า เป็นวัตถุจากนอกระบบสุริยะอย่างแน่ชัด จึงนับเป็นวัตถุจากนอกระบบสุริยะแรก และจึงถูกกำหนดให้เป็นวัตถุประเภทใหม่ คือ Interstellar Object (วัตถุนอกระบบสุริยะ หรือวัตถุระหว่างดวงดาว) มีชื่อย่อเรียกเป็น I และอูมัวมัวจึงมีชื่อเรียกตามระบบใหม่ เป็น 1 I คือ วัตถุนอกระบบสุริยะ อันดับ 1
สาเหตุที่อูมัวมัวได้รับการกำหนดให้เป็นวัตถุจากนอกระบบสุริยะแรกสุด ก็เพราะ (1) อูมัวมัว เคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงมาก สูงกว่าวัตถุจำพวกดาวหางและดาวเคราะห์น้อยที่มีอยู่ในระบบสุริยะ และ (2) วิถีการเคลื่อนที่ของอูมัวมัวเป็นแบบไฮเปอร์โบลา ไม่ใช่แบบวงกลม หรือวงรี เช่น ดาวหาง หรือดาวเคราะห์น้อยในระบบสุริยะ
สำหรับสาเหตุที่อูมัวมัวกลายเป็นเป้าความสนใจของคนทั้งโลกกันในปัจจุบัน ก็เพราะว่า ประมาณต้นเดือนธันวาคม เริ่มมีนักดาราศาสตร์บางคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่มีนักดาราศาสตร์มีชื่อ เช่น สตีเฟ่น ฮอว์กกิ้ง ออกมาแสดงความคิดเห็นว่า อูมัวมัว อาจเป็นยานอวกาศของมนุษย์ต่างดาว คือ เอเลี่ยนจากนอกระบบสุริยะ ด้วยเหตุผลหลักๆ ว่า รูปร่างของอูมัวมัวที่เป็นรูปยาวคล้ายซิการ์ ยาวประมาณ 400 เมตร และส่วนกลางที่โป่ง มีเส้นผ่าศูนย์กลาง อาจประมาณ 100 เมตร เป็นรูปร่างที่ไม่ปกติธรรมดาของดาวหาง หรือดาวเคราะห์น้อยทั่วไป จริงๆ แล้วเป็นรูปร่างที่นักดาราศาสตร์กล่าวว่า ถ้ามนุษย์จะสร้างยานอวกาศออกนอกระบบสุริยะ ไปเยือนดาวบ้านเกิดของมนุษย์ต่างดาวแล้ว รูปร่างที่เหมาะสมก็คือแบบของอูมัวมัว
ถึงแม้วงการดาราศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่าอูมัวมัวไม่ใช่ยานอวกาศของมนุษย์ต่างดาว แต่จากการที่อูมัวมัวเป็นวัตถุแรกสุดจากนอกระบบสุริยะที่เดินทางมาถึงโลก ดังเป็น “แนวหน้า“ หรือ “หน่วยสอดแนม“ ก็เป็นแรงกระตุ้นให้ตั้งชื่อของวัตถุแรกสุดจากนอกระบบสุริยะเป็นอูมัวมัว ซึ่งเป็นภาษาฮาไว แปลว่า “ทหารแนวหน้า“ หรือ “หน่วยสอดแนม“ หรือ “ลูกเสือ“
ก่อนชื่อ “อูมัวมัว“ ก็มีการเสนอชื่อ “Rama“ หรือ “ราม“ จากชื่อยานอวกาศจากต่างดาวในนิยายวิทยาศาสตร์เรื่อง Rendezvous With Rama ของอาเทอร์ ซี. คลาร์ก
กลางเดือนธันวาคม โครงการ Breakthrongh Listen นำโดย สตีเฟ่น ฮอว์กกิ้ง ใช้กล้องโทรทรรศน์วิทยุขนาดใหญ่ของกรีนแบงก์ (Green Bank Telescope) สำรวจอูมัวมัว เพื่อตรวจจับสัญญาณสื่อสาร หรือที่ไม่เป็นธรรมชาติ ถ้าอูมัวมัวเป็นยานของมนุษย์ต่างดาว ผลการตรวจสอบครั้งแรกไม่พบสัญญาณที่ชวนสงสัยว่าเป็นสัญญาณเกิดจากสิ่งที่ไม่ใช่ธรรมชาติ คือไม่ใช่ของมนุษย์ต่างดาว แต่ก็ยังมีการตรวจสอบต่อๆ ไปอีก
อูมัวมัว มีทิศทางการเคลื่อนที่จากทางกลุ่มดาวพิณ (Lyra) เข้าใกล้โลกมากที่สุด เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม โดยอยู่ห่างจากโลกประมาณ 24 ล้านกิโลเมตร กำลังเคลื่อนที่ไปทางกลุ่มดาวม้าบิน (Pegasus) และจะเดินทางออกไปพ้นจากระบบสุริยะในอีกประมาณ 20,000 ปีข้างหน้า
วงการดาราศาสตร์คาดว่าจะมีการค้นพบวัตถุจากนอกระบบสุริยะ เช่น อูมัวมัว เพิ่มมากขึ้น จากเทคโนโลยีการตรวจจับวัตถุ เช่น อูมัวมัว ที่ก้าวหน้าขึ้น
อันดับที่ 2 ระเบิดนิวเคลียร์และขีปนาวุธข้ามทวีปของเกาหลีเหนือเขย่าโลก
ในรอบปี พ.ศ.2560 เกาหลีเหนือประกาศความสำเร็จในการทดลองระเบิดไฮโดรเจน และการพัฒนาขีปนาวุธข้ามทวีป สามารถติดหัวรบนิวเคลียร์ มีพิสัยยิงไปไกลถึงชิคาโก ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา โดนัลด์ ทรัมป์ ขู่จะถล่มเกาหลีเหนือให้พินาศ การตอบโต้ระหว่างผู้นำสหรัฐฯ และเกาหลีเหนือ ส่งผลให้โลกตกอยู่ในภาวะความตึงเครียดจากภัยสงครามนิวเคลียร์
เกาหลีเหนือประสบความสำเร็จทดลองระเบิดนิวเคลียร์ได้ครั้งแรก เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.2549 ถึงปี พ.ศ.2560 เป้าหมายใหญ่ของเกาหลีเหนือคือ การสร้างระเบิดโฮโดรเจน และขีปนาวุธข้ามทวีป โดยอ้างว่าเพื่อการป้องกันตนเองจากการข่มขู่และโจมตีของสหรัฐอเมริกา
วันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ.2560 เกาหลีเหนือ ประกาศความสำเร็จในการทดสอบขีปนาวุธข้ามทวีปที่ “สามารถยิงถึงที่ไหนก็ได้ ทุกแห่งทั่วโลก“
วันที่ 3 กันยายน พ.ศ.2560 เกาหลีเหนือประกาศความสำเร็จในการทดลองระเบิดไฮโดรเจน (เป็นการทดลองระเบิดนิวเคลียร์ครั้งที่ 6 ของเกาหลีเหนือ) และเป็นระเบิดไฮโดรเจนที่สามารถติดเป็นหัวรบของขีปนาวุธข้ามทวีปของเกาหลีเหนือได้
ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ และทางการสหรัฐฯ ตอบโต้เกาหลีเหนืออย่างรุนแรง และเรียกร้องให้องค์การสหประชาชาติและประเทศต่างๆ ที่มีอิทธิพลต่อเกาหลีเหนือ ร่วมกันกดดันและสร้างมาตรการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือ
องค์การสหประชาชาติก็ได้มีมติหลายครั้ง คว่ำบาตรเกาหลีเหนือทางด้านเศรษฐกิจและอื่นๆ แต่ที่รุนแรงที่สุดคือ การโต้ตอบโดยตรงอย่างรุนแรง ระหว่าง โดนัลด์ ทรัมป์ กับผู้นำเกาหลีเหนือ คิม จอง อึน โดยโดนัลด์ ทรัมป์เรียก คิม จอง อึน ว่า “มนุษย์จรวด“ และขู่เมื่อวันที่ 8 เดือนสิงหาคม 2560 ว่า ถ้าไม่หยุดคุกคามสหรัฐฯ เกาหลีเหนือก็จะต้องเผชิญกับ “ไฟและการทำลายล้างอย่างที่โลกไม่เคยเห็นมาก่อน“ ส่วน คิม จอง อึน ก็เรียก โดนัลด์ ทรัมป์ ว่า “คนเสียสติ“ และขู่กลับว่า “จะถล่มเกาะกวมให้ลุกเป็นไฟ“
ถึงปลายปี พ.ศ.2560 สถานการณ์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับเกาหลีเหนือก็ยังตึงเครียด ถึงแม้จะมีสัญญาณจากทางนักการเมืองฝ่ายสหรัฐฯ บางคนว่า ทางออกดีที่สุดคือน่าจะมีการ “คุยกัน“ โดยไม่มีเงื่อนไข ซึ่งประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลกก็เห็นคล้อยตามกันว่า วิธีการผ่อนคลายความตึงเครียดจากการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ คือ “การเจรจา“
อันดับที่ 1 พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระมหากษัตริย์นักวิจัยและพัฒนา
วันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ.2560 พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช องค์พระมหากษัตริย์นักวิจัยและพัฒนา อย่างสมพระเกียรติ ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง กรุงเทพมหานคร
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 แห่งราชอาณาจักรไทย เสด็จสวรรคต ณ โรงพยาบาลศิริราช วันที่ 13 ตุลาคม 2559 ตลอดช่วงเวลาจากวันเสด็จสวรรคต ถึงวันพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ วันที่ 26 ตุลาคม 2560 พสกนิกรชาวไทยทั้งประเทศและทั่วโลก ร่วมถวายความอาลัยแด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ผู้เสด็จสู่สวรรคาลัยแล้วอย่างพร้อมเพรียง
รวมทั้งประมุขและผู้นำประเทศทั่วโลก อีกทั้งองค์กรสำคัญระหว่างประเทศ เช่น สหประชาชาติ และยูเนสโก ได้ร่วมถวายความอาลัยและรำลึกในพระอัจฉริยภาพ อีกทั้งพระมหาเกียรติคุณขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ของประเทศไทย ที่พระองค์ทรงอุทิศพระวรกายและน้ำพระทัย ทรงงานอย่างหนักตลอดช่วงเวลา 70 ปี แห่งการครองราชย์ จนกระทั่งถึงวาระสุดท้ายก่อนการเสด็จสู่สวรรคาลัย
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงเป็นนักวิทยาศาสตร์ผู้มีพระอัจฉริยภาพ เป็นที่ประจักษ์แก่วงการวิทยาศาสตร์ทั้งของไทยและของโลก ในการทรงงานทางด้านวิทยาศาสตร์ของพระองค์ เป็นการทรงงานอย่างเป็นกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่แท้จริง ทรงสร้างผลงานจากกระบวนการวิจัยและพัฒนา จนกระทั่งเกิดเป็นผลงานที่นำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเป็นรูปธรรม มิใช่เฉพาะคนไทยและแผ่นดินไทย แต่ยังเป็นที่ยอมรับและนำไปใช้ในประเทศต่างๆ หลายประเทศ
อีกทั้งเป็นที่ยกย่อง และได้รับการเทิดพระเกียรติจากองค์กรระหว่างประเทศ เช่น องค์การสหประชาชาติ และยูเนสโก เช่น การทำฝนเทียม จนกระทั่งเกิดมีวันสำคัญทั้งของประเทศไทย และระดับโลก จากผลงานและพระอัจฉริยภาพของพระองค์ เช่น วันนวัตกรรมแห่งชาติ (วันที่ 5 ตุลาคม ของทุกปี) และวันเทคโนโลยีไทย (วันที่ 19 ตุลาคม ของทุกปี) ส่วนในระดับโลก ทุกวันที่ 5 เดือนธันวาคม ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพ ก็ได้รับการเทิดพระเกียรติเป็น “Word Soil Day“ หรือ “วันดินโลก“
ในวันประวัติศาสตร์แห่งความทรงจำของปวงชนชาวไทย 26 ตุลาคม พ.ศ.2560 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จฯ ถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ณ พระเมรุมาศ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง โดยมีกษัตริย์ พระราชวงศ์ ผู้นำประเทศ ตัวแทนผู้นำประเทศกว่า 42 ประเทศ และปวงประชาชนคนไทย ร่วมถวายพระเพลิงพระบรมศพอย่างสมพระเกียรติ.
รองศาสตราจารย์ ดร.ชัยวัฒน์ คุประตกุล Kshaiwat4@gmail.com