“เกม” ในสายตาของผู้ใหญ่ อาจเป็นตัวร้ายทำลายอนาคตลูกหลาน เป็นบ่อเกิดแห่งความก้าวร้าว เลียนแบบ และทำให้เด็กเสียการเรียน มันเลวร้ายขนาดนั้นเชียวหรือ..?

ในปัจจุบัน “เกม” ถูกยอมรับจากผู้ใหญ่มากขึ้น ถึงขั้นส่งเสริมให้เป็น “กีฬา E-Sport”

แต่การเล่นเกมอย่างเดียว โดยไม่สนใจอะไรมันก็ไม่น่าจะใช่เรื่องดี เพราะจะมีสักกี่คนที่ไปถึงฝั่งฝันได้เป็นนักกีฬา E-sport และนี่ก็เป็นอีก 1 เหตุผลที่พ่อแม่ไม่ปลื้มที่จะเห็นลูกๆ ติดเกมงอมแงม

จากปัญหาเด็กติดเกม... ทำให้เราพบเจอกับรายการ LET ME GROW พลิกชีวิตเด็กติดเกม สารคดี กึ่งเรียลลิตี้ ที่นำเด็กติดเกมขั้น “รุนแรง” รวม 61 คน มาบำบัด ซึ่งออกอากาศทางช่อง GMM 25 เมื่อปีก่อน หากใครได้ดูรายการนี้ ก็คงทราบว่าปัญหาเด็กติดเกมนั้น บางทีก็ไม่ได้เริ่มจากตัวเด็กเสมอไป..ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ มีโอกาสได้พูดคุย “พัฒน์ บุญนิธิพัฒน์” ผู้กำกับสารคดีชุดนี้ ซึ่งได้ให้แง่มุมที่คมคายเกี่ยวกับเด็กติดเกม นอกจากนี้ ยังได้ แพทย์หญิงวิมลรัตน์ วันเพ็ญ รองผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ มาให้ความรู้เกี่ยวกับปัญหาเด็กติดเกม ด้วย โดยเผยว่า “เด็กติดเกม” ที่มีปัญหาจริงๆ นั้น จะมี “อาการป่วย” รวมอยู่ด้วย

ภาพจาก สารคดี LET ME GROW
ภาพจาก สารคดี LET ME GROW

...

สะท้อนปัญหาเด็กติดเกม สารคดีที่น่าสนใจ

เพื่อสะท้อนมุมมองของเด็กที่เข้ามา “บำบัด” อุปสรรคคืออะไร ผู้กำกับหนุ่มไฟแรง ที่กำกับสารคดี LET ME GROW บอกเล่าให้ฟังว่า สารคดีชุดนี้ เริ่มต้นจาก รศ.นพ.ชาญวิทย์ พรนภดล จิตแพทย์เด็กจากศิริราช ซึ่งตนมีรุ่นน้อง ซึ่งเป็นลูกของคุณหมอ ได้ติดต่อเข้ามา ทีแรกต้องการให้เก็บภาพบรรยากาศในแคมป์บำบัดเกมเท่านัน แต่ตนเห็นว่าหากจะทำทั้งที ก็อยากที่จะทำในแนวทางของตัวเอง และไม่ต้องการเรียกร้องเงินอยู่แล้วจึงเป็นจุดเริ่มต้นของสารคดีชุดนี้

ขอบคุณคลิป - Siriraj Healthygamer

พัฒน์ บอกว่า ตอนแรกไม่รู้อะไรเลย แต่ชีวิตก็เคยติดเกมมาเหมือนกัน เคยมีปัญหาทะเลาะกับแม่เหมือนกัน แต่เมื่อมาทำก็ได้เริ่มต้นด้วยการพูดคุยกับเด็กทั้ง 61 คนที่เข้าแคมป์เพื่อคัดเลือกคนที่จะมาเล่า (เลือกได้ 4 คน เพราะสามารถสื่อสารต่อหน้ากล้องได้ดี)

“ให้เล่าเรื่องอะไรก็ได้ให้ฟังหน่อย..” 1 คำถาม สะท้อนร้อยพันความรู้สึก 

พัฒน์ เล่าว่า ที่ถามเด็กแบบนี้ เพราะไม่อยากตัดสินว่าพวกเขาเหล่านี้คือ “เด็กติดเกม” แต่สิ่งที่ได้จากคำถาม กลับเป็นเรื่องราวทั้งชีวิตเขาเด็กๆ ที่เล่าเรื่องราวมากมาย ความสุข ความเศร้า การกลั่นแกล้ง ทะเลาะเบาะแว้ง ปัญหาในครอบครัว หรือเข้าสังคมเพื่อนไม่ได้...

เมื่อได้ฟัง...รู้สึกว่า เรื่องนี้ใหญ่พอที่จะเป็นรายการทีวีได้ และสิ่งสำคัญคือ เรารู้สึกว่า รากเหง้าของปัญหาเด็กติดเกม ส่วนหนึ่งมาจากความสัมพันธ์ในครอบครัว ที่เกิดจาก generation gap (การสื่อสารระหว่างผู้ใหญ่และเด็ก บางคนที่ติดเกมมากๆ เพราะพ่อแม่ที่พยายามห้ามลูกเล่น.. แต่ยิ่งกลับทำให้เขาติดเกม

พัฒน์ บุญนิธิพัฒน์
พัฒน์ บุญนิธิพัฒน์

พัฒน์ กล่าวอีกว่า สิ่งสำคัญที่สุดที่เราพบคือ “ความสัมพันธ์” และ “การสื่อสารระหว่างเด็กและผู้ใหญ่” คนปัจจุบันพร้อมที่จะพูดสิ่งที่ตัวเองคิด... แต่น้อยคนที่จะรับฟัง โดยเฉพาะผู้ใหญ่ที่มีแนวโน้มที่จะ “เลือกรับฟัง” ฟังในสิ่งที่ผู้ใหญ่อยากฟัง ทั้งนี้ ก็เป็นเรื่องเข้าใจได้ว่า ผู้ใหญ่มีภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ ประคับประคองครอบครัว ดูแลเรื่องการเรียนของเด็ก ต้องคิดเยอะเพื่อเลี้ยงลูกให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ”

...

“แต่บางที ความรัก ความเอาใจใส่บางอย่าง อาจจะบั่นทอนใจเด็ก โดยเฉพาะการตัดสินเรื่องของเด็กในมุมมองผู้ใหญ่ ยกตัวอย่างลูกมีปัญหามาเล่าให้ฟัง แต่ปรากฏว่าพ่อแม่กลับบอกว่า “เรื่องเล็ก..ไม่ต้องคิดมาก ไม่ต้องเสียใจ..” ทั้งที่เรื่องบางเรื่องสำหรับเขาแล้ว อาจจะยิ่งใหญ่เหมือนกับปัญหาของพ่อแม่ที่อาจกำลังจะตกงาน พอเป็นแบบนี้จะกลายเป็นว่าผู้ใหญ่ไม่เข้าใจเด็ก จากนั้นเขาจะไม่เล่าอะไรให้ฟังอีก และก็เป็นแบบนั้นจริงๆ คือ เรื่องที่เด็กๆ เล่ากับรายการ เป็นเรื่องที่เขาไม่เคยเล่าให้พ่อแม่ฟังเลย..”

...

ในมุมมองของพัฒน์ การเล่นเกม นั้น ไม่สามารถฟันธงได้ ว่าเป็นสิ่งดี หรือ ไม่ดี เพราะโลกของเกมมันกว้างใหญ่มาก มีทุกรูปแบบ ทุกเพศ ทุกวัย ซึ่งไม่เหมือนยาเสพติด ซึ่งรู้อยู่แล้วว่ามันไม่ดี แต่เกมจะดีหรือไม่ ขึ้นอยู่กับคนเล่น บริบทการเล่น ซึ่งเด็กเองก็ไม่สามารถบอกผู้ใหญ่ได้ว่า เกม คือสิ่งดี แต่ในความเป็นจริงแล้วเกม ก็ไม่ได้แย่ 100% เช่นเดียวกัน

วิธีการปรับความเข้าใจ... คิดว่าผู้ใหญ่คนนั้นต้องรู้จักเข้าหาเด็ก หรือ สังคมของลูก จากนั้นผู้ใหญ่คนนั้นจะต้องไปตัดสินเอง ว่าอะไรดีหรือไม่ดี ไม่ใช่ฟังจากสิ่งที่คนอื่นบอก เพราะเกมเป็นแค่สื่อกลางแบบหนึ่งที่เกิดขึ้นในยุคสมัย มันคือการระบายออก หรือ เสพอะไรบางอย่างที่มนุษย์มีมาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ซึ่งในยุคนี้อาจจะเป็นเกม ความรู้สึกสนุก ตื่นเต้น อยากมีสังคม ทุกอย่างมันอยู่ในเกมทั้งหมด ดังนั้น การจะตัดสินอะไรนั้น อยากให้ได้เข้าไปดูซึมซับกับมันก่อน ไม่ใช่ ทำในสิ่งที่คนอื่นบอกๆ กันมา

ต่างกันสุดขั้ว! ติดเกม VS เล่นเกม

ความเห็นทั้งหมดของพัฒน์ สะท้อนความรู้สึกของเด็กผ่านค่ายบำบัดเกมที่เคยจัดขึ้น แต่สำหรับด้านจิตแพทย์เด็ก อาการติดเกมนั้น สามารถแยกออกเป็น 2 ส่วน คือ “ติดเกม” ขึ้นรุนแรงจริงๆ ที่มีอาการป่วยผสมด้วย กับการ "เล่นเกม" ที่อาจจะมากกว่าปกติ

...

แพทย์หญิงวิมลรัตน์ ทำความเข้าใจว่า.. ก่อนอื่นต้องแยกออกก่อน ว่าเด็กเล่นเกม กับ เด็กติดเกม แตกต่างกัน

เด็กเล่นเกม : ยกตัวอย่างเช่น มีเด็กโรงเรียนชื่อดังของประเทศบางคน เวลาปิดเทอมกลางวันจะนอน กลางคืนจะตื่นมาเล่นเกมเพื่อแข่งขันกับเด็กต่างชาติ เรียกว่า แทบจะไม่กินข้าวเลย แต่พอเปิดเทอมก็กลับมาตั้งใจเรียนปกติ และผลการเรียนก็ออกมาดีมากๆ ก็มี

หรือบางรายที่อาจจะส่งผลกระทบบ้าง เช่น การบ้านทำไม่เสร็จ ส่งไม่ครบ แต่ก็ยังคงทำมาส่งบ้าน หรือ เล่นแล้วผลการเรียนตก แต่ไม่ถึงกับละทิ้งหน้าที่ แบบนี้จะเรียกว่า “เด็กเล่นเกม”

เด็กติดเกม : จะขาดความรับผิดชอบ ไม่เรียนหนังสือ ไม่ส่งงาน ไม่ไปโรงเรียน ไม่กินข้าว ทั้งนี้ เส้นแบ่งระหว่าง เด็กเล่นเกม กับ ติดเกม คือ ดูที่พฤติกรรมเสพติด เหมือนกับกลุ่มยาเสพติด คือ “ต้องเล่นมากขึ้นเรื่อยๆ จนรู้สึกพอใจ” ถ้าไม่ได้เล่นเกม ก็จะรู้สึกหงุดหงิด เหมือนจะลงแดง มีความก้าวร้าว วุ่นวาย หรือ อาละวาด และจะทำทุกอย่างเพื่อให้ได้สิ่งนั้น เช่น ขโมยเงินพ่อแม่ หนีเรียน เป็นต้น ซึ่งเด็กติดเกม จะเสียหน้าที่ของตนไป เช่น เสียหน้าที่การเป็นลูก หรือ ทำงานก็ละทิ้งหน้าที่การงาน

พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ
พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ
จากประสบการณ์หมอ...เด็กติดเกมอย่างหนัก มีอาการป่วยร่วม

รอง ผอ.สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ อธิบายว่า เด็กติดเกม ที่มาหาหมอเพื่อรักษาส่วนใหญ่เกือบ 100% จะมีร่างกายผอมมาก เนื่องจากไม่ค่อยกินข้าว มีน้อยรายที่มีอ้วน แต่ทุกคนจะไม่ค่อยลุกไปไหน เพราะต้องทุ่มเวลาไปกับการเล่นเกม

สิ่งที่จะตามมาคือ..ร่างกายไม่สมดุล เกิดอาการหงุดหงิด กินและนอน ไม่เป็นเวลา แถมยังต้องโดนผู้ปกครองบ่น โดนเปรียบเทียบ กระทั่งเกิดการทะเลาะกัน ถึงขั้นชกต่อยกันในครอบครัวก็มี ซึ่งที่ผ่านมา เคยมีเคส เด็กชกต่อยพ่อเพราะอยากจะเล่นเกม หรือ จะทำลายข้าวของ ทุ่มคอมพิวเตอร์ทิ้งก็มี

เคสเด็กติดเกม มักป่วยด้วยโรคทางจิตเวช และไม่ทราบสาเหตุ

คุณหมอสาว กล่าวต่อว่า ส่วนใหญ่ที่พ่อแม่พามาพบแพทย์เพราะเริ่มที่จะหลุดไปกับโลกความเป็นจริงแล้ว เด็กจะก้าวร้าว ไม่ไปโรงเรียน และส่วนมาก จะพบว่าป่วยด้วยโรคทางจิตเวชมาก่อน อาทิ สมาธิสั้น ซึมเศร้า วิตกกังวล โรคดื้อต่อต้าน และโรคภาวะบกพร่องทางการเรียน (เป็นโรคที่มีปัญหาในการอ่านหนังสือ คล้ายตาบอดสี สมองแปรตัวหนังสือไม่ดี ทำให้อ่านผิด-อ่านถูก)

“โรคเหล่านี้ส่วนใหญ่จะเป็นโรคที่ไม่ทราบสาเหตุ และเป็นโรคทางพันธุกรรม เช่น โรคสมาธิสั้น จะมีอาการใจร้อน หุนหันพลันแล่น ทำงานไม่เสร็จ ชอบความหวือหวาตื่นเต้น ชีวิตของเด็กที่ติดเกมก็มักจะโดนพ่อแม่ด่า ทำการบ้าน ทำงานไม่ค่อยเสร็จ เรียนหนังสือก็ไม่ค่อยดี แต่พอเขามาเล่นเกมเขาจะรู้สึกว่าสุดยอด และมักจะเป็นคนที่เล่นเก่งด้วย เพราะมีความไว นอกจากนี้ ยังได้รับการยอมรับจากการเล่นเกม แถมยังขายไอเท็มได้ด้วย ขนาดคนที่ทำงานแล้ว ยังมาเรียกเขาว่า “เทพ” ซึ่งตรงนี้ทำให้เขาได้รู้สึกว่าอยู่ในโลกส่วนตัว เป็นโลกที่ถูกการยอมรับทำให้ไม่เรียนหนังสือ ซึ่งโรคเหล่านี้ เราจะไม่ทราบว่าเด็กป่วยอยู่ก่อน แต่พอเล่นเกม ก็จะติด เพราะเขารู้สึกว่าชีวิตจริงไม่โอเค.. ขณะที่คนปกติชีวิตจริงยังมีที่ยืนอยู่ เขาจึงอยู่ในโลกความเป็นจริงได้”

คุณหมอวิมลรัตน์ เน้นย้ำว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือ “กฎระเบียบที่ดี” กับ “ความสัมพันธ์ที่ดี” ต้องบริหารให้ควบคู่กัน โดยเฉพาะเด็กมีปัญหาความสัมพันธ์ ต้องดูแลอย่างดี เพราะหากเราสามารถแก้ความสัมพันธ์ได้ เด็กก็จะเชื่อฟังมากขึ้น

หลักการบริหาร “กฎระเบียบที่ดี” และความสัมพันธ์ที่ดี ประกอบด้วย

1.การตั้งกฎกติกาต้องชัดเจน ยกตัวอย่าง จะเล่นเกมได้ก็ต่อเมื่อทำการบ้านเสร็จ ทำงานเสร็จ ห้ามเล่นเกมเยอะ คำว่า “เยอะ” ต้องหามาตรฐานที่ชัดเจน โดยกำหนดไปเลยว่ากี่ชั่วโมง (ขึ้นอยู่แต่ละครอบครัวจะกำหนด แต่จากงานวิจัยพบว่า เวลาที่เหมาะสมนั้น อยู่ที่ไม่เกิน 2 ชั่วโมง)

2.การออกกฎในการลงโทษ และ บทให้รางวัล ตัวอย่างเช่นต้องนอนก่อน 4 ทุ่ม หากเพื่อนมาที่บ้านและชวนกันเล่นเกมนานเกินกำหนด ก็จะต้องกำหนดบทลงโทษ อาทิ ตัดเวลาการเล่นเกมในวัดถัดไป หรือ ถ้าทำการบ้านเสร็จเร็ว ก็อาจจะต่อเวลาเล่นเกมให้

“การปกครองเด็กก็เหมือนการปกครองในสังคมที่มีการบังคับใช้กฎหมาย แต่ก็ต้องทำความเข้าใจด้วย เพราะเด็กก็คือเด็ก เราจะต่อว่ารุนแรง บางครั้งจะกลายเป็นเรื่องที่ใหญ่โตไป เราจึงต้องพูดคุยด้วยเหตุและผล ซึ่งเรื่องนี้ต้องระมัดระวังไม่ให้ความสัมพันธ์มีปัญหา เพราะหากเกิดทะเลาะกันจนความสัมพันธ์ขาดสะบั้นลงก็จะต่อติดได้ยาก จะกลายเป็นเรื่องประชดประชันกันไป”

การเยียวยา กรณี “เด็กติดเกม” ที่เกิดจากอาการป่วย..

1.เราอาจจะต้องรู้ก่อนว่าเป็นโรคใด อาทิ ป่วยโรคซึมเศร้า ก็ต้องรักษาโรคซึมเศร้าให้ได้ก่อน หากรักษาโรคเหล่านี้ดีขึ้น ทำให้เขารู้สึกว่าเขามีที่ยืน เขาอาจจะถอยออกจากการเล่นเกมได้ ซึ่งเรื่องเหล่านี้บางคนคิดว่าเดี๋ยวก็หาย หรือ ปรับตัว ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่...

2.ปรับพฤติกรรมการดูแลของครอบครัว อาจจะต้องลดการบ่น ตำหนิ ใช้การควบคุมกฎระเบียบให้ดีขึ้น โดยต้องสร้างความสัมพันธ์ ไม่ให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้งกันโดยพยายามที่จะสร้างวินัยให้กับเด็ก โดยต้องทำความเข้าใจกับเขา เพื่อให้เขาสามารถปรับตัวสามารถวางแผนในชีวิตได้ โดยไม่ได้ห้ามเขาเล่น แค่พยายามทำให้เขาเอาตัวรอดบนโลกนี้ได้

3.แก้ปัญหาจิปาถะ เช่น การมีปัญหากับทางโรงเรียนต้องแก้ไข หากทุกคนปฎิเสธเขาหมด เขาก็ไม่มีทางที่จะกลับมาสู่โลกความเป็นจริง

แน่นอน..การรักษา อาจจะต้องใช้เวลานาน เพราะความคาดหวังของเด็กกับพ่อแม่ นั้นมีความแตกต่างกัน เด็กจะถามว่า “หนูต่างจากเพื่อนยังไง หนูเล่นเกม แต่หนูได้เกรด 3.2” แต่ถ้าพ่อแม่ อยากให้ลูกได้เกรด 3.5 แบบนี้รักษากันจนตายก็ไม่ได้ อย่างไรตาม ก็ต้องยอมรับว่า การเล่นเกมมากๆ ก็ย่อมส่งผลต่อการเรียนบ้าง แต่ก็ไม่ใช่คาดหวังสูงจนเกินไป

“สิ่งที่อยากจะสื่อสารคือ พ่อแม่ต้องแยกให้ออก ว่าลูก “ติดเกม” หรือ “เล่นเกม” เพราะเด็กจะไม่ชอบคำว่า “ติดเกม” เขายังเรียนหนังสือ เพื่อนๆ ก็เล่นเกมทุกคน เด็กจะรู้สึกว่าเขาเลวร้ายขนาดนั้นเชียวหรือ เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่พึงระวัง ดังนั้น เวลาพูดคุยกับลูก “อย่าบอกว่าลูกไม่ดีอย่างนั้นอย่างนี้” แต่ต้องบอกว่า “ที่พ่อแม่ต้องมาคุยเรื่องนี้เป็นห่วงอย่างนั้นอย่างนี้” หากเราพูดดีๆ กับเขา เขาไม่ฟัง ก็ต้องหาวิธีอื่นมาใช้ กลับกันหากเราด่าเขา เขาก็ไม่ฟังอยู่ดี แล้วจะยิ่งทำให้เด็กดื้อมากขึ้น” จิตแพทย์เด็ก กล่าวทิ้งท้าย

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน