สาวโสด โปรไฟล์ดี การงานเยี่ยม ฐานะมั่นคง แต่อยากมีลูก ต้องทำอย่างไร?

ผู้หญิงยุคใหม่ ทำงานหาเงินเก่ง ประเภทไม่ง้อผู้ชายก็มีเยอะ เมื่อถึงเวลาทุกอย่างพร้อม เกิดอยากมีลูกขึ้นมา แต่ไม่มีสามี ไม่ต้องการแต่งงาน โดยมีความเชื่อว่าสามารถเป็น Single Mom ได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง ไม่แพ้ครอบครัวอื่นที่มีครบทั้งพ่อแม่ลูก จะทำอย่างไร

เมื่อค้นหาข้อมูลการใช้เทคโนโลยีช่วยในการเจริญพันธุ์ ก็พบว่ามีหลากหลายวิธี เช่น ทำเด็กหลอดแก้ว, ผสมเทียม, อิ๊กซี่, ขอรับบริจาคสเปิร์มในเมืองไทยสามารถทำได้หรือไม่ ลูกจะแข็งแรงไหม?

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ พาไปค้นหาคำตอบของเรื่องนี้ จาก ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา ที่ปรึกษาแพทยสภา ศ.เกียรติคุณ นพ.สมบูรณ์ คุณาธิคม อดีตประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย และ ผศ.พญ.อิสรินทร์ ธนบุณยวัฒน์ หน่วยผู้มีบุตรยาก ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา รพ.ศิริราช

...

สาวโสดหมดสิทธิ์เป็น Single Mom กฎหมายไทยอนุญาตเฉพาะคนแต่งงาน

ศ.เกียรติคุณ นพ.สมบูรณ์ คุณาธิคม อดีตประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย อธิบายว่า หลักในการนำเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นการปฏิสนธิภายนอกร่างกาย หรือเด็กหลอดแก้ว (IVF) การฉีดอสุจิเข้าไปในเซลล์ไข่ หรือการทำอิ๊กซี่ (ICSI) การผสมเทียมโดยการฉีดอสุจิเข้าสู่โพรงมดลูกโดยตรง (IUI) การนำเชื้ออสุจิออกจากอัณฑะ (PESA, TESE, MESA)

ทั้งนี้ สาวโสดที่ต้องการผสมเทียม คือ การนำอสุจิเข้าไปในอวัยวะสืบพันธุ์ของหญิงสาว เพื่อให้หญิงสาวตั้งครรภ์โดยไม่มีการร่วมประเวณีนั้น ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. 2558 หรือ กฎหมายอุ้มบุญ ระบุไว้ในมาตรา 19-20 ถึงกรณีการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ จะต้องกระทำต่อหญิงที่มีสามีโดยชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น

หมายความว่า กฎหมายอนุญาตให้ดำเนินการผสมเทียมให้แก่สามีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย (จดทะเบียนสมรส) เท่านั้น ดังนั้น สาวโสดจึงไม่สามารถมีบุตรโดยอาศัยการผสมเทียมได้ ส่วนอสุจิอาจเป็นของสามี หรือเป็นของผู้บริจาคก็ได้ หากต้องการใช้อสุจิของผู้บริจาค สามีและภริยาจะต้องให้ความยินยอมเป็นหนังสือ

หวั่นปัญหาจริยธรรม สังคมไทยยังไม่ยอมรับท้องโดยไม่มีสามี เหตุไม่ได้จดทะเบียน

สาเหตุที่ต้องออกกฎหมายห้ามไว้นั้น ศ.เกียรติคุณ นพ.สมบูรณ์ เผยว่า เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นตามมาในอนาคต เช่น จริยธรรมในการรับจ้างท้อง กลัวแม่ไม่รักลูกจริงๆ หรือเด็กที่เกิดมาจะกลายเป็นเด็กไม่มีพ่อ รวมทั้ง การถูกสังคมมองแปลกๆ โดยแม่เลี้ยงเดี่ยว หรือ Single Mom จะเป็นลักษณะทางสังคมที่ว่า ผู้หญิงที่ไม่อยากแต่งงาน มีความผูกพันกับคู่ชีวิต แต่ต้องการตั้งครรภ์มีลูก ทำให้เรื่องของการเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวเกิดขึ้นมา ขณะที่สังคมไทยยังไม่ยอมรับในการท้องโดยไม่มีสามี

“สมัยก่อนหญิงโสดที่มีพร้อมทุกอย่างทั้งหน้าที่การเงิน เงินทอง พร้อมในการดูแลลูกแต่ไม่มีสามี น่าจะอนุโลมได้ แต่เมื่อกฎหมายอุ้มบุญออกมาในลักษณะนี้ ในการนำเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์จะต้องเป็นคู่สามีภรรยา ซึ่งเมื่อก่อนมีหญิงโสดมาปรึกษาอยากเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวบ้างเหมือนกัน ประปราย ไม่ได้เยอะแยะมากมาย เพราะในสังคมไทยการที่ไม่ได้แต่งงานแต่มีลูก บางครั้งก็ถูกสังคมมองแปลกๆ ฉะนั้น คนไทยที่คิดจะเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวจะไม่เยอะ ไม่เหมือนกับในต่างประเทศ” อดีตประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าว

...

คลอดแล้วใส่ชื่อใครเป็นพ่อ?

ขณะที่ ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา ที่ปรึกษาแพทยสภา กล่าวว่า ก่อนหน้าที่ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. 2558 ฉบับนี้ จะคลอดออกมานั้น สามารถทำได้เพราะยังไม่มีกฎหมายบังคับ โดยผู้ที่ทำมีทั้งกรณีที่ผู้หญิงอยากมีลูก แต่ไม่มีสามี คู่รักเพศเดียวกัน หรือกรณีอยากมีลูกสืบสกุล แต่มีไม่เยอะ ซึ่งเมื่อก่อนปัญหาที่เกิดขึ้น คือ การรับจ้างอุ้มบุญ และมีกรณีฝรั่งขายสเปิร์มให้ เมื่อเด็กคลอดออกมาแล้วก็ไม่รู้ว่าใส่ชื่อใครเป็นพ่อ แต่ชื่อแม่ก็คือ คนที่คลอดออกมา

“เมื่อก่อนมีผู้หญิงไทยซื้อสเปิร์มจากชาวต่างชาติ และมาให้แพทย์ใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ เมื่อคลอดออกมาก็หาคนรับรองเป็นพ่อให้ ซึ่งพ่อคนนี้อยู่ไหนก็ไม่รู้ เพราะมันไม่มีการตรวจสอบทางพันธุกรรม ใครอ้างเป็นพ่อก็ได้ เพราะมีชื่อใส่ในใบเกิดก็ไม่มีปัญหาเรื่องสวัสดิการทางกฎหมาย ส่วนต่างชาติที่มาคลอดเมืองไทยก็ต้องการสัญชาติไทย ก็จ้างคนใส่ชื่อพ่อแค่นั้น แล้วไม่มายุ่งเกี่ยวอีกก็มี เป็นพ่อไม่จำเป็นต้องจดทะเบียนด้วย เขาจึงห้ามแพทย์ทำให้คนที่ไม่ได้จดทะเบียน” ที่ปรึกษาแพทยสภา กล่าว

...

Single Mom คลอดแล้ว ลูกถือเป็นบุตรโดยชอบธรรม ไม่ต้องระบุชื่อพ่อได้

นายสรัลชา ศรีชลวัฒนา อุปนายกฝ่ายนโยบายและแผนงาน เลขาธิการสภาทนายความฯ อธิบายถึงข้อกฎหมายว่า บุตรที่เกิดโดยมารดาไม่ได้แต่งงานตามกฎหมาย (จดทะเบียนสมรส) เมื่อคลอดออกมาแล้วก็ยังเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของมารดาผู้ให้กำเนิด ส่วนบิดาไม่แจ้งปรากฏชื่อในใบเกิดย่อมได้ โดยระบุชื่อมารดาเพียงคนเดียว ซึ่งการไม่ระบุชื่อบิดานั้น มารดามีสิทธิในตัวบุตร 100% มีอำนาจในการปกครองแต่เพียงผู้เดียว รวมทั้งการไม่ระบุชื่อบิดาในใบเกิดจะไม่ก่อให้เกิดปัญหาในการทำเอกสารใดๆ ของลูกเมื่อโตขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเข้าเรียน การทำงาน การรับราชการ หรือการเป็นทหาร และยังมีสิทธิสวัสดิการของประชาชนชาวไทยครบถ้วน หากแม่มีสัญชาติไทย

ส่วนกรณีการฉีดสเปิร์มบริจาคเข้าไปในรังไข่นั้น บุตรที่คลอดออกมาจะเป็นบุตรโดยชอบตามกฎหมายของผู้ให้กำเนิด ขณะที่ เจ้าของสเปิร์มจะเป็นบิดาโดยชอบตามกฎหมายหรือไม่นั้น ยังไม่มีกฎหมายใดๆ รองรับในเรื่องดังกล่าว

ขณะที่ การอุ้มบุญ หรือคู่รักเพศเดียวกัน ต้องการมีลูกด้วยการอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ต่างๆ ตามกฎหมายยังไม่รองรับ ให้เป็นมารดา หรือบิดาโดยชอบธรรม นอกเสียจากการจดทะเบียนรับเป็นบุตรบุญธรรม

...

Single Mom ทำได้บางประเทศ?

ศ.เกียรติคุณ นพ.สมบูรณ์ กล่าวต่อว่า ส่วนแม่เลี้ยงเดี่ยว Single Mom อนุญาตให้ทำได้ในบางประเทศเท่านั้น เช่น สหรัฐอเมริกา ทำได้บางรัฐ ยุโรปตะวันออก รัสเซีย เป็นต้น ซึ่งไม่ได้ออกกฎเกณฑ์ว่ารับทำ เพียงแต่ว่าไม่มีกฎหมายห้าม

แต่การไปผสมเทียมต่างประเทศ โดยต้องใช้อสุจิบริจาคนั้น จะมีปัญหาตรงที่เชื้ออสุจิเป็นชาวต่างชาติ หรือตกลงกันเรื่องอสุจิโดยนำไปทำที่ต่างประเทศก็ทำได้ เพียงรอวันไข่ตก เพื่อฉีดอสุจิเข้าไปก็ทำได้ โดยไม่จำเป็นต้องทำเด็กหลอดแก้ว แต่กฎหมายต้องอนุญาตว่า ผู้หญิงที่ไม่ได้แต่งงานสามารถทำได้ แต่ในประเทศไทยทำไม่ได้

อเมริกาแพงมหาศาล เหตุต่างชาติแห่มาทำเมืองไทย

กรณีที่เมืองนอกสามารถใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ได้ แต่ทำไมชาวต่างชาติถึงแห่กันมาทำที่เมืองไทยนั้น ศ.นพ.สมศักดิ์ อธิบายว่า ในสหรัฐอเมริกา หรือบางประเทศที่ไม่มีกฎหมายควบคุม ค่าใช้จ่ายจะแพงมากหลายแสนบาท ขณะที่เมืองไทยราคาถูกกว่า ส่วนเมื่อก่อน อินเดีย ลาว ทำได้ในราคาที่ถูก แต่ปัจจุบันก็ไม่สามารถทำได้แล้ว มีกฎหมายควบคุมเช่นกัน

เทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์ ไม่ได้ 100% ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย

ผศ.พญ.อิสรินทร์ ธนบุณยวัฒน์ หน่วยผู้มีบุตรยาก ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา รพ.ศิริราช ให้ข้อมูลว่า กระบวนการนำเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ไม่ใช่ว่าจะประสบความสำเร็จ 100% โดยการตั้งครรภ์จากการฉีดเชื้อ อัตราจะอยู่ที่ประมาณ 10% แต่ถ้าเด็กหลอดแก้วจะขึ้นอยู่กับอายุของภรรยา ถ้าอายุยังน้อย 20 ปีขึ้นไป อัตราจะอยู่ที่ประมาณ 60% แต่หากอายุ 40 ปีขึ้นไป อัตราจะอยู่ที่ประมาณ 20% และขึ้นกับสาเหตุการมีบุตรยาก ปัญหาอสุจิผิดปกติด้วย อัตราการตั้งครรภ์ก็จะลดลงตาม

สำหรับค่าใช้จ่ายนั้นขึ้นอยู่กับสถานพยาบาล เช่น การทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) ที่รพ.ศิริราช ราคาประมาณ 80,000-100,000 บาท ส่วน รพ.เอกชน ก็จะราคาสูงหน่อย แล้วแต่สถานพยาบาลที่กำหนดไว้

คู่สามีภรรยาหลายคนกังวลว่า เด็กที่คลอดออกมาจะมีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงหรือไม่นั้น ผศ.พญ.อิสรินทร์ ระบุว่า ส่วนใหญ่เด็กที่คลอดออกมาจากการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ มีร่างกายแข็งแรงเป็นปกติดี

ทางออกสาวโสด ฝากไข่แช่แข็ง รอสามีในอนาคต

ส่วนสาวโสดจะต้องทำอย่างไรนั้น ผศ.พญ.อิสรินทร์ แนะนำว่า สาวโสดที่ยังไม่มีสามี สามารถทำได้อย่างเดียว คือ การกระตุ้นไข่ และเก็บไข่แช่แข็งไว้ เพื่อช่วยหยุดอายุไข่ไว้ ณ เวลาที่แช่แข็ง และช่วยเพิ่มโอกาสของการตั้งครรภ์ในอนาคตเมื่อมีสามีแล้ว จึงนำไข่ที่แช่แข็งไว้ไปใช้ แต่ว่าจะไม่สามารถนำออกมาใช้ได้จนกว่าจะมีการจดทะเบียนสมรสเป็นสามีภรรยากันตามกฎหมาย

ทั้งนี้ ถ้าต้องการที่จะเก็บไข่ไว้ใช้ในอนาคต ควรจะเก็บตั้งแต่ก่อนอายุ 35 ปี เพราะเมื่ออายุมากขึ้น คุณภาพ ปริมาณไข่ก็จะลดน้อยลง ทำให้โอกาสที่จะเก็บได้ไข่ และนำไปใช้จริงๆ ก็จะลดลง เมื่อนำไปใช้กับอสุจิของสามีในอนาคตก็ส่งผลให้คุณภาพของตัวอ่อนไม่ดี โอกาสตั้งครรภ์ก็จะน้อยลงถ้าแช่แข็งไข่ตอนที่อายุเยอะแล้ว เช่นเดียวกับ ไข่บริจาค กฎหมายได้กำหนดไว้ว่า ผู้บริจาคต้องอายุน้อยกว่า 35 ปี ถึงจะบริจาคได้

ขอรับเชื้อบริจาค จากธนาคารสเปิร์ม ต้องมีเงื่อนไขอย่างไร?

ศ.เกียรติคุณ นพ.สมบูรณ์ กล่าวว่า ในปัจจุบันเหลือแต่โรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่มีธนาคารสเปิร์ม หรือในโรงเรียนแพทย์ โดยผู้ที่ขอรับบริจาคจะต้องผ่านขั้นตอนต่างๆ เช่น ฝ่ายสามีตรวจนำ้อสุจิแล้ว พบว่าไม่มีเชื้ออสุจิ หรือ เป็นหมัน จึงจะเข้าเกณฑ์ของการรับอสุจิบริจาค หรือกรณีที่เชื้ออ่อน ต้องมาฉีดเชื้อเข้าที่รังไข่ เรียกว่า การทำอิ๊กซี่ (ICSI) ส่วนการทำกิฟต์ เกิดจากกรณีที่ภรรยาไม่สามารถตั้งครรภ์โดยธรรมชาติได้ ท่อรังไข่อุดตัน เชื้ออสุจิกับไข่มาเจอกันในร่างกายไม่ได้ จึงต้องเอาออกมาผสมข้างนอก

ธนาคารสเปิร์ม เก็บเชื้อใช้ในอนาคตได้

ธนาคารสเปิร์ม นอกจากเก็บเชื้ออสุจิของผู้บริจาคแล้ว ยังสามารถเก็บเชื้ออสุจิแช่แข็งไว้เพื่อในอนาคตจะไปฉีดให้กับภรรยา หรืออนาคตภรรยาได้ โดยเสียค่าใช้จ่ายไม่กี่ร้อยบาทเท่านั้น

แต่มีเงื่อนไขเฉพาะ เนื่องจากธนาคารสเปิร์มมีพื้นที่จำกัด โดยจะพิจารณาจาก 1. คู่สมรสที่ไม่มีโอกาสได้อยู่ด้วยกัน ทำงานคนละแห่ง ก็จะมาเก็บเพื่อใช้กับภรรยาตัวเอง 2. ในกรณีที่ต้องการรักษาโรคบางชนิด เช่น มะเร็ง ต้องใช้ยาเคมีบำบัด ซึ่งจะมีผลเสียต่อจำนวนเชื้ออสุจิ ก่อนรักษาจึงต้องเก็บเชื้ออสุจิสำรองไว้ ส่วนผู้ชายอายุมากมาฝากสเปิร์มน้อยมาก เพราะว่าผู้ชายอายุ 60 กว่าปีก็สามารถมีลูกได้

ใครสามารถบริจาคสเปิร์มได้บ้าง?

อดีตประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า อสุจิบริจาค โดยทั่วไปแล้วแต่โรงพยาบาล เช่น อายุ 20-45 ปี สอบประวัติ ตรวจเช็กสุขภาพร่างกาย โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น โรคเอดส์ โรคซิฟิลิส โรคตับอักเสบ เป็นต้น โรคติดต่อทางสายเลือด เช่น โรคธาลัสซีเมีย เบาหวาน และอีกสารพัดโรคที่ติดต่อทางพันธุกรรม โรคเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต เพื่อไม่ให้ติดกับคนที่รับบริจาค หรือเด็กที่เกิดจากเชื้ออสุจิ

ถามว่าคนมารับบริจาคเยอะไหม ศ.เกียรติคุณ นพ.สมบูรณ์ ตอบว่า ตอนนี้ถือว่ามีคนบริจาคน้อย เพราะคนที่ยินดีบริจาคจริงๆ ลดน้อยลง ถึงขนาดที่ว่า ขอร้องกันแล้วขอร้องกันอีก โดยโรงเรียนแพทย์จะขอรับบริจาคได้กว้างขวางกว่า บางคนอยากบริจาคเพื่อการกุศล บางคนบริจาคเพื่อต้องการช่วยเหลือ หรือบางครั้งต้องขอร้องนักศึกษาแพทย์ให้มาช่วยคนไข้ก็มี

ส่วนสาเหตุทำไมไม่ค่อยมีผู้บริจาค เนื่องจากว่าหลังจากแจ้งความประสงค์แล้ว จะต้องถูกสอบประวัติ เจาะเลือดตรวจเช็กว่าไม่มีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ด้วย ไม่เหมือนกับการสำเร็จความใคร่ แล้วปล่อยทิ้งไปเลย

เจ้าของสเปิร์มจะมีความผูกพันกับเด็กหรือไม่?

คำถามข้างต้นเป็นคำถามที่หลายคนคงอยากทราบ เพราะสายใยพ่อลูกส่งถึงกันได้อย่างแน่นอน ศ.เกียรติคุณ นพ.สมบูรณ์ อธิบายว่า ที่ผ่านมา อสุจิบริจาค ผู้บริจาคจะไม่รู้ว่าโรงพยาบาลจะไปมอบให้กับใคร ขณะที่คนรับบริจาคก็ไม่ทราบเช่นกันว่า อสุจินี้เป็นของใคร เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายบังคับ เหมือนอย่างในบางประเทศ เช่น เยอรมนี มีกฎหมายบังคับว่า เด็กที่เกิดจากอสุจิบริจาค เมื่อบรรลุนิติภาวะแล้ว แพทย์จะต้องบอกเด็กคนนั้นว่า เขาเกิดมาจากอสุจิของใคร

“ผมมองว่าหากมีกฎหมายแบบนี้ออกมา คนบริจาคก็จะน้อยลง เพราะวันดีคืนดีมีเด็กมาบอกว่า คุณเป็นพ่อของเขา มันก็ยุ่งเหมือนกัน และเหตุผลนี้ก็มีส่วนที่ทำให้คนไม่ค่อยอยากบริจาคเชื้ออสุจิเช่นเดียวกัน แต่ว่าธนาคารอสุจิในประเทศไทย จะมีข้อกำหนดคือ ไม่บอกให้รู้ทั้งผู้บริจาค และผู้รับบริจาค ซึ่งจะไม่มีปัญหาเรื่องนี้ ยกเว้น เป็นคำสั่งศาล” อดีตประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ให้ข้อมูล

กล่าวโดยสรุปก็คือ ประเทศไทยมีกฎหมายกำหนดไว้ว่า...การจะใช้เทคโนโลยีช่วยในการมีลูกได้ก็ต่อเมื่อเป็นสามีภรรยากันตามกฎหมาย (การจดทะเบียนสมรส) ไม่ว่าจะฉีดเชื้ออสุจิเข้าไปในโพรงมดลูก หรือการใช้เทคโนโลยีอื่นๆ ในการช่วยให้มีลูกก็ตาม ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถทำได้.

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน