เชื่อว่าเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะช่วงเวลาเร่งด่วนทั้งเช้าและเย็น เพราะหากขัดข้องเพียงเล็กน้อย จะส่งผลให้ขบวนรถล่าช้า ผู้โดยสารตกค้างล้นสถานี ไปเรียน-ทำงาน สาย เรียกได้ว่า ชีวิตคนเมืองกรุงฝากไว้กับรถไฟฟ้า ก็ว่าได้

ดร.วสันต์ ภัทรอธิคม หัวหน้าห้องปฏิบัติการวิจัยระบบขนส่งและจราจรอัจฉริยะ NECTEC ได้เก็บรวบรวมข้อมูลจากทวิตเตอร์ของ BTS (@BTS_SkyTrain) ที่ได้มีการทวีตแจ้งการเกิดเหตุขัดข้องและการซ่อมเสร็จ เพื่อนำมาคำนวณเป็นจำนวนครั้ง จำนวนนาทีและช่วงเวลาที่ประกาศแจ้ง ตั้งแต่ปี 2010-2017 มีข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้...

จำนวนรถไฟฟ้า BTS ขัดข้องในแต่ละปี

ปี 2010 เกิดปัญหา 5 ครั้ง
เดือน พ.ย. 396 นาที
เดือน ธ.ค. 38 นาที

ปี 2011 เกิดปัญหา 9 ครั้ง
เดือน มี.ค. 28 นาที
เดือน พ.ค. 255 นาที
เดือน ก.ค. 157 นาที
เดือน ส.ค. 16 นาที

ปี 2012 เกิดปัญหา 3 ครั้ง
เดือน ก.พ. 9 นาที
เดือน ก.ค. 10 นาที
เดือน ส.ค. 80 นาที

...

ปี 2013 เกิดปัญหา 2 ครั้ง
เดือน ธ.ค. 629 นาที

ปี 2014 เกิดปัญหา 5 ครั้ง
เดือน มี.ค. 29 นาที
เดือน มิ.ย. 48 นาที
เดือน ก.ย. 131 นาที
เดือน ต.ค. 16 นาที
เดือน พ.ย. 21 นาที

ปี 2015 เกิดปัญหา 2 ครั้ง
เดือน ม.ค. 14 นาที
เดือน ธ.ค. 4 นาที

ปี 2016 เกิดปัญหา 24 ครั้ง
เดือน ก.พ. 1,449 นาที
เดือน มิ.ย 80 นาที
เดือน ก.ค. 35 นาที
เดือน ส.ค. 99 นาที
เดือน ก.ย. 124 นาที
เดือน ต.ค. 35 นาที
เดือน พ.ย. 29 นาที
เดือน ธ.ค. 53 นาที

ปี 2017 เกิดปัญหา 46 ครั้ง
เดือน ม.ค. 3 นาที
เดือน ก.พ. 59 นาที
เดือน มี.ค. 75 นาที
เดือน เม.ย. 55 นาที
เดือน พ.ค. 78 นาที
เดือน มิ.ย. 126 นาที
เดือน ก.ค. 56 นาที
เดือน ส.ค. 140 นาที
เดือน ก.ย. 89 นาที
เดือน ต.ค. 17 นาที
เดือน พ.ย. 194 นาที

ข้อสังเกต คือ ตั้งแต่ปี 2016 จนกระทั่งปัจจุบันค่อนข้างมีจำนวนครั้งที่ขัดข้องสูงขึ้น จะเห็นว่า มีเหตุการณ์ใหญ่เกิดขึ้นเมื่อเดือน ก.พ. ปี 2016 เดือนเดียวที่มีเหตุขัดข้องนานที่สุดเป็นเวลา 1,449 นาที โดยเหตุการณ์ครั้งนั้น ทางผู้ให้บริการแจ้งว่า เกิดเหตุขัดข้องบริเวณจุดสับรางในทิศทางจากสถานีชิดลมมุ่งหน้าเข้าสถานีสยาม จึงทำให้ไม่สามารถให้ขบวนรถไฟฟ้าวิ่งผ่านจุดดังกล่าวได้

และจากครั้งนั้น ทำให้รถไฟฟ้ากลับมาให้บริการปกติโดยไม่มีเหตุขัดข้องอยู่ 3 เดือน จนเดือน มิ.ย. ปี 2016 เกิดปัญหาอีกครั้ง และนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาจนถึงวันนี้ยังไม่มีเดือนไหนเลยที่รถไฟฟ้าไม่เกิดปัญหา

...

จากนั้น มาดูที่ช่วงเวลาที่เกิดเหตุขัดข้องว่า “เป็นไปอย่างที่ประชาชนบอกหรือเปล่าว่ามักจะเกิดในช่วงเวลาเร่งด่วน?”

สำหรับช่วงเวลาที่เกิดเหตุ ตั้งแต่ 06.00 น. - 21.00 น.

ช่วงเวลา 04.00 น. เกิดปัญหา 1 ครั้ง
ช่วงเวลา 05.00 น. เกิดปัญหา 0 ครั้ง
ช่วงเวลา 06.00 น. เกิดปัญหา 4 ครั้ง
ช่วงเวลา 07.00 น. เกิดปัญหา 7 ครั้ง
ช่วงเวลา 08.00 น. เกิดปัญหา 11 ครั้ง
ช่วงเวลา 09.00 น. เกิดปัญหา 5 ครั้ง
ช่วงเวลา 10.00 น. เกิดปัญหา 7 ครั้ง
ช่วงเวลา 11.00 น. เกิดปัญหา 4 ครั้ง
ช่วงเวลา 12.00 น. เกิดปัญหา 1 ครั้ง
ช่วงเวลา 13.00 น. เกิดปัญหา 7 ครั้ง
ช่วงเวลา 14.00 น. เกิดปัญหา 0 ครั้ง
ช่วงเวลา 15.00 น. เกิดปัญหา 1 ครั้ง
ช่วงเวลา 16.00 น. เกิดปัญหา 3 ครั้ง
ช่วงเวลา 17.00 น. เกิดปัญหา 12 ครั้ง
ช่วงเวลา 18.00 น. เกิดปัญหา 11 ครั้ง
ช่วงเวลา 19.00 น. เกิดปัญหา 8 ครั้ง
ช่วงเวลา 20.00 น. เกิดปัญหา 6 ครั้ง
ช่วงเวลา 21.00 น. เกิดปัญหา 5 ครั้ง

ช่วงเวลาเร่งด่วนตอนเช้า 07.00-09.00 น. และตอนเย็น 17.00-19.00 น. คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ได้ 60% ของจำนวนที่เกิดขึ้นทั้งหมด ซึ่งถือว่าสูง เพราะใน 3 ชั่วโมงเร่งด่วนเช้า-เย็น เป็นช่วงเวลาที่มีคนใช้บริการรถไฟฟ้าเยอะมาก ผลสรุปที่ได้ก็คือ รถไฟฟ้า BTS ขัดข้องในช่วงเวลาเร่งด่วนอย่างที่ประชาชนรู้สึก จริง!

...

ส่วนสาเหตุที่เกิดขึ้นนั้น มีการแจ้งผ่านทวิตเตอร์

อันดับ 1 จุดสับรางขัดข้อง
อันดับ 2 ระบบควบคุมการเดินรถขัดข้อง
อันดับ 3 อาณัติสัญญาณขัดข้อง

ส่วนอีก 53% ไม่ทราบถึงสาเหตุ

เพียงแต่แจ้งว่า...รถไฟฟ้าขัดข้อง และเกิดความล่าช้า

ดร.วสันต์ กล่าวสรุปข้อมูลสถิติ ว่า จากข้อมูลที่ผู้ให้บริการรถไฟฟ้า BTS แจ้งผู้โดยสารสามารถสรุปให้เห็นได้ว่า ใน 2 ปีหลัง มีความขัดข้องค่อนข้างบ่อยครั้งและเป็นประจำมากขึ้น รวมทั้งเกิดขึ้นในช่วงเวลาเร่งด่วน 60% ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้โดยสารที่จะไปเรียน-ทำงานช่วงเช้า และเดินทางกลับบ้านในช่วงเย็น

ขณะที่ ตัวเลขดังกล่าวเป็นข้อมูลการรายงานความขัดข้องของ BTS โดยไม่ได้มีการใช้ความรู้สึกของผู้โดยสารเข้ามาคำนวณ แสดงให้เห็นว่า เป็นไปในทิศทางเดียวกับความรู้สึกของผู้ใช้บริการ

“จากข้อมูลที่ผ่านมา BTS ให้บริการอย่างดีมาก ปัญหาหรือเหตุขัดข้องต่างๆ ที่ทำให้ต้องหยุดให้บริการชั่วคราวถือว่า น้อยมาก บางเดือนไม่เกิดเลย ทำให้ผู้โดยสารคาดหวังว่าจะเป็นแบบนี้ตลอด แต่เมื่อเกิดปัญหาขัดข้องบ่อยครั้งขึ้น ก็ทำให้รู้สึกว่าไม่คุ้นชินและแสดงความรู้สึกออกมาผ่านโซเชียลมีเดีย และข้อมูลตรงนี้ นำเสนอเพื่อให้โฟกัสถึงปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อคนของเขาที่เก่งๆ หลายคนช่วยกันแก้เพื่อให้รถไฟฟ้าเดินหน้าให้บริการได้อย่างที่เคยเป็นมา” หัวหน้าห้องปฏิบัติการวิจัยระบบขนส่งและจราจรอัจฉริยะ ระบุ

...

สำหรับรถไฟฟ้า BTS เป็นรถไฟฟ้าสายแรกของประเทศไทย บริหารงานโดยบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) มีผู้ถือหุ้นรายใหญ่สุด คือ นายคีรี กาญจนพาสน์ ปัจจุบันระบบรถไฟฟ้าบีทีเอส มีสถานีทั้งหมด 35 สถานี โดยสายสุขุมวิท หมอชิต-สำโรง จำนวน 23 สถานี และสายสีลม สนามกีฬาแห่งชาติ-บางหว้า 13 สถานี ทั้งสองสายนี้มีจุดเชื่อมต่อที่สถานีสยาม ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อจุดเดียวในระบบ

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ BTSC ออกมาเปิดเผยตัวเลขผู้โดยสารของรถไฟฟ้า BTS ว่ามีตัวเลขเฉลี่ย 8 แสนเที่ยวคน/วัน ในวันทำการ และในวันศุกร์ต้นเดือนมีตัวเลขเกือบจะถึง 9 แสนเที่ยวคน/วัน และคาดการณ์ในอนาคตข้างหน้าหลังเปิดให้บริการเส้นทางส่วนต่อขยายสายสีเขียวเหนือ หมอชิต-คูคต และใต้ แบริ่ง-สมุทรปราการ ในปี 2564 ตัวเลขจะดีดขึ้นมาที่ 1.5 ล้านเที่ยวคน/วัน

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน