เมื่อวันที่ 7 พ.ย. กองปราบรวบ 2 สมาชิกแก๊งคอลเซ็นเตอร์ชาวไต้หวันคาตู้เอทีเอ็มย่านบางกะปิ พฤติกรรมสุดแสบ แอบอ้างเป็นตำรวจระดับสูง กุเรื่องบัญชีธนาคารพัวพันยาเสพติด ตุ๋นเงินเหยื่อหลายราย กว่า 6 แสน...
นับเป็นข่าวล่าสุดเกี่ยวกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกให้โอนเงิน ที่ยังมีอยู่เนืองๆ แม้หน่วยงานภาครัฐแจ้งเตือนว่าอย่าหลงเชื่อมิจฉาชีพกลุ่มนี้ แต่ก็ยังมีชาวบ้านถูกหลอกรายวัน เพราะแก๊งคอลเซ็นเตอร์ได้เปลี่ยนวิธีการหลอกในรูปแบบใหม่
และเพื่อป้องกันไม่ให้ “หลงเชื่อ” จนตกเป็นเหยื่อของพวกมิจฉาชีพเหล่านี้อีก ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จึงรวบรวมสารพัดมุกลวงโลกจากข้อมูลสถิติ “ศูนย์ข้อมูลหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ตั้งแต่ปี 2553 มาให้แฟนๆ ไทยรัฐออนไลน์ได้รู้ชั้นเชิง เพื่อหลบหลีกให้รอดพ้นจากการตกเป็นเหยื่อรายต่อไป
รวมฮิตมุกเด็ด แฉกลลับลวง หลอกโอนเงิน
จากข้อมูลพบว่าส่วนใหญ่ลักษณะการโกง คือ มิจฉาชีพจะสุ่มเบอร์โทรศัพท์ไปหาเหยื่อ บางครั้งจะใช้ข้อความอัตโนมัติ หวังสร้างความตื่นเต้นหรือตกใจ หรือแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่างๆ อาทิ ตำรวจ เจ้าหน้าที่ดีเอสไอ เจ้าหน้าที่ศาล ธนาคาร ไปรษณีย์ ซึ่งมิจฉาชีพเหล่านี้ที่มีทั้งคนไทย จีน ไต้หวัน จะอาศัยความกลัว ความโลภ และความรู้ไม่เท่าทันของเหยื่อ หลอกให้ทำรายการที่ตู้เอทีเอ็ม โดยข้ออ้างที่มิจฉาชีพมักใช้หลอกเหยื่อมีดังนี้
...
1. โอนเงินผิด ซึ่งมิจฉาชีพจะใช้ข้ออ้างนี้เมื่อมีข้อมูลของเหยื่อค่อนข้างมากแล้ว โดยจะเริ่มจากโทรศัพท์ไปยังสถาบันการเงินที่เหยื่อใช้บริการ เพื่อเปิดใช้บริการขอสินเชื่อผ่านทางโทรศัพท์ เมื่อได้รับอนุมัติสินเชื่อ สถาบันการเงินจะโอนเงินสินเชื่อนั้นเข้าบัญชีเงินฝากของเหยื่อ หลังจากนั้นมิจฉาชีพจะโทรศัพท์ไปหาเหยื่ออ้างว่า ได้โอนเงินผิดเข้าบัญชีของเหยื่อ ขอให้โอนเงินคืน เมื่อเหยื่อตรวจสอบและพบว่ามีเงินโอนเข้ามาจริง จึงรีบโอนเงินนั้นให้มิจฉาชีพ โดยที่ไม่รู้ว่าเงินนั้นเป็นสินเชื่อที่มิจฉาชีพโทรไปขอในนามของเหยื่อ
2. สุ่มโทรหาเหยื่อ แล้วสวมรอยเป็นบุคคลที่เหยื่อรู้จัก หรือเป็นคนในครอบครัว เครือญาติ ออกอุบายแต่งเรื่อง ดัดเสียงให้เหยื่อหลงเชื่อว่าเป็นบุคคลที่สวมรอย แล้วหลอกให้โอนเงินเข้าบัญชีที่เปิดรองรับไว้ เช่น หลอกว่าลูกของเหยื่อขับรถมาชน และให้โอนเงินชดใช้ค่าเสียหาย
3. ส่งหนังสือในรูปแบบจดหมายอย่างเป็นทางการด้วยตราสัญลักษณ์ธนาคาร ที่เหยื่อมีบัญชีฝากอยู่ โดยระบุว่าบัญชีเงินฝากอยู่ในสถานะไม่ปลอดภัย จึงไม่สามารถตรวจสอบยอดเงินในบัญชีได้ เหยื่อต้องรีบดำเนินการโอนเงินในบัญชีภายในวันที่กำหนด ก่อน 12.00 น. ไม่เช่นนั้นสมุดบัญชีและบัตรเอทีเอ็มของเหยื่อจะถูกอายัด โดยให้ไปโอนเงินที่ตู้เอทีเอ็มของธนาคารอื่น และให้เลือกทำรายการเป็นภาษาอังกฤษ จากนั้นให้กรอกข้อมูลตามที่บอกทุกขั้นตอน เมื่อรายการแล้วเสร็จ เงินจะถูกดึงไปจากบัญชีเดิมจนเหยื่อได้รับความเสียหาย
4. นักล่าในอินเทอร์เน็ต แชตล่าสาวผ่านเว็บไซต์หาคู่ เฟซ ไลน์ โดยใช้รูปคนอื่นโพนทะนาว่ารูปหล่อ พ่อรวย บ้างอ้างทำงานกับดารา นักร้อง นักดนตรี คนเด่น คนดังของสังคม จากนั้นคุยกันผ่านแชต ผ่านไลน์ จนเชื่อใจ แลกเบอร์โทรศัพท์ติดต่อ ตกลงคบหากัน จากนั้นก็พูดจาหว่านล้อมหลอกให้โอนเงิน เมื่อขอนัดพบกลับอ้างว่าติดงาน
5. สุ่มโทรศัพท์ แล้วอ้างว่าจำหมายเลขผิด หรือเป็นเพื่อนเก่า กำลังเดือดร้อน พ่อตาย แม่ป่วย ลูกไม่สบาย ตัวเองป่วยไข้ สารพัดข้ออ้างจนเหยื่อหลงเชื่อโอนเงิน ทำแม้กระทั่งเลียนเสียงเป็นคนรู้จัก
6. อ้างเป็น เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ โทรหลอกผู้สูงอายุในหลายพื้นที่ว่าพัวพันคดียาเสพติดและฟอกเงิน มีเหยื่อเสียรู้โอนเงินให้แล้ว 9.5 ล้าน แถมจ้างคนไทยด้วยกันโทรต้มตุ๋นจากไต้หวันมาหลอกกันเองข้ามประเทศ
7. ใช้ SMS-เฟซบุ๊ก ล่าเหยื่อ แอบอ้างหมายเลขโทรศัพท์ของธนาคาร เพื่อหลอกลวงเกี่ยวกับการแจ้งอายัดบัตรเครดิต อ้างว่าวงเงินเต็ม หรือมีผู้แอบนำไปใช้โดยแนบเบอร์ของธนาคาร โดยข้ออ้างที่มิจฉาชีพนิยมมากสุด คือ หลอกว่าเหยื่อถูกอายัดบัญชีเงินฝากและเป็นหนี้บัตรเครดิต ซึ่งมิจฉาชีพจะใช้ระบบตอบรับอัตโนมัติแจ้งเหยื่อว่าจะอายัดบัญชีเงินฝากเนื่องจากเหตุการณ์ต่างๆ เช่น เป็นหนี้บัตรเครดิต หลังจากนั้นมิจฉาชีพจะหลอกถามฐานะทางการเงินของเหยื่อ หากเหยื่อมีเงินมาก ก็จะหลอกให้ฝากเงินผ่านเครื่องฝากเงินอัตโนมัติ
...
4 วิธี ยอดฮิต หากไม่ทันคิด มีสิทธิ์ตกเป็นเหยื่อ
จะเห็นได้ว่ากลอุบายมากล้น และเมื่อตำรวจจับได้ พวกมิจฉาชีพก็เปลี่ยนวิธีไปเรื่อยๆ ปัจจุบันพบว่ามีกลอุบายใหม่ที่เพิ่มขึ้นมา ซึ่งทีมข่าวฯ ได้รับข้อมูลจาก พ.ต.อ.ธงชัย อยู่เกษ ผกก.1 บก.ป. ว่ายังมีอีก 4 วิธียอดฮิต คือ
1.บัญชีเงินฝากพัวพันกับการค้ายาเสพติดหรือการฟอกเงิน เมื่อมิจฉาชีพหลอกถามข้อมูลจากเหยื่อแล้วพบว่าเหยื่อมีเงินในบัญชีจำนวนมาก จะหลอกเหยื่อต่อว่าบัญชีนั้นๆ พัวพันกับการค้ายาเสพติดหรือติดปัญหาการฟอกเงิน จึงขอให้เหยื่อโอนเงินทั้งหมดมาตรวจสอบ
2.เงินคืนภาษี โดยข้ออ้างคืนเงินภาษีจะถูกใช้ในช่วงการยื่นภาษีและมีการขอคืน โดยมิจฉาชีพจะแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่สรรพากรแจ้งว่า เหยื่อได้รับภาษีคืนเป็นเงินจำนวนหนึ่ง ซึ่งจะต้องยืนยันว่ารายการและทำตามคำบอกที่ตู้เอทีเอ็ม แต่แท้จริงแล้วขั้นตอนที่มิจฉาชีพให้เหยื่อทำนั้นเป็นการโอนเงินให้กับมิจฉาชีพ
...
3.โชคดีรับรางวัลใหญ่ ซึ่งมิจฉาชีพจะอ้างตนเป็นเจ้าหน้าที่บริษัทหรือตัวแทนองค์กรต่างๆ แจ้งข่าวดีแก่เหยื่อว่า เหยื่อได้รับเงินรางวัลหรือของรางวัลที่มีมูลค่าสูง เมื่อเหยื่อหลงเชื่อจะหลอกเหยื่อให้โอนเงินค่าภาษีให้
4.ข้อมูลส่วนตัวหาย โดยข้อมูลส่วนตัวหายเป็นข้ออ้างที่มิจฉาชีพใช้เพื่อขอข้อมูลส่วนตัวของเหยื่อ ซึ่งจะอ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่สถาบันการเงิน เล่าเหตุการณ์ที่ทำให้ข้อมูลของลูกค้าสูญหาย เช่น เหตุการณ์น้ำท่วม จึงขอให้เหยื่อแจ้งข้อมูลส่วนตัว เช่น วัน เดือน ปีเกิด เลขบัตรประชาชน เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในการใช้บริการของเหยื่อ แต่แท้จริงแล้ว มิจฉาชีพจะนำข้อมูลเหล่านี้ไปประกอบการปลอมแปลงหรือใช้บริการทางการเงินในนามของเหยื่อ
หลอกให้กลัวถูกดำเนินคดีพัวพันการฟอกเงิน คดียาเสพติด เป็นวิธีล่าสุดที่นิยมใช้
นอกจากนี้ พ.ต.อ.ธงชัย อยู่เกษ ยังให้ข้อมูลอีกว่า มีการจับกุมพวกมิจฉาชีพเรื่อยๆ ล่าสุดจับได้ 9 ราย ตามหมายจับ 15 ราย โดยการร่วมมือกันของหลายหน่วยงาน ทั้ง ตำรวจภูธร ตำรวจกองปราบ และดีเอสไอ และมีหลายหมายจับที่ตามเงินคืนให้เหยื่อได้ เช่น บางเคสผู้เสียหายรู้ว่าโดนหลอกปุ๊บ ก็รีบแจ้งความกับตำรวจในโรงพักที่ใกล้กับธนาคารที่สุด พนักงานสอบสวนก็รีบทำหนังสือส่งแฟ็กซ์ไปให้ธนาคารอายัด ซึ่งกรรมวิธีตรงนี้ หากไม่เกินหนึ่งชั่วโมง บางครั้งก็ยังไม่สูญเสียเงิน เพราะเงินยังไม่ถูกถอน แต่เป็นส่วนน้อย เพราะส่วนใหญ่เงินจะถูกถอนออกหมด ก็ต้องแจ้งความร้องทุกข์ว่าโดนแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอก ก็จะเข้าสู่กระบวนการสืบสวน ติดตามจากสมุดบัญชีว่าสุดท้ายคนร้ายคือใคร
...
ส่วนวิธีการหลอกนั้น มิจฉาชีพจะมีหลักการ คือ การทำให้เชื่อใจ ให้เหยื่อหลงเชื่อว่าจะได้เงินรางวัล หลอกให้กลัวว่าจะถูกดำเนินคดีพัวพันเกี่ยวกับการฟอกเงิน หรือคดียาเสพติด ซึ่งเป็นวิธีล่าสุดที่นิยมใช้ และคนที่โทรมาหลอกจะเป็นคนไทย ที่พูดภาษาไทยได้ดี เพราะต้องพูดโน้มน้าวให้เหยื่อเชื่อ ส่วนคนกดเงินที่เคยจับได้ เป็นคนไทย แต่พูดภาษาจีนได้เพราะมีเชื้อสายจีน เมื่อกดเงินแล้วก็ส่งเงินต่อๆ ไปจนถึงระดับหัวหน้า หลายเคสในไทยส่วนใหญ่ระดับหัวหน้าคือ คนไต้หวัน
วิธีสังเกตว่าใช่มิจฉาชีพหรือไม่ และข้อควรปฏิบัติเมื่อพลาดพลั้งตกเป็นเหยื่อ
พ.ต.อ.ธงชัย ระบุว่า ถ้าสงสัยว่ากำลังถูกหลอกลวงหรือไม่นั้น มีข้อสังเกตคือ ให้ดูหมายเลขที่โทรมาว่าเป็นเบอร์อะไร ปัจจุบันหมายเลขที่โทรมาจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ส่วนใหญ่ปลอมแปลงหมายเลขให้ตรงกับเบอร์ตั้งโต๊ะหน่วยงานของรัฐ เช่น ถ้าหลอกว่าโทรมาจากตำรวจภูธรภาค 5 จะขึ้นต้นด้วยหมายเลข 053... โทรมาจากไปรษณีย์ กรุงเทพฯ ก็ขึ้นต้นด้วย 02 เป็นต้น
ดังนั้นถ้าหมายเลขจากโทรศัพท์ตั้งโต๊ะ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นคนร้าย เพราะว่าหน่วยงานจริงๆ ของรัฐ เช่น ไปรษณีย์ จะไม่ใช้โทรศัพท์ตั้งโต๊ะโทรหาประชาชน เพราะหมายเลขโทรศัพท์ตั้งโต๊ะของหน่วยงานรัฐ จริงๆ มีไว้รับสาย โทรออก จะไม่ใช้เพราะว่าค่าสาธารณูปโภคของแต่ละหน่วยจะไม่เพียงพอ และสิ่งที่ควรทำเมื่อตกเป็นเหยื่อ อย่างแรกต้องระงับความเสียหาย คือ แจ้งธนาคารอายัดบัญชีตัวเราเองก่อน เพื่อไม่ให้มิจฉาชีพถอนเงินได้ หลังจากนั้นหากถูกถอนเงินไปแล้วต้องรีบแจ้งความร้องทุกข์ให้ตำรวจรีบสืบสวน
เปิดที่มา แก๊งมิจฉาชีพรู้ “ชื่อ นามสกุล และเบอร์โทรศัพท์” ได้อย่างไร
อย่างไรก็ตามกับข้อสงสัยนี้ พ.ต.อ.ธงชัย อธิบายว่า ยุคนี้เป็นยุคที่อินเทอร์เน็ตแพร่หลาย จากการที่ติดตามจับกุมจากหลายๆ กลุ่มพบว่า แหล่งข้อมูลทั้งชื่อ นามสกุล และเบอร์โทรศัพท์ ที่พวกมิจฉาชีพมีมาจากหลายทาง บางกลุ่มมีการซื้อข้อมูลผ่านโลกอินเทอร์เน็ต โดยมีการโอนเงินซื้อขายเบอร์โทรศัพท์พร้อมชื่อ นามสกุลของเจ้าของเบอร์ กับเจ้าหน้าที่ในองค์กร ห้างร้าน บริษัทต่างๆ ที่เก็บข้อมูลลูกค้าไว้ก็แอบเอามาขาย หรือจะเป็นการค้นหาข้อมูลในโลกอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะเฟซบุ๊กที่ใส่ชื่อและเบอร์โทรไว้
ป้องกันตนอย่างไร ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์
สำหรับการกวาดล้างแก๊งคอลเซ็นเตอร์จะหมดสิ้นได้หรือไม่นั้น พ.ต.อ.ธงชัย ให้ความเห็นว่า น่าจะไม่มีวันหมดไปได้ เพราะการสืบสวน ปราบปราม การจับกุม เป็นการทำเพื่อระงับยับยั้งความเสียหาย สมัยนี้เทคโนโลยีการสื่อสารเติบโตอย่างรวดเร็ว การขยายเครือข่ายองค์กรอาชญากรรมประเภทนี้ก็เยอะขึ้น ความสูญเสียก็มากขึ้น วิธีการที่ดีที่ทำควบคู่กัน คือการป้องกัน โดยการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รู้ว่ามันมีอาชญากรรมประเภทนี้อยู่ ต้องระวัง ไม่หลงกลตกเป็นเหยื่อ ซึ่งวิธีการหลอกก็แค่เพียงโทรศัพท์มาแล้วบอกให้โอนเงินให้เป็นแสนเป็นล้าน ทำไมบางคนถึงยอมนั้น ไม่ใช่เพราะเขาประมาทเลินเล่อ แต่มันเป็นเรื่องของการไม่รู้ข่าวสาร เลยตกเป็นเหยื่อมากกว่า
ส่วนวิธีป้องกัน หากได้รับโทรศัพท์จากคนไม่รู้จัก ควรมีสติให้มาก อย่าตื่นกลัว นึกทบทวนว่าสิ่งที่มิจฉาชีพบอกนั้นมีโอกาสเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน อย่าให้ข้อมูลส่วนตัวและข้อมูลทางการเงิน ไม่ทำรายการที่ตู้เอทีเอ็ม หรือเครื่องฝากเงินอัตโนมัติ ควรสอบถามข้อเท็จจริงกับสถาบันการเงินที่ถูกอ้างถึงหรือใช้บริการ โดยติดต่อฝ่ายบริการลูกค้า และควรถามชื่อ นามสกุล และเบอร์โทรติดต่อของผู้ที่โทรมา แม้บางครั้งจะไม่เป็นข้อมูลที่แท้จริง แต่อย่างน้อยก็ทำให้พวกมิจฉาชีพรู้ตัวว่าเรารู้ทันเกม.
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน