จุดผ่านแดนถาวร “ภูดู่” อำเภอบ้านโคก จังหวัดอุตรดิตถ์ อีกจุดเริ่มต้นหนึ่งของการเดินทางสู่ สปป.ลาว เปิดตั้งแต่เวลา 06.00 น. และปิดเวลา 20.00 น. ไม่เว้นวันหยุดราชการ

“ฝั่งไทยมีตลาดนัดวันศุกร์และวันเสาร์ครับ” พนักงานขับรถข้ามแดนบอก และเสริมว่า คนลาวเข้ามาซื้อของมากพอสมควร ส่วนใหญ่มาจาก เมืองปากลาย แขวงไชยะบุรี อยู่ห่างจากชายแดนไปราว 40 กม. “คนลาวมาซื้อของไทย ทั้งของกินและของใช้ครับ” พนักงานขับรถบรรทุกตบท้าย ก่อนเดินอาดๆไปที่รถ

“อย่าลืมนะครับ รถลาวต้องขับในเลนขวา” หัวหน้านำเที่ยวประกาศ พลางพูดติดตลกว่า “รถในประเทศลาวไม่ต้องกลัวชนครับ มีแต่ตำกัน” เอ่ยพลางหัวเราะร่วน

แค่ข้ามเขตแดนไทย ไม่ว่าจะเป็นระเบียบวินัยจราจร และคำพูดสื่อความหมายก็เปลี่ยน แม้ลาวกับไทยตระกูลภาษาจะเป็นตระกูลเดียวกัน แต่เมื่อต่างคนต่างใช้ ต่างคนต่างพัฒนา คำที่ดูเหมือนว่าจะใช้ในความหมายเดียวกัน เอาเข้าจริงบางคำก็ไม่ใช่

สองข้างทางก่อนถึงเมืองปากลาย เต็มไปด้วยโขดเขา เหนือโขดเขาเต็มไปด้วยข้าวโพดพันธุ์ดี เสียงกระซิบเบาๆบอกว่าออกไปจากประเทศไทยทั้งพันธุ์อันแสนวิเศษ ปุ๋ย และยา แถมรับซื้อกลับมาด้วยราคาที่เป็นธรรมอย่างยิ่ง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ข้าวโพดจะเขียวขจี ระบัดใบงดงามเหนือผืนดินลาว บนไหล่ภูแต่ละลูก

...

“เมือง” ปากลาย ถ้าเทียบกับประเทศไทยก็คือ “อำเภอปากลาย” เมืองนี้อยู่ติดแม่น้ำโขง ชาวบ้านยึดอาชีพเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์เป็นหลัก สินค้าส่วนใหญ่ข้ามไปจากประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นสบู่ ยาสีฟัน ผงซักฟอก อาหารปรุงสำเร็จรูปตราต่างๆ รวมไปถึงโทรศัพท์มือถือ แม่ค้าขายโทรศัพท์มือถือบอกว่า เครื่องส่งตรงเข้ามาจากเมืองไทย ดังนั้น ราคาเครื่องโทรศัพท์จึงแพงกว่าประเทศไทยเล็กน้อย แต่ซิมเป็นของลาวราคาไม่กี่บาท และค่าบริการไม่แพง จ่ายเพียง 100 บาท เล่นเน็ตได้เป็นอาทิตย์

ปากลายเป็นแผ่นดินพระมาตาของเจ้ามณีไล พระชายาในสมเด็จเจ้าฟ้าชายวงศ์สว่าง มกุฎราชกุมาร พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวัฒนา พระมหากษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งราชอาณาจักรลาว จึงไม่แปลกที่ร้านอาหารบางแห่งจะมีรูปของสองพระองค์ประดับอยู่บนฝาผนัง

ออกจากเมืองปากลายขึ้นเหนือสู่เมืองไชยะบุรี และจุดหมายปลายทางที่หลวงพระบาง ระยะทางจากภูดู่ไปไชยะบุรีราว 180 กม. และจากไชยะบุรีไปถึงหลวงพระบางราว 120 กม. รวมตัวเลขกลมๆก็ 300 กม. แต่ใช้เวลาราว 7 ชม. สาเหตุที่ช้าเพราะว่า สภาพทางส่วนใหญ่ต้องลดเลี้ยวไปตามไหล่เขา

สุจิตรา
สุจิตรา

จุดเปลี่ยนแปลงของเส้นทางนี้คือ ลาวสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงที่ท่าเดื่อ ชาวลาวเรียกว่า “ขัวข้ามของ ท่าเดื่อปากคอน” ทำให้การคมนาคมระหว่างสองฟากฝั่งคล่องตัวเป็นอย่างมาก แม้จะมีสะพานข้ามแม่น้ำโขง เส้นทางราดยางตลอดสาย แต่ด้วยสภาพทางที่สูงชันสลับกับคดเคี้ยว ทำให้รถแล่นได้ราว 40-50 กม.ต่อชั่วโมงเท่านั้น

ถึงเมืองมรดกโลกหลวงพระบางแล้ว ตรงไปที่วัดเชียงทอง เข้ากราบนมัสการพระแสนสุข พระประธานในพระอุโบสถ ชมโรงราชรถตระการตา และดูภาพชีวิตชาวลาวในอดีตที่วิหารน้อยๆ หรือ “สิม” ข้างพระอุโบสถ

สิมน้อยวัดเชียงทองมีอยู่ 2 หลัง หากไล่เรียงจากทางขึ้นหน้าวัด หรือจากแม่น้ำโขง หลังแรกมีภาพประดับกระจก เล่าเรื่องราววิถีชีวิต

ชาวลาวในอดีต และบางส่วนก็ยังไหวเต้นอยู่ในปัจจุบัน เช่น ภาพคนดำนา เป่าแคน จูงวัว หาปลา เป็นต้น ในสิมนี้ประดิษฐานพระม่าน พระคู่บ้านคู่เมืองของลาว ปัจจุบันยังไม่พบหลักฐานแน่ชัดว่า ระหว่างพระม่านกับพระบาง องค์ใดจะเก่าแก่กว่ากัน

ปกติพระม่าน ทางวัดจะเปิดให้นมัสการในช่วงเทศกาลสำคัญๆ แต่คณะของ “ททท.” ได้รับสิทธิพิเศษ พระภิกษุสงฆ์นำกุญแจรูปทรงโบราณมาไขให้เข้าไปกราบนมัสการ ทำให้นักท่องเที่ยวทั้งลาวและชาติอื่นๆ ที่เผอิญเข้าไปช่วงเปิดสิมได้เห็นพระม่าน และได้กราบนมัสการอย่างใกล้ชิดไปด้วย

...

สิมถัดไปอีกหลัง ภาพประดับกระจกเล่าเรื่อง “เสียวสวาด” นิทานเอกของลาว และชาวไทยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือก็รู้จักกันอย่างกว้างขวาง ภาพประดับกระจกแต่ละช่วงแต่ละตอนถ้าได้อ่านนิทานเรื่องเสียวสวาดไปก่อนแล้ว ก็จะทำให้มีความสุขในการดูมากยิ่งขึ้น ในสิมนี้ประดิษฐานพระไสยาสน์

เช้ามืดในหลวงพระบาง คลาคล่ำไปด้วยฝูงชนรอใส่บาตร โดยเฉพาะบริเวณหน้าวัดแสนสุขาราม มีชาวไทยและต่างชาติรายเรียงกันรอใส่บาตร เพียงชั่วอึดใจเล็กๆ พระภิกษุสงฆ์และสามเณรก็ทยอยกันออกมา ดูเป็นภาพสวยงาม และน่าประทับใจเป็นอย่างยิ่ง

ระหว่างรอใส่บาตร ทราบความว่า การใส่บาตรที่หลวงพระบางยามเช้า หากใครต้องการก็บอกคนบริหารจัดการได้ เพียงจ่ายให้กับผู้บริหารจัดการไป ราคาชุดละเท่าไรนั้น ขึ้นอยู่กับว่าจะเอาชุดเล็ก ชุดใหญ่ ตามแต่จะตกลงกัน ธุรกิจเล็กๆนี้เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และนับวันจะ เจริญรุ่งเรือง

หลังใส่บาตร ก็มีตลาดเช้าให้เยี่ยมชม สินค้าน่าสนใจเห็นจะเป็นสินค้าพื้นเมือง เช่น นกถอนขนลนไฟมาแล้วเป็นอย่างดี ตัวต่ออ่อนๆ ยกรังมาขาย และพืชผักสดๆวางขายชนิดทั้งแบกะดินและวางไว้บนร้าน ราคาถ้าเทียบกับเมืองไทยก็ไม่ต่างกันมากนัก เดือนสิงหาคม พ.ศ.2560 เงินไทย 1 บาท แลกเงินลาวได้ 250 กีบ ระหว่างเดินตลาด ได้ยินเสียงคนไทยท่องพึมพำๆในลำคอว่า 1,000 กีบ เท่ากับ 4 บาท 10,000 กีบ เท่ากับ 40 บาท และ 100,000 กีบ เท่ากับ 400 บาท ดังนั้น ถ้ามีเงินไทยเพียง 4,000 บาท เมื่อนำไปแลกเงินกีบก็จะมีเงินล้านตุงกระเป๋า

...

เส้นทางจากหลวงพระบางไปเชียงขวางราว 260 กม. เส้นทางที่ใช้คือ หลวงพระบาง พูคูน เชียงขวาง ใช้เวลาเดินทางประมาณ 7-8 ชม. ตลอดเส้นทางเต็มไปด้วยภูเขาสลับซับซ้อน รถค่อยๆไต่ไปตามไหล่เขาพอลงที่ราบสูง นั่นหมายความว่า ใกล้ถึงตัวเมืองเชียงขวางแล้ว

ครั้นถึงเชียงขวาง สถานที่แรกต้องไปดูคือ ทุ่งไหหิน ทุ่งไหหินมีจุดพบขนาดใหญ่อยู่ 3 แห่ง แห่งแรกอยู่ใกล้กับสนามบินเชียงขวาง มีไหนับร้อยอยู่ระเกะระกะ บางลูกจมดินลงไปเกือบครึ่ง บางลูกเกือบคว่ำลง บางลูกหงายขึ้นตรง สภาพเหล่านี้เกิดจากสภาพดินที่ทับถม และกระแสน้ำฝนพัดพาดินเข้ามา ไม่พบว่าไหลูกใดมีจารึก

ความมหัศจรรย์ของไหหินโบราณ ท้าวบุนมี เทปสีเมือง นักประวัติศาสตร์ลาว บอกว่า เป็นไหหินประกอบพิธีกรรมเกี่ยวกับการฝังกระดูกมนุษย์ อายุราว 2,500 ปี หรือมากกว่านั้น วิธีการทำไหหินสันนิษฐานว่า ตัดก้อนหินขนาดใหญ่ นำมาขุดเจาะเพื่อนำมาบรรจุเครื่องสังเวย หรือเครื่องอุทิศให้กับผู้ตาย และยังระบุอีกว่า ไหหินที่พบมีไม่ต่ำกว่า 1,000 ลูก

ในความเชื่อของชาวบ้าน ส่วนหนึ่งเชื่อว่าเป็นไหเหล้าของขุนเจือง ร่ำลือกันว่าเมื่อขุนเจืองชนะสงคราม ได้ให้ทหารหมักเหล้ากินกันอย่างเอิกเกริกเป็นเวลานาน ทำให้มีไหเหล้าเกลื่อนกลาดในท้องทุ่ง แต่นักวิชาการด้านโบราณคดีมีความเห็นแย้ง และเสนอความเห็นว่าน่าจะเป็นไหที่เกี่ยวกับพิธีกรรมศพมากกว่า เพราะพบทั้งกระดูก และข้าวของเครื่องใช้ของผู้ตาย

บริเวณใกล้เคียงทุ่งไหหินมีถ้ำเล็กๆอยู่ 1 แห่ง ภายในถ้ำนั้น สมัยสงครามเคยเป็นที่เผาศพนักรบ โดยกองรวมๆกันไว้แล้วจุดไฟเผาในคราวเดียวกัน สาเหตุที่ต้องทำเช่นนั้นเพราะว่า ถ้าประกอบพิธีกรรมภายนอกจะถูกเครื่องบินมาทิ้งระเบิด ผู้ประกอบพิธีจะพลอยเป็นศพไปด้วย

...

ในแง่ของการท่องเที่ยวไทยกับ สปป.ลาว ในเชิงนโยบายของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) นางสุจิตรา จงชาณสิทโธ รองผู้ว่า การด้านตลาดในประเทศบอกว่า นโยบาย 2560 มีเรื่องการท่องเที่ยวเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน “เราจะใช้ประเทศไทยเป็นศูนย์ท่องเที่ยว โดยจะดึงเอานักท่องเที่ยวจากรอบๆบ้านมาเที่ยวบ้านเรา”

นอกจากนั้น “เรามองว่า เราจะดึงนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่อยู่ตะเข็บชายแดน ให้เขาอยากจะออกเดินทางท่องเที่ยว ให้ใช้วันหยุดสุดสัปดาห์เป็นวันท่องเที่ยวในประเทศไทย และในอาเซียนด้วยกัน”.