พลันที่กลุ่มวิศวกรที่ร่วมกันตั้งกลุ่มธุรกิจสตาร์ตอัพ ชื่อว่า “คาร์ติเวเตอร์” และเพิ่งได้ทุนสนับสนุนจากบริษัทโตโยต้า ผู้ผลิตรถยนต์ของญี่ปุ่น สาธิตทดสอบโมเดลรถบินได้ไปเมื่อวันที่ 3 มิ.ย.ที่ผ่านมา ตั้งความหวังจะเร่งพัฒนาให้ทันใช้รถเหาะไปจุดไฟคบเพลิงโอลิมปิกที่กรุงโตเกียวในปี 2563 หรือในอีก 3 ปีข้างหน้าให้ได้
การแข่งขันเชิงนวัตกรรมสร้างรถเหาะหรือรถบินได้ก็เริ่มคึกคักขึ้นมาทันที แม้ยังมีปัญหาอุปสรรคอีกมากทั้งการออกแบบผลิตสร้างที่ยังไม่ลงตัวและการยอมรับจากทั้งภาครัฐและสาธารณะ
กลุ่มคาร์ติเวเตอร์เริ่มพัฒนารถบินได้ตั้งแต่ปี 2557 ใช้ชื่อว่า “สกายไดรฟ์” (SkyDrive) โดยใช้ทุนจากการระดมทุนสาธารณะ (crowd-funding) ตอนนี้ยังอยู่ในขั้นปฐมภูมิ แต่คาดหวังจะอวดโชว์รถเหาะแบบมีคนขับให้ได้ในปี 2561
เป้าหมายหลักจริงๆของคาร์ติเวเตอร์คือต้องการสร้างรถบินเหาะพลังงานไฟฟ้าที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลกและใช้ในเขตชุมชนเมืองเล็กๆได้ โดยหวังผลิตทำขายเชิงพาณิชย์ในปี 2568 และแน่นอนเงินทุนมีส่วนสำคัญมาก แม้โตโยต้าเพิ่งลงขันช่วย 385,000 ดอลลาร์ หรือราว 13 ล้านกว่าบาท
นอกจาก “คาร์ติเวเตอร์” แล้วยังมีอีกหลายบริษัทซุ่มแข่งพัฒนารถเหาะ (หรือรถที่ขึ้นบินและลงจอดแนวดิ่ง) เช่น บริษัท อูเบอร์ เทคโนโลยี จำกัด ประกาศแผนจะเปิดให้บริการแท็กซี่เหาะที่รัฐเท็กซัสของสหรัฐฯและนครรัฐดูไบของประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ภายในปี 2563 ส่วน เออร์บัน แอร์ โมบิลิตี้ บริษัทสาขาของ แอร์บัส กรุ๊ป ก็กำลังพัฒนารถเหาะอยู่เหมือนกัน
กลุ่มผู้พัฒนารถเหาะ ยังมีโจทย์ยากอยู่หลายข้อรวมทั้งการโน้มน้าวให้สาธารณชนและเจ้าหน้าที่รัฐที่มีหน้าที่ตรวจสอบควบคุมได้มั่นใจ เชื่อมั่นว่ารถเหาะสามารถเป็นยานพาหนะใช้ได้อย่างปลอดภัย
...
อันเป็นปัญหาเดียวกับกลุ่มอากาศยานไร้คนขับ (โดรน) และรถอัจฉริยะไร้คนขับที่ดูท่ามีอนาคตและมีโอกาสใช้ในเชิงพาณิชย์มากกว่าเพราะมีการซุ่มพัฒนาก่อนหน้านานแล้ว กำลังเผชิญอยู่.
เกรียงศักดิ์ จุนโนนยางค์