พูดถึงหนังสือแบบเรียนส่งเสริมการอ่านภาษาไทยเรื่อง “นกกางเขน” เด็กๆรุ่นนี้อาจจะไม่รู้จัก หรือไม่เคยได้ยินเพราะแม้จะมีให้อ่านอยู่แต่เป็นหนังสืออ่านประกอบเท่านั้นมิใช่ภาคบังคับ จะอ่านก็ได้ ไม่อ่านก็ได้
แต่สำหรับเด็กๆเมื่อ 50-60 ปีก่อนโน้นจะถูกบังคับให้อ่านทุกคนในช่วงเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 และเชื่อว่าจะยังคงจำได้ และน่าจะ ประทับใจอยู่จนถึงทุกวันนี้
หนังสือเรื่อง “นกกางเขน” แต่งโดย หลวงกีรติ วิทโยราฬ (นายกี่ กีรติวิทโยราฬ) และนายอร่าม สิทธิสาริบุตร พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2483 โดยกรมวิชาการ กระทรวงธรรมการ กำหนดให้นักเรียนชั้นประถมอ่าน โดยในการจัดพิมพ์ครั้งแรก ราคาเพียง 19 สตางค์ มีภาพประกอบสวยงาม
ต่อมาเมื่อ พ.ศ.2532 กระทรวงศึกษาธิการให้กรมวิชาการปรับปรุงใช้เป็นหนังสืออ่านเพิ่มเติมสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ตามหลักสูตรประถมศึกษาตอนต้น พุทธศักราช 2503 และเป็นหนังสือส่งเสริมการอ่านระดับประถมศึกษา โดยองค์การค้าของคุรุสภาจัดพิมพ์จำหน่ายที่ร้านศึกษาภัณฑ์พาณิชย์ ปรากฏว่า มีการพิมพ์ซ้ำอย่างต่อเนื่อง จนถึง พ.ศ.2558 พิมพ์ซ้ำครั้งที่ 57 เป็นจำนวน 10,000 เล่ม เท่ากับว่าหนังสือ “นกกางเขน” ได้ทำหน้าที่ส่งเสริมการอ่านให้เด็กไทยมาแล้วถึง 78 ปี
หัวหน้าทีมซอกแซกก็ถูกบังคับให้อ่านตอนเรียนประถม 2 น่าจะอายุ 7 หรือ 8 ขวบ เพราะเป็นเด็กต่างจังหวัด เข้าเรียนตามเกณฑ์จึงเรียนช้ากว่าเด็กกรุงเทพฯ
จำได้ว่าเป็นเรื่องที่น่ารักมาก อ่านแล้วรู้สึกรักนก สงสารนก และช่วงนั้นเป็นเด็กเกเร ชอบถือหนังสติ๊กไปไล่ยิงนกตามต้นไม้ต่างๆข้างบ้านอยู่ด้วยพออ่านเรื่องนี้จบก็ขว้างหนังสติ๊กทิ้ง เลิกยิงนกทันที แถมยังเลิกตกปลาไปเสียอีกด้วย หลังจากนั้น
นึกไม่ถึงว่ากว่า 60 ปีให้หลัง น่าจะเกือบๆ 70 ปีแล้วกระมัง หัวหน้าทีมซอกแซกจะมีโอกาสได้อ่านหนังสือเล่มนี้อีกหน
...
ไม่เพียงแต่จะอ่านเป็นภาษาไทยอย่างที่เคยอ่านตอนเด็กๆเท่านั้น เขายังแปลเป็นภาษาอังกฤษมาให้อ่านด้วย แปลกันบรรทัดต่อบรรทัดจนจบเล่ม
หัวหน้าทีมซอกแซกอ่านภาษาไทยก่อนอ่านรวดเดียวจบจากบทที่ 1 ไปถึงบทที่ 8 ที่เป็นบทสุดท้าย แบบวางไม่ลงเลยทีเดียว
นึกไม่ถึงว่า เรื่อง “นกกางเขน” จะสนุกสนานเพลิดเพลิน ซาบซึ้งตรึงใจและในตอนจบก็ใจหาย นํ้าตาแทบไหล ยามเมื่อพ่อนก แม่นกกับลูกนกจะต้องพรากจากกัน เพราะเมื่อลูกๆ โตแล้วจะต้องออกไปหากินด้วยตัวเอง
เมื่ออ่านภาษาไทยทบทวนความหลังเรียบร้อย แล้ว ค่อยเริ่มต้นอ่านภาษาอังกฤษ ซึ่งเมื่ออ่านจบก็อดมิได้ที่จะต้องแสดงความชื่นชมผู้แปล คุณเสาวณีย์ นิวาศะบุตร ที่แปลได้อย่างยอดเยี่ยม ใช้ภาษาง่ายๆ สละสลวย สมกับที่เคยได้รับรางวัลนักแปลดีเด่น รางวัลสุรินทราชา และเคยแปลกวีนิพนธ์ของสุนทรภู่ เป็นภาษาอังกฤษมาแล้วหลายเรื่อง
ทำให้เกิดความมั่นใจว่า หากมีการนำไปพิมพ์เผยแพร่เฉพาะภาษาอังกฤษ แล้วก็ส่งไปให้เพื่อนๆร่วมอาเซียนของเราได้อ่านกันบ้าง...เพื่อนๆ ของเราก็น่าจะเกิดความรู้สึกรัก และชื่นชมนกกางเขนครอบครัวนี้ ไม่น้อยไปกว่าคนไทยเราอย่างแน่นอน
หนังสือ “นกกางเขน” ในฉบับภาษาอังกฤษมีชื่อว่า “The Oriental Magpies” ครับ
อาจารย์ ดร.ถนอมวงศ์ ลํ้ายอดมรรคผล ผู้ริเริ่มในการจัดพิมพ์ขึ้นใหม่และแปลเป็นภาษาอังกฤษควบคู่ไปด้วย เปิดเผยถึงแรงบันดาลใจในการจัดพิมพ์ในลักษณะนี้ไว้ตอนหนึ่งว่า
“หลายคนที่เคยอ่านนกกางเขนกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า หนังสือเล่มนี้ควรกลับเข้ามาในห้องเรียน ให้เด็กไทยทุกคนอ่าน มิใช่เป็นเพียงชื่อในรายการหนังสือนอกเวลา ซึ่งครูจะเลือกให้เด็กอ่านหรือไม่ก็ได้เท่านั้น”
“และในยุคสมัยอาเซียน เราควรมีหนังสือเล่มนี้ฉบับแปลไปวางตามห้องสมุดของประเทศอาเซียนบ้าง เพื่อให้ชาวต่างประเทศมีโอกาสรู้จักนกกางเขนครอบครัวนี้ของเรา”
ทั้ง 2 เหตุผลนี้ ทำให้ท่านอาจารย์ในนามของ สมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทย ตัดสินใจติดต่อขออนุญาตจาก สำนักงานคณะ กรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ เพื่อแปลและจัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้ ซึ่งก็ได้รับอนุญาตกลับมาอย่างมีเงื่อนไขว่า “แปลได้พิมพ์ได้ให้จัดพิมพ์ครั้งนี้ 4,000 เล่ม แต่ห้ามนำไปจำหน่าย หรือแสวงหากำไร เพราะเป็นหลักเกณฑ์ในการปฏิบัติของทางราชการ”
เมื่อขายไม่ได้ จึงต้องหาต้นทุนมาพิมพ์เอง แต่ก็โชคดีที่มีผู้ใจบุญและคนรักหนังสือเล่มนี้จำนวนมาก อาจารย์ถนอมวงศ์บอกกล่าวไปถึงใครก็ได้รับความเมตตากลับมา จนต้องพิมพ์
รายชื่อขอบคุณยาวเป็นบัญชีหางว่าวเอาไว้ท้ายเล่ม
ท่านอาจารย์และคณะได้จัดส่งให้แก่ห้องสมุดสาธารณะต่างๆ ทั้งห้องสมุดทั่วไปและห้องสมุดสถานศึกษา โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน สถานพินิจ เรือนจำ ฯลฯ ทั่วประเทศเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ห้องสมุด หรือโครงการส่งเสริมการอ่านที่ประสงค์จะมีหนังสือนกกางเขนฉบับ 2 ภาษานี้ไว้สำหรับห้องสมุด หรือที่อ่านหนังสือของท่านโปรดทำจดหมายแจ้งความจำนงถึงท่านอาจารย์ ถนอมวงศ์ ล้ำยอดมรรคผล นายกสมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทย สมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทย โรงแรมดุสิตเพลส (ชั้น 1) 295 ถนนราชสีมา แขวงวชิรพยาบาล เขตดุสิต กทม. 10300 ได้ตั้งแต่บัดนี้
หนังสือมีจำนวนจำกัด ใครส่งก่อนได้ก่อน และขอเรียนย้ำอีกครั้งว่า มอบให้เฉพาะห้องสมุด หรือโครงการสาธารณประโยชน์เท่านั้น
สำหรับทีมงานซอกแซกขอขอบคุณอาจารย์ถนอมวงศ์และคณะอีกครั้ง ที่กรุณาส่งหนังสือเล่มนี้มาให้เผยแพร่ ทำให้หัวหน้าทีมระลึกถึงความหลัง และรำลึกถึงนกกางเขนครอบครัวนี้ด้วยความสุขใจ
พร้อมกับขอใช้สิทธิ์ในการจะเก็บหนังสือไว้ให้หลานสาวซึ่งมีอายุ 4 ขวบแล้วตอนนี้ไว้อ่านตอนที่เธอเรียน ป.2 โดยจะไม่ส่งมอบให้ห้องสมุดไทยรัฐเหมือนหนังสือเล่มอื่นๆนะครับ น้องๆบรรณารักษ์ไทยรัฐโปรดทราบด้วย.
...
“ซูม”