การเมืองไทยในยุคใหม่อาจจะมีทั้งการเลือกตั้ง ส.ส.แบบพิสดาร ที่เรียกว่าระบบจัดสรรปันส่วนผสม ส่วนการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นที่จะมาก่อน ก็อาจเป็นการเลือกตั้งที่เกิดขึ้น ตามกฎหมายแม่ที่ขัดกับกฎหมายลูก แม้จะให้มีการหาเสียงได้ แต่จะต้องไม่สร้างความขัดแย้ง และ “ห้ามโจม ตี คสช.” แสดงว่าอาจโจมตีคู่แข่งได้ แต่ห้ามแตะต้อง คสช.

เป็นการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่นทั่วประเทศ 8,410 ตำแหน่ง บางส่วนครบวาระตั้งแต่ปี 2557 แต่ถูกแช่แข็งเอาไว้ โดย คสช.ใช้มาตรา 44 แต่งตั้งผู้บริหาร เช่น ผู้ว่าราชการ กทม. นอกจากนั้น จะเป็นการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนตำบล องค์การบริหารส่วนจังหวัด และเทศบาล บางคนวิจารณ์ว่าเป็นการหยั่ง เสียงของ คสช.

ปัญหาสำคัญอีกอย่างหนึ่งในการเลือกตั้งท้องถิ่น รัฐธรรมนูญระบุว่า กกต.มีหน้าที่และอำนาจในการจัด หรือดำเนินการให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่น แต่กฎหมาย กกต.กลับให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้จัด โดยมี กกต.เป็นผู้ควบคุม กกต.จึงมีมติยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพื่อให้มีข้อสรุปที่ชัดเจน จึงจะจัดการเลือกตั้งได้

ประเด็นสำคัญอีกอย่างหนึ่ง ได้แก่ คำให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ว่า การหาเสียงเลือกตั้งท้องถิ่นทำได้ แต่ห้ามสร้างความขัดแย้ง และห้ามโจมตี คสช. แต่ไม่ชัดเจนว่าจะออกกฎหมายห้ามโดยตรง และมีบท ลงโทษถึงจำคุกหรือไม่ กฎหมายเลือกตั้งฉบับก่อนๆห้ามเฉพาะ “การใส่ร้ายด้วยความเท็จ” มีโทษจำคุกถึงสิบปี

สะท้อนถึงแนวความคิดของ คสช. ที่ห้ามมีความเห็นต่างและขัดแย้ง แต่ คสช. กลับก่อความขัดแย้งเสียเอง ตัวอย่างเช่น 6 คำถาม ของนายกรัฐมนตรี ข้อ 6 ถามว่าเหตุใดพรรคการเมือง นักการเมือง จึงออกมาเคลื่อนไหว คอยด่า คสช. รัฐบาล นายกรัฐมนตรี โดยบิดเบือนข้อเท็จจริงในการทำงาน ถามแบบนี้ก่อความขัดแย้งระหว่าง คสช.กับพรรคการเมืองหรือไม่?

...

เช่นเดียวกับคำถามที่ 5 ถามว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ได้แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพ การมีธรรมาภิบาล และมีการพัฒนาประเทศที่ต่อเนื่องชัดเจนหรือไม่? นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ศอกกลับว่า หาก คสช.ดูถูกและรังเกียจนักการเมือง คสช.ก็ต้องพร้อมที่จะรับได้ว่า ฝ่ายการเมืองก็ดูถูกและรังเกียจคนที่ไม่ได้เข้ามาตามครรลองประชาธิปไตย

ความเห็นต่างและการวิพากษ์ วิจารณ์เป็นเรื่องปกติในสังคมประชาธิปไตย ต้องยอมรับฟังความคิดเห็นต่าง ไม่มองว่าเป็นการโจมตีหรือการด่า หรือเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริง ถ้ามีการบิดเบือนข้อเท็จจริง ต้องนำข้อเท็จจริงมาหักล้างและต้องแยกแยะระหว่าง “การวิจารณ์” และ “การด่าหรือโจมตี” ประชาธิปไตยห้ามแค่ “ใส่ร้ายด้วยความเท็จ”.