เนื่องจากถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ต้องตัดสินใจถอย กรณีการจัดซื้อเครื่องตรวจจับความเร็วแบบพกพาในราคาที่สูงเกินจริง รมว.มหาดไทยชี้แจงว่ากรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ไปหาข้อมูลเกี่ยวกับสเปกของเครื่อง และหาราคากลางใหม่

เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง ครั้งที่สองของรัฐมนตรีมหาดไทย หลังจากที่เคยสั่งยกเลิกสัญญา ให้บริษัทในเครือของยักษ์ใหญ่เครื่องดื่มชูกำลัง เช่าป่าสาธารณะของประชาชนในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น หลังจากที่มีการร้องเรียน และเปิดเผยว่าไม่ได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน แม้ว่าการเลิกสัญญาจะทำให้บริษัทยักษ์ใหญ่เลิกลงทุนตั้งโรงงาน 3 พันล้านบาท

ส่วนการจัดซื้อเครื่องจับความเร็วการขับรถ ที่เป็นข่าวอื้อฉาวครั้งใหม่ มี ปภ. เป็นเจ้าภาพ เสนอซื้อ 849 เครื่อง ราคาเครื่องละ 675,000 บาท รวมเป็นเงิน 573 ล้านบาท ถูกวิจารณ์ว่าแพงเกินไป เพราะจากการตรวจสอบของภาคประชาชน พบว่าไม่น่าจะเกิน 130,000 กว่าบาท อีกทั้งมีปัญหาในการตรวจสอบ และความโปร่งใสในการจัดซื้อ

รัฐบาล คสช. ให้ความสำคัญต่อการจัดซื้อจัดจ้างของทางราชการ เห็นได้จากการแก้ไขกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบควบคุมกลาง เนื่องจากในแต่ละปี รัฐได้รับความเสียหายจากการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเป็นเงินหลายแสนล้านบาท และมีการจัดตั้งศาลอาญาคดีการทุจริตประพฤติมิชอบ เพื่อตัดสินคดีโดยตรง

มีตัวอย่างคำพิพากษาของศาลคดีอาญาการทุจริต เมื่อเดือนมีนาคม 2560 พิพากษาให้จำคุกจำเลย ซึ่งเป็นรองอธิบดี กับข้าราชการที่เป็นจำเลยรวมอีก 13 คน คนละ 50 ปี ฐานกระทำผิดต่อหน้าที่ราชการ และผิดกฎหมายฮั้วประมูล จากกรณีการ

...

จัดซื้อต้นไม้และปรับปรุงภูมิทัศน์อาคารสถานที่ของกรม รวม 201 สัญญา เป็นเงิน 311.3 ล้านบาท โดยวิธีการทุจริตคำพิพากษาของศาลน่าจะเป็นอุทาหรณ์ เป็นบทเรียนสำหรับข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ในการจัดซื้อจัดจ้างต่างๆ คำพิพากษาศาลระบุด้วยว่าจำเลยที่ 1 คือรองอธิบดี กระทำผิดถึง 49 กระทง ให้จำคุกกระทงละ 5 ปี รวมเป็น 245 ปี แต่กฎหมายให้จำคุกได้สูงสุด 50 ปี เช่นเดียวกับจำเลยอื่นๆ ก็มีความผิดคนละ 30-40 กระทง

การจัดซื้อจัดจ้างของทางราชการ ซึ่งจะต้องใช้งบประมาณที่มาจากภาษีของประชาชน จะต้องยึดหลักธรรมาภิบาลโดยเคร่งครัด ยึดถือความโปร่งใสตรงไปตรงมา นอกจากการยึดกฎหมายหรือระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างของทางราชการ รัฐมนตรีผู้มีอำนาจกำกับดูแลหน่วยงานที่จัดซื้อจัดจ้าง ก็จะต้องยึดหลักธรรมาภิบาลเช่นความคุ้มค่า และความพร้อมรับผิดเมื่อเกิดเสียหาย.