วันที่ 9 ก.ค.ปี 2560 นี้ ตรงวัน แรม 1 ค่ำ เดือน 8 ชาวพุทธ ถือกันเป็นวันเข้าพรรษา

สมัยพุทธกาล บริเวณที่พระสงฆ์แยกย้ายกันเผยแผ่พุทธศาสนา ช่วงเวลานี้ฝนตกหนัก ข้าวนาข้าวของชาวนากำลังชูช่อ กอไสว พระท่านก็มักเผลอไปเหยียบย่ำข้าวเสียหาย

พระพุทธเจ้าทรงเห็นว่า พระควรหยุดพักสักสามเดือน

แต่สมัยพุทธกาล...พระเดินทางด้วยเท้าตั้งใจแล้วก็ยังเดินไปไม่ทัน เลยกำหนด วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 แล้ว พระพุทธองค์ จึงทรงอนุญาตให้อธิษฐานเข้าพรรษาได้ช้าไปอีก 1 เดือน

พระอธิษฐานพรรษาได้สองวัน แรม 1 ค่ำ เดือน 8 เรียกปุริมพรรษา แรม 18 ค่ำ เดือน 9 ปัจฉิมพรรษา

การจำพรรษาสามเดือนมีอธิบายในพระวินัย พระจะไม่ไปค้างคืนที่อื่น ถ้าไปค้างคืนที่อื่นเรียกว่า ขาดพรรษา

แต่เมื่อมีข้อห้าม เวลาเกิดมีเหตุจำเป็นก็มีข้อยกเว้นเช่น ไปดูแลปรนนิบัติโยมบิดาโยมมารดาที่เจ็บป่วย เสนาสนะวัดที่เคยอยู่ถูกภัยพิบัติ เช่นน้ำท่วม ไฟไหม้ต้องไปซ่อมแซม

ข้อยกเว้นอื่น...ใน 7 ข้อจะมีอะไร ผมจำไม่ได้จำได้ข้อหนึ่งจากเรื่องจริงรู้มาสมัยเป็นสามเณร

วัดหนึ่งในเพชรบุรี พรรษานั้น สมภารไปจำพรรษาที่วัดมหาธาตุ ท่าพระจันทร์ กรุงเทพฯเพื่อเรียนวิปัสสนา

กลางพรรษา พระบวชใหม่หัวโจก เป็นลูกกำนัน โยมพี่สมภาร เจอข้อหาฆ่าไก่วัดแกล้มเหล้ามีพระเก่าเอื้อเฟื้อพื้นที่ในโบสถ์ เป็น
“วงเหล้า”

เรื่องจำติดใจความลับไม่น่าจะรั่วออกนอกหน้าต่างโบสถ์เลย เมื่องานเลี้ยงเลิกรา พระใหม่แยกย้ายกลับกุฏิ

แต่เกิดเรื่องผีเจ้าเขาเข้าทรงพระเก่า...ชี้อกด่าตัวเองว่า

“ไม่ใช่พระ”

เรื่องอื้อฉาวนี้ ท่านสมภารก็ต้องพักเรียนวิปัสสนา มาชำระอธิกรณ์ที่วัดจับพระก่อเรื่องสึกหมด แล้วท่านก็กลับไปฝึกวิปัสสนาต่อ
เหตุอธิกรณ์แบบนี้น่าจะเป็น 1 ในข้อยกเว้น 7 ข้อ ที่พระขาดพรรษาได้...ภาษาชาววัด เรียกว่า สัตตาหกรณียะ เป็นอันว่า ท่านสมภารไม่เป็นอาบัติข้อขาดพรรษา

...

ตอนบวชเณร ผมเคยท่องนวโกวาทได้ทั้งเล่ม แต่ตอนนี้ลืมไปเกือบหมดแล้วยังพอเข้าใจเป็นอาบัติเบาๆ เช่น พระกล่าวมุสา อาบัติปาจิตตีย์ อาบัตินี้ “ปลง” คือบอกพระด้วยกันก็หาย

ไม่หนักเหมือนอาบัติสังฆาทิเสส ต้องแยกไปอยู่กรรม ทบทวนตัวเอง หรือปาราชิกขาดจากความเป็นพระ

ผมยกเรื่องศีลพระวันเข้าพรรษามาเล่า เพราะนึกไปถึง

ศีลข้อหนึ่งของนักการเมือง...คือข้อ ละเมิดกฎประชาธิปไตย

ตอนนี้มีข่าวตามวินัยรัฐธรรมนูญมีข้อห้าม พลเอกประยุทธ์สมัครรับเลือกตั้ง

หากจะเป็นนายกฯอีกก็ต้องเป็นนายกฯคนนอก ซึ่งตามกติกาใหม่ไม่ห้าม

ผมไม่แน่ใจ ถ้าเทียบกับศีลข้อจำพรรษา นายกฯคนนอกมีข้อยกเว้น 7 ข้อ แบบสัตตาหะกรณียะไว้บ้างหรือไม่ แต่พอเข้าใจเมื่อมีเหตุหานักเลือกตั้งเป็นนายกฯที่แสนดีไม่ได้คนนอกก็จำเป็น

เป็นอันว่าข้อครหา นายกฯคนนอกเปรียบอาบัติพระ

ก็เป็นอาบัติเบาๆ แค่ “ปลง” ก็หายพระแบบนี้ยังยกมือไหว้ได้

กราบได้ ใส่บาตรตอนเช้าทุกวันได้สนิทใจ สังคมไทย ไม่ถือสาอะไรนัก

แต่อาบัติเบาบางข้อ เช่นพระฉันข้าวเย็น ก๊งเหล้า...ปลงหายก็จริง แต่ถ้าเรื่องนี้เป็นโลกวัชชะโลกนินทา...ข้อหาโลกนินทา พระบางรูปอยู่ไม่ได้สึกไปหลายองค์

เช่นเดียวกับนายกฯทหาร...คนหนึ่งในอดีต เจอข้อหาโกหกเพื่อชาติ โลกนินทาก็อยู่ไม่ได้ ข้อหาโลกนินทาดูแคลนไม่ได้
มีอำนาจสักแค่ไหนก็พึงสังวรระวัง.

กิเลน ประลองเชิง