พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การ บริหารจัดการการทำงานคนต่างด้าว ที่สร้างความปั่นป่วนทั้งนายจ้างและลูกจ้าง เป็นตัวอย่างหนึ่งของการออกกฎหมาย ในยุคที่นักวิชาการเรียกว่า “รัฐราชการ” เป็น พ.ร.ก.ที่ใช้บังคับทันที ทำให้แรงงานชาวพม่าและกัมพูชาหนีกลับบ้านนับหมื่น เพราะกลัวถูกจับเข้าคุก และนายจ้างต้องเสียค่าปรับรายละ 4 ถึง 8 แสนบาท
คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน ยื่นหนังสือร้องเรียนระบุว่า พ.ร.ก.ที่ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน มีบทลงโทษสูงเกินไป และส่งผลกระทบในวงกว้าง โดย เฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการขนาดเล็ก ทั้งภาคอุตสาหกรรม ธุรกิจ การท่องเที่ยวและบริการ สมาคมภัตตาคารไทยเปิดเผยว่า ร้านอาหารทั่วประเทศ (4 แสนร้าน) ปั่นป่วน เพราะใช้แรงงานต่างด้าว
แต่ยังเคราะห์ดีที่นายกรัฐมนตรีตัดสินใจใช้อำนาจ ม.44 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้า โดยให้ชะลอการใช้บังคับ พ.ร.ก. 3 มาตรา เป็นเวลา 120 วัน จะไม่มีการจับกุม หรือกวดขันแรงงานผิดกฎหมาย ยกเว้นความผิดฐานค้ามนุษย์ และให้เวลาแรงงานต่างด้าวกลับไปทำเอกสารให้ถูกต้อง แต่ฝ่ายนายจ้างคาดว่าอาจต้องใช้เวลาถึง 2–3 เดือน
อธิบดีกรมจัดหางานเปิดเผยว่า ขณะนี้มีแรงงานต่างชาติทำงานอยู่ในไทย ราว 2.6 ล้านคน เป็นแรงงานถูกกฎหมาย 1.3 ล้านคน ผิดกฎหมาย 1.3 ล้านคน ประธานหอการค้าสมุทรสงครามชี้แจงว่า เหตุที่มีแรงงานผิดกฎหมายอยู่เป็นอันมาก เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายไม่จดทะเบียนมา 2–3 ปีแล้ว แสดงว่ามีปัญหาแรงงานเถื่อนมากขึ้นในช่วงรัฐบาล คสช.
เป็นตัวอย่างของการออกกฎหมายในยุครัฐบาลรัฐราชการ ถือว่ามีอำนาจสามารถออกกฎหมายใช้บังคับในทันที โดยไม่ได้ทำตามกระบวนการตามรัฐธรรมนูญครบถ้วน เช่น ไม่เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น “ของผู้เกี่ยวข้อง” ตามรัฐธรรมนูญ ถ้าหากมีการรับฟังความเห็นตั้งแต่แรก คณะกรรมการ กรอ.จะขอร้อง “ให้ผู้แทนภาคเอกชนมีส่วนร่วม” ทำไม
...
ยิ่งกว่านั้น กฎหมายฉบับนี้ยังออกเป็น พ.ร.ก. แต่ไม่ทราบว่ายึดตามรัฐธรรมนูญโดยเคร่งครัดหรือไม่ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 กรณีที่ต้องออก พ.ร.ก.ได้แก่การรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ “ให้กระทำได้เฉพาะเมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นว่าเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วน อันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้” เท่านั้น
แต่การออก พ.ร.ก.ใช้บังคับทันที โดยไม่ให้เวลาผู้ที่เกี่ยวข้องปรับตัว นอกจากอาจไม่สามารถรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจแล้ว ยังสร้างความปั่นป่วนทั้งอุตสาหกรรมการก่อสร้าง การประมง ร้านอาหาร ปั๊มน้ำมัน ร้านค้า ฯลฯ ทั่วประเทศ และยังมีคำถามด้วยว่าปัญหาแรงงานต่างด้าว หมักหมมมานานหลายสิบปี ทำไมจึงเพิ่งมา “จำเป็นรีบด่วน”