ขณะที่เขียนเปิดฟ้าส่องโลกฉบับวันจันทร์รับใช้ผู้อ่านท่านที่เคารพ ผมได้รับข้อความเล่าถึงความเดือดร้อนของผู้ประกอบการชาวไทยมากจริงๆ ไม่เคยมีครั้งไหนที่จะมีข้อความร้องเรียนเข้ามาทางไลน์แอดไอดี @ntp5 มากขนาดนี้
ตลาดแห่งหนึ่งในจังหวัดนครปฐมมีคนงานต่างชาติทำงานอยู่ทุกแผงรวมกันประมาณ 700 คน วันนี้คนงานต่างชาติเตรียมเดินทางกลับประเทศ คนที่ร้องไห้คือเจ้าของแผง เจ้าของธุรกิจ ผู้ประกอบการเหล่านี้ไม่เคยนึกมาก่อนเลยว่ากฎหมายของประเทศจะออกมาตัดมือตัดเท้า ตัดโอกาสการทำมาหากินของตนเองและครอบครัว ซึ่งผิดกับกฎหมายของชาติบ้านเมืองอื่นที่ออกมาช่วยเหลือประชาชนคนของประเทศตนให้สามารถดำเนินธุรกิจได้ ย้อนหลังกลับไปสมัยก่อนตอน 10-20 ปีที่แล้ว รัฐบาลและนายจ้างไทยจะปฏิบัติต่อแรงงานต่างชาติอย่างไรก็ได้ เพราะคนเหล่านี้ไม่มีทางไป ขืนเดินทางกลับประเทศ ก็กลับไปตกงาน ไม่มีกิน ครอบครัวลำบาก
แต่ปัจจุบันทุกวันนี้ไม่ใช่แล้วครับ ตั้งแต่เมียนมาร่างรัฐธรรมนูญเสร็จเมื่อ พ.ศ.2553 มีการเลือกตั้งครั้งแรก พ.ศ.2554 และมีการเลือกตั้งครั้งที่ 2 พ.ศ.2558 สถานการณ์การเมืองในเมียนมามีความมั่นคงสูง มีความเป็นประชาธิปไตยสากล นักลงทุนโลกขนเงินไปลงทุนในเมียนมากันบานเบอะเยอะแยะ โรงงานผุดขึ้นมาใหม่ราวกับดอกเห็ด โรงงานเหล่านี้ต้องการแรงงานชาวเมียนมาที่เคยมีประสบการณ์ทำงานในประเทศไทยมาก่อน
ค่าจ้างของแรงงานที่ยัง “ไม่เคย” มาทำงานในประเทศไทยกับแรงงานที่ “เคย” ทำงานในประเทศไทยต่างกันมากครับ ถึงแม้ไม่มีกฎหมายด้านแรงงานต่างด้าวฉบับใหม่ แรงงานเมียนมาก็เดินทางกลับไปทำงานในประเทศของตัวเองกันอยู่แล้ว เมื่อมีกฎหมายฉบับใหม่ออกมา ก็ยิ่งเป็นตัวขับให้คนงานเดินทางกลับเมียนมาเร็วขึ้น
...
ผู้ประกอบการชาวไทยล้วนตกอยู่ในความเครียด เพราะแรงงานไทยไม่ยอมกลับมาทำงานประเภทที่แรงงานเมียนมาทำ เจ้าของธุรกิจจะลงไปทำเองก็ไม่ไหว สภาวะเศรษฐกิจของโรงงาน ของร้านค้าของตลาด หรือของบริษัทที่แย่มาแล้ว 3 ปี วันนี้ก็ยิ่งดิ่งลงเหวอนาคต ของผู้ทำธุรกิจมืดมนอนธการยิ่งนัก
ตั้งแต่ประเทศไทยโดนสหภาพยุโรปตัดจีเอสพีสินค้า 6,200รายการ เมื่อ 1 มกราคม 2558 และโดนเล่นงานเรื่องการทำประมงผิดกฎหมาย ผู้ประกอบการชาวไทยจำนวนหนึ่งไม่สามารถผลิตสินค้าส่งออกไปขายในต่างประเทศได้อยู่แล้ว คนที่มีศักยภาพก็ปิดโรงงานในประเทศไทยและไปเริ่มธุรกิจในประเทศใกล้เคียงประเทศที่ผู้ประกอบการนิยมย้ายไปมากก็คือเวียดนาม เพราะตั้งแต่ 2 ธันวาคม 2558 รัฐบาลเวียดนามไปลงนามเขตการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป ทำให้การผลิตสินค้าในเวียดนามเพื่อส่งออกไปยังตลาดยุโรปบูมตูมตามเพราะไม่มีภาษี
แรงงานต่างชาติทยอยกลับไปยังประเทศชาติบ้านเมืองของตัวเองตั้งแต่ พ.ศ.2557 และกลับไปมากขึ้นเมื่อ พ.ศ.2558 ในความเป็นจริง ผู้ประกอบการชาวไทยเริ่มหาแรงงานได้ยากมา 2-3 ปีแล้วครับ
ชาวสวนของไทยแถวภาคตะวันออกเริ่มลืมตาอ้าปากได้ในปีนี้เพราะราคาผลไม้ดี ผลิตออกมาได้เท่าใด พ่อค้าคนจีนมารับซื้อไปขายให้คนจีนทานจนแทบเกลี้ยงสวน แต่เราก็ต้องยอมรับนะครับ ว่าคนไทยเป็นเจ้าของสวนก็จริง แต่คนที่ทำงานของจริงเป็นแรงงานกัมพูชา ตั้งแต่รดน้ำ พ่นยาและสารอาหาร ตัดแต่งกิ่ง กำจัดวัชพืช และเก็บผลผลิต ตอนนี้ชาวสวนหลายคนเริ่มกังวลเรื่องผลผลิตในปีหน้า เพราะว่าแรงงานกัมพูชาเดินทางกลับประเทศ
เดือนมิถุนายน ผมตามอาจารย์นิติภูมิธณัฐขับรถเทียวเที่ยวไปในจังหวัดพระตะบอง จังหวัดไพลิน และจังหวัดโพธิสัตว์ สิ่งที่ผมเห็นกับตาตนเองก็คือถนนหนทางทั้งลาดยางทั้งคอนกรีตในกัมพูชาสร้างขึ้นมาใหม่เยอะมากด้วยความช่วยเหลือด้านการเงินจากจีนและมีบริษัทจีนเข้ามาก่อสร้าง เส้นทางใหม่เหล่านี้ทำให้มีการบุกเบิกพื้นดินเกษตรใน 3 จังหวัดที่ผมเอ่ยชื่อไปแล้ว สองข้างทางเต็มไปด้วยแปลงเกษตรที่มีทั้งเงาะ ทุเรียน ลำไย ฯลฯ คนกัมพูชาทำการเกษตรแบบนี้ได้เพราะมีแรงงานที่ผ่านประสบการณ์การทำแปลงเกษตรในเมืองไทยไปทำให้
ผมขอเป็นนอสตราดาโม้ว่า ในอนาคต เราไม่มีทางหลีกเลี่ยงที่จะต้องนำแรงงานจากเนปาลและบังกลาเทศเข้ามาทำงานแทนแรงงานเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนประชิดติดกัน เมื่อวันนั้นมาถึง สถานการณ์แรงงานในประเทศจะยุ่งยากมากกว่านี้เยอะครับ.
นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com