เร่งแก้ไข ก่อนวุ่นวายไปทั้งเมือง

คงเป็นเพราะความจำเป็นที่ต้องการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ซึ่งประเทศไทยถูกสหรัฐอเมริกาวางบิลกำหนดให้เป็นประเทศที่จะต้องจับตา (เทียร์ 2) และปีนี้ก็ยังคงอยู่อันดับเท่าเดิม

เหตุผลก็คือแม้ไทยไม่ได้ทำตามมาตรฐานขั้นต่ำในการปราบปรามค้ามนุษย์ แต่แสดงความพยายามปราบปรามยึดทรัพย์บรรดาผู้ค้ามนุษย์รวมมูลค่า 784 ล้านบาท

ยังดำเนินคดีเจ้าของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้แรงงานในภาคประมงมากขึ้น พร้อมยืดระยะเวลาให้เหยื่อและพยานชาวต่าง ชาติในคดีค้ามนุษย์ได้พำนักอยู่ในประเทศนานขึ้น

แต่รัฐบาลไทยไม่ได้แสดงความพยายามมากขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงที่ผ่านมา และไม่ได้ดำเนินคดีอาชญากรรมเกี่ยวกับการค้ามนุษย์อย่างแข็งขันมากขึ้น

นั่นคือคำตอบที่ยังไม่ยอมยกระดับให้ดีขึ้น

แน่นอนว่าเรื่องค้ามนุษย์นั้นถือเป็นเรื่องสำคัญทั้งโลกไม่ใช่ประเทศใดประเทศหนึ่ง เพราะเป็นที่ไม่ถูกต้องอย่างยิ่ง

แต่อีกด้านหนึ่งก็เป็นเครื่องมือสำคัญของมหาอำนาจอย่างสหรัฐที่จะใช้เป็นกลไกเพื่อตอบโต้และกุมสภาพของประเทศอื่นๆได้

อย่างปีนี้จีนก็โดนเต็มๆ เพราะสหรัฐฯจัดอันดับให้อยู่ใน
เทียร์ 3 ถือเป็นประเทศที่มีการค้ามนุษย์ที่รุนแรง

แต่ให้เหตุผลว่าเพราะไม่จริงใจปัญหาเกาหลีเหนือ

เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่าไทยนั้นก่อนที่รัฐบาลทหารจะเข้ามาบริหารประเทศไม่เคยมีปฏิกิริยาจากสหรัฐฯแม้แต่น้อยทั้งๆที่เป็นปัญหาใหญ่และทิ้งเชื้อจนมาถึงรัฐบาลชุดปัจจุบัน

แม้ภาพรวมที่รัฐบาลได้พยายามแก้ไขอย่างเต็มที่ผลจะออกมาดีขึ้นหรืออย่างไรก็ตามก็ยังต้อง “วางบิล” เอาไว้ก่อน

อีกทั้งอย่างเหตุผลของสหรัฐฯนั้นก็เป็นความจริงที่ต้องยอมรับ เพราะปัญหาต่างๆแม้จะดีขึ้น แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ไขได้อย่างเป็นรูปธรรมชัดเจนทั้งหมด

...

คือมีความพยายามแต่กระบวนการแก้ไขยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ การบังคับใช้กฎหมายดำเนินการไปในลักษณะที่ไม่ควรจะเป็น

เจ้าหน้าที่รัฐที่ร่วมกระทำผิดยังไม่มีการจัดการอย่างเด็ดขาด

การไปเน้นแก้ไขปัญหาด้านกระบวนการทางกฎหมายก็เป็นหนึ่งที่มีความจำเป็น แต่หากไม่สามารถบังคับให้ได้ผลก็เป็นเรื่องยากที่จะแก้ไขให้เกิดผลชัดเจนได้

พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนงานต่างด้าว พ.ศ.2560 ที่มีบทลงโทษสูงมาก หากมีการกระทำผิดนอกจากจับเข้าคุกแล้ว ยังมีค่าปรับที่สูงมากในระดับ 400,000 บาท

ปัญหาก็เลยเกิดขึ้นทั้งเจ้าของกิจการและแรงงานต่างด้าว

นั่นเพราะคิดว่า พ.ร.ก.ดังกล่าว น่าจะทำให้สหรัฐฯมองว่าไทยเอาจริงเอาจัง มีบทลงโทษที่รุนแรง อันจะทำให้แก้ไขปัญหาได้

ผลก็คือสหรัฐฯจะยกระดับให้ดีขึ้น แต่ก็ไม่ได้ผล

สุดท้ายผลจาก พ.ร.ก.นี้กลับกลายเป็นตัวสร้างปัญหาเกิดความวุ่นวายไปตั้งแต่ระดับครอบครัวชาวบ้านทั่วไป กิจการร้านค้า บริษัทห้างร้านต่างๆ

พูดง่ายๆว่าเดือดร้อนครอบคลุมไปทั้งระบบ

เป็นความจริงที่ยากปฏิเสธได้มีทางเดียวก็คือ จะต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพื่อให้เวลาในการปรับตัวทั้งระบบ ไม่ว่าฝ่ายไหนก็ตาม

ขืนช้าไปจะส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศอย่างแน่นอน เพราะแรงงานต่างด้าวนั้นมีความสัมพันธ์และผูกพันอย่างแยกไม่ออก

ต้องปรับกระบวนการแก้ปัญหาใหม่อย่างเป็นขั้นเป็นตอน.

“สายล่อฟ้า”