ในหนังสือประชุมตัวอย่างพระราชนิพนธ์บทกลอน สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายไว้ตอนหนึ่งว่า
มาถึงชั้นกรุงรัตนโกสินทร์นี้ เห็นจะเนื่องด้วยสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินทุกพระองค์ ทรงเป็นกวีอย่างวิเศษ แลโปรดทรงพระราชนิพนธ์บทกลอนต่างๆ มาทุกรัชกาล
วิธีพระราชนิพนธ์หนังสือของ ร.1 และ ร.2 พอสรุปได้ว่า มีสองวิธี
1.ทรงพระราชนิพนธ์เองทั้งหมด เช่นกลอนนิราศ เรื่อง รบพม่าท่าดินแดง
2.ตัดเรื่องเป็นตอนๆ บอกกวีให้ช่วยกันแต่งถวาย แล้วทรงแก้ไขจนสำเร็จ
พระบาทสมเด็จฯ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงพระราชนิพนธ์บทละคร 4 เรื่อง รามเกียรติ์เรื่อง 1 อุณรุทเรื่อง 1 ดาหลัง คืออิเหนาใหญ่เรื่อง 1 สามเรื่องนี้ล้วนเป็นหนังสือเรื่องใหญ่ นับรวมได้ถึง 167 เล่มสมุดไทย
แลว่า ทรงพระราชนิพนธ์บทละคร เรื่องอิเหนาเล็กอีกเรื่อง 1
เรื่องทรงแบ่งให้กวีแต่งเป็นตอนๆนี้ สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่า ดูจะเป็นความจริง ด้วยหนังสือมากมายนัก ทรงพระราชนิพนธ์เองทั้งหมด เห็นจะไม่ได้
บทละครพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 1 นั้น ดูจะเอาเนื้อเรื่องเป็นสำคัญ กว่าที่จะเล่นละคร
แต่ในบทละครพระราชนิพนธ์ ในรัชกาลที่ 2 ทรงเน้นการเล่นละครมากกว่า
เรื่องอิเหนารัชกาลที่ 2 ทรงพระราชนิพนธ์แต่ต้นจนจบ รวม 37 เรื่องเล่มสมุดไทย
ลักษณะที่ทรงพระราชนิพนธ์ บางเรื่องแบ่งกันเป็นตอน แต่ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งนั้น น้อยตัว มักประชุมกันแต่งกันหน้าพระที่นั่ง ได้ยินมาแต่ 3 คือ
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรี และ
นายภู่ (ซึ่งเรียกว่า สุนทรภู่ เป็นพระสุนทรโวหาร ฝ่ายพระ-บวรราชวัง ในรัชกาลที่ 4)
...
เล่ากันว่า เมื่อทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องใด พระราชทานไปให้เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรี คิดวิธีรำบท บางที่บทใดรำขัดข้อง ต้องแก้บทเข้าหาวิธีรำ
ด้วยเหตุนี้ บทละครพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 2 จึงเล่นละครได้เรียบร้อยดี
ตัวอย่างกลอนบทละคร เรื่องรามเกียรติ์ ตอนหนุมานถวายแหวน...หนุมานไปถึงอุทยานกรุงลงกา เป็นเวลาที่นางสีดาผูกคอตาย...ทิ้งตัวลงจากกิ่งต้นไม้...พอดี
กวี (ไม่ระบุนาม) แต่งตอนนี้ ตามลีลากลอน...หนุมานเห็นดังนั้น ก็ตกใจ ผาดแผลงสำแดงฤทธา...จะเหาะเข้าไปช่วย...เนื้อหากลอนตอนนี้ ยาว...
รัชกาลที่ 2 ทรงทักว่า มัวแต่เล่นท่า นางสีดาจะตายไปเสียก่อน
หลายกวี แก้กลอนตอนนี้ ไม่ถูกใจพระทัย จนเมื่อสุนทรภู่ แต่งว่า
เมื่อนั้น วายุบุตร แก้ได้ดังใจหมาย...ก็เป็นที่พอพระทัย
สุนทรภู่เป็นกวีหน้าพระที่นั่ง รุ่งเรืองในรัชกาลที่ 2 ตกต่ำในรัชกาลที่ 3 แต่ก็สร้างขนบกลอน 8 มาตรฐาน เรียกกันว่ากลอนตลาด นิยมกันต่อมาถึงวันนี้
คนสมัยก่อนกว่าเรียกตัวเอง นักเลงกลอนนั้น เข้าใจพื้นฐานฉันทลักษณ์ คือจังหวะสัมผัส แล้วยังรู้ขนบนิยม เสียงวรรณยุกต์ท้ายคำกลอน ทุกบาท
กลอนแต่ละบาทเรียก สดับ รับ รอง และส่ง รวมสี่บาทเป็นหนึ่งบท เมื่อส่งให้บทต่อไป ก็ต้องรับ...ผูกโยงกันไป ตั้งแต่ต้นจนจบ ใครแต่งกลอน ส่งแล้วไม่รับ...จะถูกเรียกว่า “กลอนประตู”
ผู้คนสมัยใหม่ เขียนกลอนไม่ค่อยเป็น น้องๆสุนทรภู่ ไม่ค่อยมี มีแต่สุนทรพวง ข้อดีคนชอบกลอน เป็นคนมี “ฝัน” ถือว่าเป็นคนใจดี เป็นผู้นำก็ไม่น่าจะโกงบ้านกินเมือง.
กิเลน ประลองเชิง