ก็เป็นอันชัดเจน โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วง กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 252.5 กม. ค่าก่อสร้าง 179,412 ล้านบาท รัฐบาลไทยจะเป็นผู้ลงทุนทั้งหมด เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกโทรทัศน์แจงละเอียด 17 ข้อ เป็นความร่วมมือรัฐบาลต่อรัฐบาลที่รัฐบาลนี้ต้องสานต่อให้เกิดสัมฤทธิผล เป็นการลงทุนในอนาคต เชื่อมโยงกับประชาคมโลกอื่นๆ

คุณอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีคมนาคม แถลงว่า สัญญาก่อสร้างแบ่งออกเป็น 2 สัญญาหลักคือ สัญญาที่ 1 งานโครงสร้างพื้นฐานด้านโยธา ใช้ผู้รับเหมาไทยเป็นหลัก คิดเป็น 75% ของมูลค่าโครงการ (134,559 ล้านบาท) สัญญาที่ 2 งานออกแบบ ควบคุม และระบบรถไฟจีน คิดเป็น 25% ของมูลค่าโครงการ (44,853 ล้านบาท)

คุณอาคม กล่าวว่า โครงการนี้เป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทย และรัฐบาลจีน คาดว่าจะเสนอ ครม. ได้ในเดือนกรกฎาคม เริ่มก่อสร้างในเดือนกันยายน โครงการรถไฟความเร็วสูงนี้แบ่งออกเป็น 2 ระยะ ระยะแรก ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 252.5 กม. ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 350 กม. รัฐบาลจะดำเนินการในระยะแรกก่อน ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา วงเงิน 179,412 ล้านบาท

ผมเอาระยะทาง 252.5 กม. หารด้วยเงินลงทุน 179,412 ล้านบาท

ตกกิโลเมตรละ 710.54 ล้านบาท

เมื่อรัฐบาลสร้างต่อจาก นครราชสีมา-หนองคาย เป็นระยะทางอีก 350 กม. ผมคิดบัญญัติไตรยางค์ง่ายๆ เอา กม.ละ 710.54 ล้านบาท คูณเข้าไป ไทยต้องลงทุนเพิ่มอีกราว 248,689 ล้านบาท แต่ในความเป็นจริงอีก 5 ปี 10 ปีข้างหน้า ต้นทุนจะแพงขึ้น

คิดง่ายๆ ไทยลงทุนรถไฟความเร็วสูง 602.5 กม. จาก บางซื่อ-หนองคาย เพื่อเชื่อมต่อกับ รถไฟจีน ที่ผ่าน ลาว มาตามเส้นทาง One Belt One Road ไทยต้องใช้เงินลงทุนในเส้นทางนี้สูงถึง 428,101 ล้านบาท เป็นเงินมหาศาลเลยทีเดียว

...

แต่ก็ยังไม่ครบเส้นทางตามแผนยุทธศาสตร์ One Belt One Road ของ ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง อยู่ดี ไทยจะต้องสร้างรถไฟความเร็วสูงอีก 970 กม. จาก สถานีบางซื่อ ลงไปถึง สถานีปาดังเบซาร์ ชายแดนไทยมาเลเซีย เพื่อเชื่อมกับ มาเลเซีย-สิงคโปร์ จึงจะลงไปถึง เส้นทางสายไหมทางทะเลของจีน ที่ ช่องแคบมะละกา ที่นักลงทุนจีนไปสร้างเมืองเล็กๆ มูลค่า 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ราว 3.5 ล้านล้านบาท ไว้ที่นั่นเรียกว่า Forest City เป็นเการะหว่าง มาเลเซีย กับ สิงคโปร์ เพื่อเป็น เมืองเสิ่นเจิ้นแห่งมาเลเซีย

ถ้ารัฐบาลสร้างรถไฟความเร็วสูงลงไปถึง ปาดังเบซาร์ ระยะทางอีก 970 กม. คิดค่าก่อสร้างเท่าเดิมที่ กม. ละ 710.54 ล้านบาท ก็ต้องใช้เงินลงทุนอีก 689,223 ล้านบาท รวมเส้นทางสายไหมใหม่จีนจาก หนองคาย ผ่าน กรุงเทพฯ ลงไปถึง ปาดังเบซาร์ จะเป็นระยะทางยาว 1,577 กม. คิดเป็นเงินลงทุนเบื้องต้นกว่า 1.117 ล้านล้านบาท

คุ้มค่ากับการลงทุนของประเทศไทยหรือไม่

เรื่องรายได้คงไม่ต้องพูดถึง ขาดทุนป่นปี้อยู่แล้ว

ปัญหาคือเศรษฐกิจไทยที่โตปีละ 3.3-3.8% จะรับภาระหนักอึ้งนี้ไหวหรือไม่

ถามว่า แล้วรัฐบาลไทยมีทางเลือกที่ดีกว่านี้หรือไม่

คำตอบของผมก็คือ มีครับ เพราะรถไฟความเร็วสูงไทยจีน สร้างคู่ขนานไปกับรถไฟทางคู่ ที่รัฐบาลกำลังก่อสร้างอยู่แล้ว มีแค่กำแพงกั้นระหว่าง รถไฟความเร็วสูง กับ รถไฟทางคู่ เท่านั้นเอง ถ้าปรับรถไฟทางคู่ให้วิ่งเร็วขึ้นเป็น 160 กม. ต่อชั่วโมง ก็เป็น รถไฟความเร็วสูงระดับกลาง แต่ ประหยัดเงินของประเทศได้ถึง 1.117 ล้านล้านบาท ที่สำคัญจีนก็ยังต้องพึ่งไทยเชื่อมลงใต้ไปยังมาเลเซียสิงคโปร์อยู่ดี.

“ลม เปลี่ยนทิศ”