บริษัทขุดเจาะน้ำมันจากชั้นหินดินดานของสหรัฐฯกลับมาผลิตน้ำมัน จนมีการผลิตขยับขึ้นมาที่ 9.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน เป็นสาเหตุหนึ่งซึ่งทำให้ราคาน้ำมันร่วงจนหลุดแนวรับไปแล้วครับ มีคนทำนายทายว่า ราคาจะลงไปอีกร้อยละ 30 จนถึง 30 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

ประเทศที่กระทบต่อราคาน้ำมันตกต่ำที่สุดก็คือ ซาอุดีอาระเบีย มีคนบอกว่าซาอุฯ กำลังจะหยุดส่งออกน้ำมันไปสหรัฐฯ เพื่อทำให้ปริมาณน้ำมันคงคลังของสหรัฐฯลดลง นอกจากผลิตน้ำมันเองแล้ว สหรัฐฯยังนำเข้าน้ำมันสัปดาห์ละ 8 ล้านบาร์เรล จำนวนนี้เป็นน้ำมันจากซาอุฯ วันละ 1 ล้านบาร์เรล

ตอนที่น้ำมันราคา 156.48 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล (มิถุนายน 2551) ซาอุฯก็แฮปปี้มีความสุข แต่พอราคาน้ำมันร่วง ซึ่งเคยร่วงต่ำถึง 29.41 ดอลลาร์ (มกราคม 2559) คนซาอุฯก็หน้าตาหมองคล้ำ จนหาสง่าราศรีแทบไม่ได้

รายได้ของซาอุฯ ลดหดหายจากราคาน้ำมันที่ต่ำลงไปมาก ต่อไปในอนาคต เมื่อโลกหันไปใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น มีแบตเตอรี่ที่เก็บไฟจากแสงแดดได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้น หรือมีการพัฒนาเซลล์เชื้อเพลิงจนแพร่ขยายกระจายการใช้ไปทั้งโลก น้ำมันก็จะไร้ความหมาย ความสำคัญของซาอุฯ ในฐานะผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลกก็หดหมดไป

การ์ตามีบทบาทรองในคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (GCC) มาโดยตลอด ทว่าตั้งแต่ราคาน้ำมันตกต่ำ การ์ตากลับยังมีรายได้ดีจากก๊าซธรรมชาติที่ผลิตร่วมกับอิหร่าน แถมสำนักข่าวโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมอัลจาซีรา ทั้งภาคภาษาอาหรับและภาคภาษาอังกฤษทำให้ชื่อเสียงของการ์ตาโด่งดังเป็นไปในทางดี แม้แต่สายการบินการ์ตา ก็ได้รับการยอมรับว่าเป็นสายการบินอันดับต้นของโลก

หลายประเทศในจีซีซีเขม่นและตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับการ์ตาอย่างที่ผู้อ่านท่านทราบโดยทั่วกัน ทว่าวันเวลาผ่านไปหลายสัปดาห์ การ์ตาไม่พังอย่างที่พวกพี่ๆ ต้องการ คราวนี้ก็จึงมีการยื่นเงื่อนไขให้การ์ตาปฏิบัติตาม 13 ข้อ น้องการ์ตาทำได้เมื่อใด พวกเราทั้งหลายก็จะรับเธอกลับเข้ามาอยู่ในอ้อมอกอ้อมใจของพวกเราเหมือนเดิม

...

ศุกร์ที่ผ่านมา ผมตามอาจารย์นิติภูมิธณัฐ มิ่งรุจิราลัย ไปเสวนาเนื่องในวันกุดส์สากลที่อัลมีรอซ ผู้ฟังการเสาวนามีทั้ง ฯพณฯ ดร.ซัยยิดญะวาด มัซลูมี ผู้แทนสำนักผู้นำสูงสุดของอิหร่านประจำตะวันออกเฉียงใต้ ฯพณฯ โมเซน โมฮัมมาดี เอกอัครราชทูตอิหร่าน ฯลฯ และคนที่อยากให้ปาเลสไตน์ได้รับความยุติธรรมอีกเกินร้อยคน

เสวนาเสร็จก็มีคนเข้ามาสนทนากับอาจารย์นิติภูมิธณัฐถึงเงื่อนไข 13 ข้อที่กลุ่มอาหรับ 4 ชาติประกาศให้การ์ตาปฏิบัติตามภายใน 10 วัน ทุกคนบอกว่าเป็นไปไม่ได้

1 ใน 13 เงื่อนไขก็คือการ์ตาต้องปิดสถานทูตอิหร่านและขับสมาชิกของกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติของอิหร่านออกนอกประเทศ

เดิมการ์ตาซื้ออาหารการกินจากซาอุฯ และเพื่อนบ้านชาติอื่น เมื่อโดนตัดความสัมพันธ์ อาหารการกินจากประเทศพวกนั้นเข้ามาขายไม่ได้ หลายคนบอกว่าการ์ตาเอ๋ย คราวนี้เอ็งตายแน่นอน แต่ปรากฏว่าการ์ตาไม่อดตาย เพราะอิหร่านส่งอาหารมาให้เพียบ

เมื่อการ์ตายังไม่อดตาย พันธมิตรอาหรับ 4 ประเทศที่นำโดยซาอุฯ ก็ยื่นเงื่อนไขว่า อ้า การ์ตาน้องเลิฟ พวกพี่ว่าถ้าเราจะกลับมาดีกันเหมือนเดิม น้องต้องทำมาค้าขายกับอิหร่านเฉพาะข้อกำหนดที่สอดคล้องกับเงื่อนไขการคว่ำบาตรอิหร่านของสหรัฐฯหลังข้อตกลงนิวเคลียร์ พ.ศ.2558 เท่านั้นนะ

ส่วนสำนักข่าวอัลจาซีรา ก็ขอให้ปิดซะ

หากปฏิบัติตามข้อเรียกร้อง พวกเราก็จะกลับมาดีกะน้อง แต่น้องต้องปิดสถานทูตอิหร่านจริงๆ ปิดสำนักข่าวอัลจาซีราของแท้ และอย่างอื่นอีก 11 ข้อ น้องก็ต้องปฏิบัติ

หลังจากพวกพี่ดีกับน้องแล้ว เราก็จะตรวจสอบน้องเดือนละครั้ง พอถึงปีที่ 2 ก็ตรวจน้อง 3 เดือนครั้ง จะตรวจว่าน้องทำจริงจังหรือเปล่าไปจนครบ 10 ปี

ถึงตอนนี้ การ์ตายังมองพวกพี่ๆ ด้วยสายตานิ่งๆ

สงสัยจะยังงงๆ ว่าข้อเรียกร้องของพี่นี่คืออะไร?

นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com