“จากการสำรวจระบาดวิทยาสุขภาพจิตของคนไทย ระดับชาติ ล่าสุดพบว่า คนไทยมีปัญหาจากการใช้สุราถึง 18% หรือประมาณ 9.3 ล้านคน”
น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต พูดถึงปัญหาที่เกิดจากการดื่มสุรา พร้อมให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า ปี 2558 ในจำนวนผู้ป่วยโรคจิตเวชที่เข้ารับบริการในสถานพยาบาลต่างๆ ราว 168,153 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยโรคติดสุราถึง 6.9% หรือประมาณกว่า 10,000 คน
“ถ้าดูจากจำนวนตัวเลขของผู้ป่วยติดสุราต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลอาจดูไม่มาก แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยกลุ่มนี้ ค่อนข้างรุนแรง ไม่เฉพาะแต่ตัวผู้ป่วยเอง แต่รวมถึงครอบครัวและคนรอบข้างด้วย” คุณหมอบุญเรืองบอก
อธิบดีกรมสุขภาพจิต บอกอีกว่า 1 ใน 3 ของผู้ป่วยโรคติดสุราอยู่ในภาคเหนือ โดยในรอบ 3 ปีท่ีผ่านมา คือ ตั้งแต่ปี 2557-2559 ภาคเหนือของไทยมีผู้ป่วยโรคติดสุราไม่น้อยกว่าปีละ 3,000 ราย ที่เข้ารับการรักษาแบบผู้ป่วยนอก โดยล่าสุดในปี 2559 จำนวนผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นถึงเกือบ 4,000 ราย ไม่รวมจำนวนผู้ป่วยที่ต้องรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาลอีกประมาณกว่า 1,000 ราย
“ผู้ป่วยติดสุราจะมีอาการที่สังเกตได้คือ ดื่มมากกว่าที่ตั้งใจไว้ ไม่สามารถหยุดหรือเลิกการดื่มสุราบ่อยครั้ง มีอาการทนต่อสุรามากขึ้น ต้องดื่มมากกว่าเดิมอย่างมากจึงจะรู้สึกเช่นเดิม มีอาการถอนเหล้า เช่น มือสั่น เหงื่อแตก คลื่นไส้ นอนไม่หลับ เวลาที่ลดการดื่มลง ยังคงใช้สุราแม้รู้ว่าจะทำให้เกิดปัญหาทางกายหรือทางจิตใจ เวลาในแต่ละวันหมดไปกับการดื่ม การซื้อ การคิดถึงการดื่มสุรา การเมาหรือการฟื้นจากฤทธิ์สุรา และใช้เวลาลดลงกับกิจกรรมที่สำคัญเพราะมัวใช้เวลาไปกับการดื่มเหล้าถึงแม้ว่าบางคนที่ดื่มสุราหรือเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์เป็นปริมาณมาก” อธิบดีกรมสุขภาพจิตอธิบาย
ทั้งนี้ โรคพิษสุรา เรื้อรังหรือโรคติดสุราเป็นคำที่ใช้ในการวินิจฉัยผู้ติดสุรา ที่ทำให้เกิดปัญหาหน้าที่การงานหรือสุขภาพ และมีผลเสียตามมาในด้านต่างๆ เช่น ด้านสังคม กฎหมาย สุขภาพร่างกาย และสุขภาพจิต
คุณหมอบุญเรือง บอกว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักไม่ตระหนักว่าปัญหาเหล่านี้เกิดจากการใช้สุรา การดื่มสุรามาเป็นเวลานาน จนเป็นผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางด้านความรู้สึก ทำให้ผู้ใช้อยากใช้อีก แม้ว่าจะเกิดผลเสียมากมายจากการเสพติดทางร่างกาย กลายเป็นการเสพติดทางใจควบคู่กันตามมา ด้วยอาการถอนสุราหรือไม่สบาย หากไม่ได้ใช้ ซึ่งถ้าอยู่ในระดับรุนแรง อาจมีอาการทาง จิตร่วมด้วย เช่น หูแว่ว ประสาท หลอน ซึ่งเสี่ยงต่อการป่วยด้วยโรคจิตเภทในที่สุด
ขณะที่ นพ.ธรณินทร์ กองสุข ผอ.รพ.สวนปรุง ซึ่งเป็นโรงพยาบาลสำหรับผู้ป่วย โรคจิตเวชขนาดใหญ่ในภาคเหนือ บอกว่า ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2557-2559 มีผู้มา รับบริการโรงพยาบาลสวนปรุงเพิ่มขึ้นทุกปี เป็นผู้ป่วยนอก 55,889 ราย, 56,713ราย และ 60,790 ราย ตามลำดับ โดยกลุ่มโรคที่พบมาก 5 อันดับ ได้แก่ โรคจิตเภท, โรคซึมเศร้า, กลุ่มอาการวิตกกังวล, ความผิดปกติทางอารมณ์ที่เกิดซ้ำ และความผิดปกติทางจิตจากสุรา ขณะที่จำนวนผู้ป่วยในก็เพิ่มขึ้นตามลำดับจาก 5,523 ราย และ 5,262 รายตามลำดับ กลุ่มโรคที่พบ 5 อันดับ ได้แก่ โรคจิตเภท, ความผิดปกติทางจิตจากสุรา, ความผิดปกติทางจิตจากสารเสพติด, ความผิดปกติทางอารมณ์ที่เกิดซ้ำ และอาการวิตกกังวลที่มีอาการซึมเศร้าร่วมด้วย
คุณหมอธรณินทร์ บอกว่า สำหรับจิตเภท “การติดสุรา” เกิดจากการดื่มสุราหรือเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์ ทำให้สุขภาพทั้งทางกายและทางจิตบกพร่อง โดยหากการดื่มแอลกอฮอล์นั้นๆทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บบ่อยๆ เช่น ดื่มขณะขับรถ ว่ายน้ำ หรือใช้เครื่องจักรกล, มีปัญหาความสัมพันธ์กับเพื่อน ครอบครัว หรือผู้ร่วมงานบ่อยๆ, บทบาทหน้าที่ในการทำงาน งานบ้าน หรือการเรียนมีความบกพร่อง หรือมีปัญหาด้านกฎหมาย เช่น ถูกตำรวจจับเนื่องจากเมาสุรา อาละวาด เรียกได้ว่าบุคคลนั้นมีปัญหาจากการใช้สุรา หรือเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์ “ในทางที่ผิด” โดยมีอาการข้อใดข้อหนึ่งจาก 4 ข้อข้างต้น
“ถึงแม้ว่าบางคนที่ดื่มสุราหรือเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์เป็นปริมาณมาก คือ มากกว่า 4 แก้วต่อวันในผู้ชาย หรือมากกว่า 3 แก้วต่อวันในผู้หญิง จะไม่มีพฤติกรรมเข้าเกณฑ์ของการติดสุรา หรือการใช้ในทางที่ผิด บุคคลนั้นๆก็ยังมีความเสี่ยงต่อปัญหาอื่นๆในอนาคตจากการดื่มสุราอยู่” ผอ.รพ.สวนปรุงอธิบายเพิ่มเติม พร้อมกับบอกว่า ในการบำบัดรักษาผู้มีปัญหาสุขภาพจิตจากแอลกอฮอล์ จะเริ่มจากการคัดกรองและบำบัดระยะสั้น การบำบัดอาการถอนพิษ การฟื้นฟูสภาพ และการติดตามหลังการรักษา
คุณหมอธรณินทร์ ให้ข้อมูลว่า จากการติดตามผู้ป่วยหลังการรักษา ในปี 2559 พบว่า ผู้ป่วยมีพฤติกรรมหยุดดื่มได้ถึง 32.26% จากจำนวนผู้ป่วยในทั้งหมด ซึ่งแนวทางการรักษา โดยหลักๆมี 2 แนวทาง คือ ทำให้อาการทางจิตหายไปโดยเร็ว เช่น ให้ยาต้านอาการทางจิต กลุ่มผู้ติดสุรา จะให้ยาขนาดน้อยๆ เนื่องจากไม่ใช่ผู้ป่วยอาการทางจิตโดยตรง รวมถึงการให้สารน้ำ เพราะส่วนใหญ่ผู้ติดสุราจะขาดน้ำ เสริมวิตามิน ให้รับประทานอาหารให้ครบถ้วนสมบูรณ์ และจัดสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการรักษา เช่น จัดห้องให้มีความเงียบ มีแสงไม่มาก ลดการกระตุ้นทางประสาทให้ผู้ป่วย
ทั้งนี้ หากในครอบครัวมีผู้ติดสุราหรือดื่มสุราอย่างหนักและญาติต้องการขอรับคำปรึกษาก่อนการเข้ารับการรักษา สอบถามข้อมูลเบื้องต้นได้ที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง.