การปฏิรูปการเมืองมีความก้าว หน้าอีกก้าวหนึ่ง เมื่อสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ลงมติด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น เห็นด้วยกับรายงานของคณะกรรมาธิการปฏิรูปด้านการเมือง ให้ทบทวนรัฐธรรมนูญทุก 10 ปี ประธานคณะกรรมาธิการฯ ชี้แจงว่า ไม่ได้หมายความว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ ถ้ามีเหตุจำเป็นและเสียงข้างมากเห็นด้วยก็แก้ไขได้

แรกเริ่มเดิมทีมีการออกข่าวเสนอให้ “แก้ไข” รัฐธรรมนูญในทุก 10 ปี ไม่ใช่แค่ “ทบทวน” นัยว่าจะบรรจุข้อเสนอนี้ไว้ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ทำให้รู้สึกว่าจะทำให้แผนยุทธศาสตร์ชาติใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญ เพราะบังคับให้แก้ไขหรือทบทวนรัฐธรรมนูญทุก 10 ปี ทั้งที่รัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติเรื่องแก้ไขตัวเองอยู่แล้ว ข้อเสนอนี้จะขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่?

มีเสียงวิจารณ์จากประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ว่าการเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญทุก 10 ปี “คงยาก” เพราะเป็นการกำหนดที่ไม่มีกฎเกณฑ์ น่าจะหมายถึงขัดต่อบัญญัติเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประธาน กรธ.ชี้แจงว่า รัฐธรรมนูญ 2560 แก้ไขยาก เพื่อให้เป็นเกราะไม่ให้แก้ไขง่ายๆ เพราะต้องการดูว่าเมื่อใช้ไประยะหนึ่งแล้วจะเกิดผลดีหรือไม่

ส่วนประชาชนทั่วไปคงจะต้องรับฟังอย่างเดียว เพราะไม่มีส่วนร่วม และไม่รู้ว่าผู้เสนอมีเป้าประสงค์ที่ชัดเจนอย่างไร ทำไมจึงต้องทบทวนรัฐธรรมนูญทุก 10 ปี จะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิรูปการเมืองอย่างไร ประเทศและประชาชนจะได้รับอานิสงส์ด้วยหรือไม่? ผู้เสนอมุ่งหวังให้รัฐธรรมนูญอายุมั่นขวัญยืน อยู่เป็นมิ่งขวัญปวงชนอย่างน้อย 10 ปีหรือไม่

รัฐธรรมนูญ 2540 ที่เรียกกันว่าฉบับปฏิรูปการเมือง หรือฉบับประชาชน มีบทเฉพาะกาลระบุว่า เมื่อใช้รัฐธรรมนูญครบ 5 ปีแล้ว ให้ กกต.หรือตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือ ป.ป.ช. มีอำนาจทำรายงานเสนอรัฐสภาและคณะรัฐมนตรีให้แก้ไขรัฐธรรมนูญได้ แต่ไม่มีการแก้ไขจนกระทั่งเกิดรัฐประหาร 2549 รัฐธรรมนูญฉบับนั้นจึงถูกฉีกทิ้ง และได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญใหม่

...

ไทยจึงกลายเป็นประเทศที่ร่ำรวยรัฐธรรมนูญเป็นอันดับ 4 ของโลก มี 20 ฉบับเท่ากับเอกวาดอร์ ส่วนแชมป์โลกที่มีรัฐธรรมนูญมากที่สุด ได้แก่สาธารณรัฐโดมินิกัน มี 32 ฉบับ เวเนซุเอลา (ซึ่งกำลังเกิดการขัดแย้งทางการเมืองจนอาจกลายเป็นสงครามกลางเมือง) มี 26 ฉบับ เฮติ 24 ฉบับ รัฐธรรมนูญโดมินิกันมีอายุเฉลี่ยฉบับละ 5 ปีเศษ ยืนยาวกว่าไทย

ในช่วงเวลาเพียง 85 ปี ประเทศ ไทยมีรัฐธรรมนูญถึง 20 ฉบับ เพราะเมื่อเกิดรัฐประหารที จะได้รับธรรมนูญอย่างน้อย 2 ฉบับ ฉีกทิ้งไป 1 ฉบับ และร่างขึ้นใหม่อีก 1 ฉบับ รัฐธรรมนูญไทยมีอายุเฉลี่ยเพียงฉบับละ 4 ปีเศษเล็กน้อย ไม่ใช่มีปัญหา 10 ปีต่อครั้ง แต่ยิ่งมีรัฐธรรมนูญมากเท่าไหร่ ประเทศก็ยิ่งห่างไกลจากความเป็นประชาธิปไตย.