เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา เกิดปัญหาในการสรรหา คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ขึ้นโดยมีความเห็นขัดแย้งระหว่าง ตัวแทนจาก สตง. ที่ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการสรรหา คตง. ตามคำสั่งของ คสช. ที่ให้มีการสรรหา คตง.และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยไม่ต้องปฏิบัติตาม บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญซึ่งตามเหตุผลที่กล่าวอ้างก็เพื่อให้มีการทำงานต่อเนื่อง จึงให้มี การสรรหา คตง.และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ก่อนที่จะครบวาระในเดือน ก.ย.นี้ ภายใน 180 วัน

สำหรับผู้แทนจาก สตง. ที่เข้ามาเป็นคณะกรรมการสรรหา ได้แก่ พิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ที่จะครบวาระในเดือน ก.ย.นี้เช่นกัน ยืนยันว่ากระบวนการสรรหาเป็นไปตามคำสั่งของ คสช. ที่ระบุว่า เมื่อกรณีที่ผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการตรวจเงินแผ่นดินซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนที่คำสั่ง คสช.มีผลบังคับใช้บังคับพ้นจากตำแหน่ง หรือพ้นจากตำแหน่งตามวาระภายใน 180 วัน ให้ดำเนินการคัดเลือกหรือสรรหาบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน ตั้งแต่วันที่ตำแหน่งดังกล่าวว่างลง หรือนับจากวันที่คำสั่งนี้ใช้บังคับ ซึ่ง คตง.ชุดปัจจุบันจะครบวาระในวันที่ 25 ก.ย.นี้ ก็เป็นไปตามกรอบเวลา คือจะพ้นจากตำแหน่งภายใน 180 วัน

บทสรุปของเรื่องจึงมาจบที่ จะมีการนัดวันประชุมเพื่อเสนอชื่อกรรมการสรรหา คตง.ให้กับเลขาธิการวุฒิสภา ภายในวันที่ 24 พ.ค.นี้ จากนั้นกระบวนการสรรหาจะเดินหน้าต่อไป โดยไม่จำเป็นต้องยื่นเรื่องให้ ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัย ส่วนที่ คตง. มีความเห็นว่าการสรรหาควรรอให้มี กฎหมายตรวจเงินแผ่นดิน ก่อนนั้น ต้องไปดู คำสั่งของ คสช. ให้ปฏิบัติอย่างไร

อย่างไรก็ตาม กระบวนการสรรหา คตง. เป็นแค่จุดเริ่มต้น เมื่อดูจนครบกระบวนการแล้วจะถึงบางอ้อ ความสำคัญของ คตง.ชุดต่อไป จะต้องมีบทบาทในการสรรหา ผู้ว่าการ สตง.คนใหม่ด้วย และโดยอำนาจหน้าที่ของ คตง.และ สตง. ตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีอำนาจในการ ตรวจสอบและยับยั้งนโยบายประชานิยมของรัฐ การใช้จ่ายงบประมาณในโครงการต่างๆ

...

ควบคุมกระบวนการใช้จ่ายงบประมาณตามนโยบายของรัฐ

ตรงนี้น่าจะเป็นชนวนสำคัญในการสรรหาคนมาเป็น คตง. ซึ่งก็มีคำถามถึงผู้ว่าการ สตง.คนปัจจุบัน พิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ด้วยว่า จะสามารถกลับมาสมัครเข้ารับการสรรหาเป็น ผู้ว่าการ สตง. ได้อีกหรือไม่ หรือ คตง.ชุดปัจจุบัน จะสามารถสมัครเข้ารับการ สรรหาได้ด้วยหรือไม่

ได้รับคำตอบแบ่งรับแบ่งสู้ว่าขึ้นอยู่กับการตีความ

ประเด็นนี้ถูกนำไปตีความว่าเกิดความขัดแย้งระหว่าง คตง.ชุดปัจจุบันกับผู้ว่าการ สตง. และโยนความผิดไปที่คนเขียน กฎหมายในการสรรหา คตง.ว่าไม่รอบคอบ กระบวนการสรรหาจะจบลงอย่างไรก็เป็นอีกเรื่อง แต่การทำหน้าที่ของ คตง.และ สตง.ชุดใหม่ จะมีความสำคัญต่อการตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐอย่างมาก

อย่าให้เสียของ.

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th