ได้ขึ้นชื่อว่าเป็น “ราชาแห่งผลไม้” ด้วยรสชาติที่เป็นที่นิยมของต่างชาติโดยเฉพาะชาวจีน ทำให้แต่ละปีประเทศไทยส่งออก “ทุเรียน” เพิ่มปริมาณขึ้นอย่างรวดเร็ว จากปี 2554 ส่งออกทุเรียนจำนวน 271,948 ตัน มูลค่า 4,662 ล้านบาท เพิ่มมาเป็น 402,660 ตัน มูลค่า 17,468 ล้านบาท ในปี 2559 หรือมูลค่าเพิ่มขึ้นเกือบ 4 เท่า ภายในเวลา 5 ปี
อย่างไรก็ตาม ทุเรียนที่ส่งออกไปหรือแม้กระทั่งบริโภคเองภายในประเทศ ก็มีปัญหาเรื่องคุณภาพ ทั้งปัญหาการตัดทุเรียนอ่อนมาจำหน่าย การใช้น้ำยาเร่งสุก การเคลือบสีเปลือกทุเรียนมาโดยตลอด ทำให้ภาพลักษณ์ทุเรียนไทยเสียหาย และจะเป็นการทำลายตลาดในอนาคต
ล่าสุดในปีนี้หลังจากพบว่าทุเรียนที่ส่งออกไปจีนและฮ่องกง มีปัญหาเรื่องคุณภาพ ทำให้ราคาทุเรียนส่งออกเหลือเพียง 60-65 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) จากเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาอยู่ที่ 80 บาทต่อ กก. และในอนาคตหากยังเป็นเช่นนี้อีก ประเทศไทยก็อาจจะเสียตลาดไปให้คู่แข่งอย่างเวียดนาม มาเลเซีย อย่างถาวรก็เป็นได้
ดังนั้นทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ผู้ส่งออก และเกษตรกร จะต้องแก้ปัญหาให้เบ็ดเสร็จโดยเร็ว ซึ่งปัญหาเรื่องใหญ่สุด คือ การตัดทุเรียนอ่อน เนื่องมาจากการที่ราคาทุเรียนช่วงต้นฤดูผลิตจะมีราคาสูงมากถึง 200 บาทต่อ กก. โดยเฉพาะช่วงเดือน เม.ย-พ.ค. ซึ่งเป็นช่วงต้นฤดูที่ผลผลิตทุเรียนในภาคตะวันออกและภาคใต้จะออกมา เกษตรกรจะรีบตัดทุเรียนออกมาขายเพื่อส่งออกไปยังประเทศจีนในช่วงเทศกาลวันแรงงานหรือวันที่ 1 พ.ค. ดังนั้นในช่วงเวลานี้จะมีปัญหาทุเรียนอ่อนมากที่สุด ด้วยความที่อยากได้ราคา
และอีกสาเหตุหนึ่งคือ การที่เกษตรกรกลัวพายุฝนในช่วงเดือนเม.ย.จะทำให้กิ่งหักและต้นทุเรียนพังเสียหาย เกษตรกรจึงเร่งระดมตัดทุเรียนออกมาจำนวนมากทั้งที่ยังไม่ถึงเวลาทุเรียนสุก เพราะมั่นใจว่าต้องขายได้แน่นอน โดยไม่คำนึงถึงคุณภาพและรสชาติ ส่งผลให้เมื่อทุเรียนถึงมือผู้บริโภค ผู้บริโภคพบว่า ด้อยคุณภาพ ก็จะบอกต่อแพร่กระจายกันไป ทำให้ความต้องการลดลง ราคาทุเรียนจึงตกลงอย่างรวดเร็ว
...
นอกจากปัญหาที่ชาวสวนอยากได้ราคาดีแล้ว อีกส่วนมาจากพ่อค้าชาวจีนรายใหม่ๆที่เข้ามาตั้งล้งในประเทศไทย และเหมาสวนทุเรียน โดยที่ยังไม่มีประสบการณ์มากนักในการดูทุเรียนว่าได้เวลาเหมาะสมที่จะตัดหรือไม่ รวมทั้งเวลาตัดก็จะตัดแบบเหมาสวนทำให้มีทุเรียนอ่อนติดไปด้วย
แม้ทางรัฐบาลจะเร่งแก้ไขปัญหาทุเรียนอ่อน โดยให้เจ้าหน้าที่ในด่านตรวจสินค้าแต่ละจังหวัดเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจและเฝ้าระวังมากขึ้น แต่ก็ดูจะไร้ผล เพราะสามารถจับกุมผู้ลักลอบได้ไม่กี่ราย และภาครัฐยังไม่มีมาตรการปราบปรามที่ชัดเจนซึ่งเห็นผลในระยะยาว มีแต่การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าไปเรื่อยๆ ปัญหาจึงวนเวียนอยู่ที่เดิมหาทางออกไม่เจอ
สำหรับการลักลอบขายทุเรียนอ่อน จะถือว่าเข้าข่ายผิดกฎหมาย 2 ฉบับ คือ กฎหมายอาญา มาตรา 271 ที่ระบุว่า ผู้ใดขายของโดยหลอกลวงด้วยประการใดๆ ให้ผู้ซื้อหลงเชื่อในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพ หรือปริมาณแห่งของนั้นอันเป็นเท็จ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 47 ผู้ใดโดยเจตนาก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพ ปริมาณ หรือสาระสำคัญประการอื่นอันเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการไม่ว่าจะเป็นของตนเอง หรือผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นอกจากนี้อีกปัญหาหนึ่งที่ประเทศไทยกลืนไม่เข้าคายไม่ออก คือ การย้อมสีผลไม้ด้วยขมิ้น (Curcumin) เพื่อทำให้สีเปลือกทุเรียนสวยและดูดีน่ารับประทาน โดยการชุบสีเปลือกภายนอก เนื่องจากผู้บริโภคในประเทศจีน นิยมทานทุเรียนที่สีเหลืองทอง ซึ่งถ้าเกษตรกรไม่ชุบสีให้เปลือกทุเรียนดูสวยงามก็จะส่งขายไม่ได้ แต่อย่างไรก็ตามการชุบสีถือว่าผิดกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.2559 เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร ห้ามใช้สีผสมอาหารในผักผลไม้สด แต่เกษตรกรหลายรายก็ยืนยันว่าการชุบสีขมิ้นบนเปลือกทุเรียนไม่เป็นอันตรายเพราะเป็นสีที่มาจากธรรมชาติ
ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะพยายามควบคุมการใช้สารเคมีและสารเคลือบที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภค แต่สารเคมีบางอย่างมีทั้งผลดีและโทษ เหมือนกับน้ำยาเร่งสุกที่เกษตรกรใช้ เนื่องจากทำให้สีเนื้อทุเรียนสม่ำเสมอน่ากิน แต่ทั้งนี้ผลข้างเคียงของน้ำยาเร่งสุกจะทำให้ผู้ได้รับเกิดอาการปวดท้องและอาหารเป็นพิษ ซึ่งปัจจุบันฮ่องกงได้กำหนดกฎระเบียบห้ามใช้สารขมิ้นเคลือบผิวผลไม้ เนื่องจากพบการปนเปื้อนของสารเคลือบซึมลงในเนื้อทุเรียน ซึ่งก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภคได้
“คุณภาพสินค้า” เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ผู้บริโภคเชื่อมั่นและจงรักภักดีในสินค้านั้นๆ หากทุเรียนไทยยังมีปัญหาซ้ำซาก เชื่อว่าไม่นานชื่อเสียงที่สั่งสมมาจะพังทลายลงไปในชั่วพริบตา ถ้าไม่เร่งแก้ไขอย่างจริงจังตั้งแต่วันนี้.
นันท์ชยา ชื่นวรสกุล