“วัดศรีมงคล” หรือ “วัดบ้านนาทราย” มีเรื่องราวเล่าสืบต่อกันมาเกี่ยวกับความศรัทธา...อาถรรพณ์ “ผู้หญิง” ห้ามเข้า นอกจากนี้แล้วที่นี่ยังมีประเพณี “เลี้ยงปี...ไล่ผีหลวง” เป็นหนึ่งในตำนานคู่เรื่องราวของ “โบสถ์มหาอุตม์” ภาพจิตรกรรมอันล้ำค่า ควรค่ายิ่งแห่งการแสวงหาดูให้เห็นเป็นบุญตา

O O O O

ความเชื่อที่สืบต่อกันมา...คนในห้ามออกคนนอกห้ามเข้า ทุกปีที่ตำบลวังบาล อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ จะต้องมีพิธีบุญเลี้ยงปี ไล่ผีหลวง หรือชาวบ้านเรียกกันว่า “ซำฮะบ้าน” ลูกๆหลานๆไม่ว่าจะไปอยู่กันในแห่งหนตำบลไหนจะต้องกลับบ้าน ส่วนคนที่ไม่มีทายาทจะต้องออกจากพื้นที่ในการทำพิธี

ชาวบ้านวังบาลจะมารวมตัวกันที่วัดศรีมงคล ...สิ่งสำคัญที่ปฏิบัติกันมา มีความเชื่อกันว่า “ผู้หญิง” เป็นสิ่งต้องห้ามก้าวย่างเข้าไปในโบสถ์แห่งนี้โดยเด็ดขาด ด้วยเพราะอาถรรพณ์ที่เล่าสืบต่อๆกันมาว่า ...“ใครฝ่าฝืนจะต้องมีอันเป็นไป”

...

คำบอกเล่าจากรุ่นสู่รุ่น โบสถ์แห่งนี้เป็นมรดกล้ำค่าของชาวหล่มเก่า และยังได้ขึ้นทะเบียนเป็นสถานที่ล้ำค่าของชาติ “ที่นี่...มีภาพเขียนฝาผนังที่งดงามมาก แถมยังเป็นโบสถ์มหาอุตม์ที่มีความเชื่อในเรื่องการประกอบพิธีศักดิ์สิทธิ์สืบต่อกันมาอีกเช่นกัน”

O O O O

พงษ์ศักดิ์ วันตั้ง ชาวตำบลวังบาล ที่ทุกปีต้องกลับมาทำบุญเลี้ยงปี ไล่ผีหลวง โดยเดิมทีรับราชการเป็นปลัด อบต.ห้วยโป่ง ที่อำเภอหนองไผ่ เล่าถึงความเป็นมาของพิธีกรรมอันสำคัญครั้งนี้ว่า

“ประเพณีเลี้ยงปี ไล่ผีหลวง ณ บ้านนาทราย ต.วังบาล อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ เป็นพิธีที่สำคัญ และใหญ่ที่สุด กำหนดจัดกันในเดือนหกของทุกปี ร่างทรงและผู้ที่นับถือเจ้าพ่อจะไปอยู่ที่ใดต้องกลับมาร่วมพิธีนี้ทุกครั้ง ถ้ามาไม่ได้ต้องให้คนในครอบครัวเสียไก่ เสียเหล้า เพื่อเป็นสิ่งแทนตัวบุคคลมาร่วมงาน ผู้ที่มาบนบานศาลกล่าวไว้จะกลับมาแก้บนในวันนั้นด้วย”

สำหรับอาหารคาวที่ใช้เซ่นไหว้...หมู ไก่ เป็ด จะหมุนเวียนทุกปี โดยร่างทรงและลูกผึ้งลูกเทียนจะร่วมรับประทานอาหารหลังจากเลี้ยงเจ้าพ่อแล้ว จากนั้นจึงทำพิธีสู่ขวัญ มีหมอแคน ทำพิธี เจ้าพ่อองค์ใหญ่ เจ้าพ่อองค์รอง และเจ้าพ่อองค์เล็ก จะผลัดกันผูกข้อมือ

ลำดับสุดท้าย...เจ้าพ่อองค์ใหญ่ผูกข้อมือให้ลูกผึ้งลูกเทียนจนเป็นที่พอใจ และสุดท้ายเข้าสู่พิธีไล่ผีหลวง เป็นพิธีปัดเป่าและส่งบรรดาพวกผีปีศาจ สิ่งชั่วร้ายออกจากหมู่บ้านนาทรายนั่นเอง

ส่วนประวัติวัดศรีมงคล บ้านนาทราย ปลัดฯพงษ์ศักดิ์บอกว่า วัดศรีมงคล บ้านนาทราย ตั้งอยู่หมู่ที่ 3 บ้านนาทราย ต.วังบาล อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ มีเนื้อที่ 3 ไร่เศษ เมื่อสร้างวัดเสร็จแล้ว หลวงพ่อโง้ง เจ้าอาวาสองค์แรกและชาวบ้านได้ตั้งชื่อว่า “วัดทรายงาม”...โดยตั้งชื่อตามสภาพพื้นที่ดินซึ่งเป็นพื้นทรายสีแดง

ต่อมา...จึงเปลี่ยนชื่อวัดใหม่ว่า “ศรีมงคล” วัดนี้เป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งที่ก่อตั้งมาในช่วงสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์และสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นไทยคือภาพจิตรกรรมฝาผนังที่อยู่รอบภายในโบสถ์ เขียนภาพโดยนายแดงหรือตาขี้ทูต ซึ่งใช้เวลาเขียนภาพถึงสามปีเศษ โดยได้รับค่าจ้างในราคา 1 ชั่ง 4 ตำลึง...ลักษณะของภาพเขียนเล่าถึงเรื่องราวพระเจ้าสิบชาติ มีศิลปะชาติเข้ามาผสมผสาน จะสะท้อนถึงชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยในสมัยนั้น รายละเอียดชัดเจนสีสันสวยงามมาก ซึ่งเกิดจากงานสีฝุ่นผสมกาวยางไม้ สีเปลือกไม้ และสีดินระบายภาพ ตัดเส้น แบบแบนเขียนภาพบนฝาผนังปูน...

...

“ปัจจุบันนี้วัดศรีมงคล บ้านนาทราย ได้รับการขึ้นทะเบียนจากกรมศิลปากรให้เป็นโบราณสถานที่สำคัญของชาติที่ควรอนุรักษ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โบสถ์เก่าแก่ที่มีภาพเขียน มีความพิเศษตรงที่เป็นโบสถ์มหาอุตม์ เป็นโบสถ์ที่มีประตูเข้า ...ออกเพียงประตูเดียว ไม่มีหน้าต่าง หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผา และเป็นโบสถ์ที่มีความเชื่อเรื่องธรณีประตู ห้ามผู้หญิงข้ามผ่านเข้ามาภายในเด็ดขาด”

O O O O

ปลัดฯพงษ์ศักดิ์ วันตั้ง ให้เหตุผลถึงการห้ามผู้หญิงเข้าพระอุโบสถ ซึ่งที่ผ่านมามีเหตุการณ์ที่ทำให้ชาวบ้านเชื่อกันเป็นเสียงเดียวเลยว่า การที่ผู้หญิงเข้ามาในโบสถ์ทำให้เกิดไฟไหม้โบสถ์ถึงสองครั้งสองคราว

...

“ในความคิดเห็นของผม ส่วนตัวจะเชื่อเรื่องธรณีประตู ซึ่งเป็นจุดที่มีนายทวารบาล หรือเทพเทวดาที่คอยดูแลปกปักรักษา ดังนั้นต้องให้ความเคารพ เช่นเดียวกับเหตุผลทางธรรม การข้ามผ่านธรณีประตูเปรียบได้กับการข้ามพ้นโลกและอำนาจกิเลส จึงเป็นเครื่องสอนใจ ให้ควบคุมตนเองให้อยู่เหนือกิเลส”

โดยที่ผ่านมานอกเหนือจากเหตุการณ์ไฟไหม้ ภายในโบสถ์แล้ว เมื่อครั้งที่มีการบูรณะภาพเขียน ทางกรมศิลป์ฯได้ส่งเจ้าหน้าที่มาทำงาน...มีอยู่วันหนึ่ง เจ้าหน้าที่ผู้หญิงตกจากนั่งร้านภายนอกวัด ลงมากองอยู่กับพื้นอย่างไม่ทราบสาเหตุ ด้วยเหตุนี้เองทางวัดจึงเข้มงวดเรื่องการห้ามผู้หญิงเข้าสู่ภายในของโบสถ์นับตั้งแต่นั้นมา

“ศรัทธา” นำมาซึ่งปาฏิหาริย์ เป็นพลังที่ยิ่งใหญ่เกินกว่าจะหยั่งถึง.

รัก-ยม