การอภิปราย ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสื่อมวลชนในสภานิติบัญญัติ ที่ผ่านมา มีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย สรุปแล้วจากจำนวน สนช. ผู้เข้าร่วมประชุม 171 คนเห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว 141 คนไม่เห็นด้วย 13 คน และงดออกเสียง 17 คน เป็นอันว่ากฎหมายฉบับนี้มีแนวโน้มที่จะออกมาใช้บังคับค่อนข้างแน่นอน เพียงแต่ว่าเนื้อหาสาระจะมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือไม่อย่างไรเท่านั้น
ความสำคัญคือ มีความต้องการให้ภาครัฐเข้ามามีส่วนร่วมใน สภาวิชาชีพสื่อมวลชน ด้วย เรื่องอื่นๆอาจจะพบกันครึ่งทาง ในโอกาสที่ตรงกับ วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก เรื่องเหล่านี้ก็เลยถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นขุดค้นข้อมูลต่างๆและมีบทสรุปว่า สื่อมวลชนในประเทศไทยช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาถูกลิดรอนสิทธิและเสรีภาพที่อยู่ในระดับตกต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านทั้งหมด ทั้งนี้อาจจะเป็นว่าเพราะประเทศไทยอยู่ในช่วงที่ไม่ปกติ
แต่บางฝ่ายกลับเห็นว่า สื่อมวลชนในไทย มีอิสระและเสรีภาพที่มากกว่าประเทศที่มีการพัฒนาประชาธิปไตยมากกว่า บ้านเรา เช่น ประเทศสิงคโปร์ เป็นต้น สื่อก็เป็นสื่อของรัฐ มีการเซ็นเซอร์เนื้อหาสาระการนำเสนอข้อมูลที่เผยแพร่ทั้งสื่อหลักสื่อออนไลน์ ไม่มีความเป็นอิสระและเสรีภาพเท่ากับบ้านเรา
นานาจิตตัง คนที่เสียประโยชน์ ก็มองว่าเป็นเรื่องดีที่จะได้ กระชับพื้นที่สื่อเสียที เพราะสื่อก็ไปล่วงละเมิดสิทธิและเสรีภาพคนอื่นอยู่บ่อยๆ คนที่ได้ประโยชน์ ก็จะมองว่าเป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของคนไทยด้วยการปิดหู ปิดตา ปิดกั้น แล้วแต่ว่าจะมองในแง่บวกแง่ลบ จะมองโลกสวยหรือมองโลกในแง่ร้าย
ท้ายที่สุดแล้ว ทั้งหมดไม่ได้อยู่ที่ตัวบทกฎหมายแต่อย่างใด ขึ้นอยู่กับจิตสำนึกของทุกฝ่าย ถ้าสื่อรู้หน้าที่ตัวเอง รัฐก็รู้ภารกิจและการปฏิบัติหน้าที่ เอกชนก็รู้ว่าอะไรควรไม่ควร ประชาชนก็รู้ว่าควรจะเสพสื่ออย่างไรให้เป็นประโยชน์มากที่สุด
...
สรุปแล้วก็คือไม่ละเมิดสิทธิซึ่งกันและกัน
จะไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายออกมาบานตะไทขนาดนี้ กฎหมายแพ่งและกฎหมายอาญา ก็ใช้บังคับกับสื่อและคนทั่วไปอย่างเท่าเทียมกันอยู่แล้ว ไม่มีใครมีสิทธิอยู่เหนือกฎหมาย ที่ผ่านมาก็มักจะมองว่า ผู้มีอำนาจรัฐ ใช้อำนาจเหนือกฎหมายมีการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงต้องการจะ ชิงอำนาจระหว่างสื่อหรือฐานันดรที่ 4 กับผู้ที่มีอำนาจรัฐ เหมือนกับที่เคยสลาย สหภาพแรงงานมาแล้ว ลำพังสื่อของรัฐควบคุมได้ แต่สื่อทั่วไป คุมไม่ได้ โดยเฉพาะที่เห็นชัดๆคือการใช้สื่อในการปลุกระดมให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง
เลยเถิดจนเป็นวิกฤติบ้านเมือง
แต่ไม่มีการบังคับใช้กฎหมาย จนเกิดการลูบหน้าปะจมูกขึ้น อีกทั้งในช่วงที่บ้านเมืองไม่ปกติ มีสื่อบางคนบางประเภทที่ไม่แสวงหาผลประโยชน์และลาภยศ โดยไม่ได้คำนึงว่าหน้าที่ของสื่อคืออะไร ผลลัพธ์ออกมา สื่อเลยถูกขู่ยิงเป้า ในสภาอันทรงเกียรติ
งานกร่อย.
หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th