ผมนั่งอ่านสกู๊ปข่าวหน้า 1 ของไทยรัฐที่มาต่อในหน้า 5 หน้าเดียวกับคอลัมน์ผมฉบับเมื่อวานนี้ ในหัวข้อ “ฟ้าประทานต้นน้ำน่าน...ทุนนิยมพืชเฮงซวย” แล้วก็ใจหายครับ

เพราะสาระหลักที่ทีมสกู๊ปไทยรัฐไปสัมภาษณ์ “คุณบัณฑูร ล่ำซำ” ประธานกรรมการและเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารกสิกรไทย ที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงของโครงการ “รักษ์ป่าน่าน” ได้ข้อสรุปว่า...

โครงการอันมีจุดมุ่งหมายที่หยุดยั้งการบุกรุกทำลายป่าเมืองน่านอันเป็นจุดกำเนิดของแม่น้ำน่าน 1 ใน 4 ของลำน้ำที่รวมกันเป็นแม่น้ำเจ้าพระยายังไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร

เนื้อที่ป่าสงวน ซึ่งมีถึง 80 เปอร์เซ็นต์ของจังหวัดน่านยังคงถูกทำลายต่อไปอย่างน้อยก็คงไม่ต่ำกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่ป่าสงวนทั้งหมดในจังหวัดนี้

ด้วยปัญหาดั้งเดิมที่รู้ทั้งรู้แต่ก็ไม่มีใครกล้าแก้ไข นั่นก็คือการแผ้วถางโค่นต้นไม้เพื่อปลูก “ข้าวโพด” ของเกษตรกร ส่วนหนึ่งที่อยู่ชายป่าสงวน

“ข้าวโพด” ที่คุณบัณฑูรใช้ถ้อยคำอย่างน้อยอกน้อยใจหลายครั้งว่าเป็นพืชเฮงซวย ซึ่งก็คงมิใช่ดูหมิ่นดูแคลนอะไรแต่เป็นเพราะรายได้จากข้าวโพด แม้จะพอช่วยให้เกษตรกรเลี้ยงตัวได้บ้างแต่ก็แทบไม่คุ้มกับการที่ต้องสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ไปจำนวนมากแม้แต่น้อย

ป่าไม้ซึ่งเป็นแหล่งสำคัญของการกำเนิดต้นน้ำลำธารความชุ่มฉ่ำของป่าไม้จะทำให้ฝนตกตามฤดูกาล ซึ่งหากป่าไม้หายไปเรื่อยๆต้นน้ำลำธารก็จะค่อยๆแห้งเหือดไปด้วยเป็นเงาตามตัว

โดยเฉพาะต้นน้ำอย่าง “แม่น้ำน่าน” ซึ่งเป็น 1 ใน 4 ลำน้ำหรือแควที่ไหลไปรวมกันเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา นับเป็นต้นน้ำที่สำคัญอย่างยิ่ง

...

อาจจะสำคัญที่สุดใน 4 แคว ด้วยซ้ำ เพราะจากตัวเลขและสถิติที่เก็บไว้มวลน้ำจากแม่น้ำน่านมีมากถึงร้อยละ 40 ของมวลน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาโดยเฉลี่ยในแต่ละปี

หากปล่อยให้ป่าไม้น่านถูกทำลายต่อไป ลำน้ำน่านที่อุดมสมบูรณ์ก็จะแห้งขอดลง มวลน้ำที่ว่ามีสูงถึงร้อยละ 40 ในแม่น้ำเจ้าพระยาก็จะต้องลดลงไปด้วย ส่วนว่าจะลดมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับว่าป่าจะถูกทำลายแค่ไหน

คนเดือดร้อนคือใคร? ก็คือพี่น้องประชาชนที่อยู่ 2 ฝั่ง ริมน้ำน่านเรื่อยมาจนถึงพี่น้องภาคกลาง 2 ฝั่ง เจ้าพระยา โดยเฉพาะคน กทม. นี่แหละ จะเดือดร้อนที่สุด

จากตัวเลขกว้างๆที่รายงานสกู๊ปไทยรัฐ ใช้คำว่าป่าสงวนของน่าน ถูกทำลายไป 30 เปอร์เซ็นต์นั้น หากไปดูสถิติที่จัดทำไว้อย่างเป็นทางการจะพบว่าจากพื้นที่ป่าสงวน 6 ล้าน 4 แสนไร่เศษ ในปี 2507 แต่ในปี 2559 เหลือเพียง 4 ล้าน 6 แสนไร่เท่านั้น

หายไปประมาณ 1.9 ล้านไร่!

ทำให้หลายๆฝ่ายเกิดความร้อนอกร้อนใจ และในที่สุดก็รวมพลังกันเป็นโครงการ “รักษ์ป่าน่าน” เมื่อปี 2557 และต่อมาในการประชุมสัมมนา เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเป็นองค์ประธาน และทรงร่วมสัมมนาอยู่ด้วยโดยตลอด

จากนั้นก็มีการประชุมติดต่อกันมาทุกปี จนถึงปีนี้ ก็มีการประชุมครั้งที่ 3 เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมานี้ ซึ่งก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ จากสมเด็จพระเทพรัตนฯ ดังเช่นครั้งก่อนๆ

ผมเองก็ได้ติดตามอ่านข่าวและรายงานการประชุมมาตั้งแต่ ครั้งแรกๆด้วยความชื่นชม จำได้ว่าเก็บมาเขียนให้กำลังใจผ่านคอลัมน์แทบทุกปีก็ว่าได้

ดังนั้น เมื่อได้อ่านรายงานฉบับล่าสุดของข่าวสกู๊ปไทยรัฐที่ค่อนข้างจะแสดงให้เห็นถึงความท้อถอยของคุณ บัณฑูร ล่ำซำ อยู่บ้างว่า งานยังไม่เดินมากนัก และปัญหาก็ยังมีอีกหลายอย่าง

โดยเฉพาะการหักร้างถางป่า เพื่อปลูกข้าวโพดยังคงมีต่อไป

จะไม่ให้ผมรู้สึกใจหายดังที่ปรารภไว้ในตอนช่วงต้นๆ ของคอลัมน์วันนี้ได้อย่างไรล่ะครับ.

ซูม