ขณะที่ผมเขียนฉบับวันนี้มีข่าวว่ากองทัพเรือจะออกมาแถลงถึงเหตุผลและความจำเป็นในการซื้อเรือดำน้ำ ตามที่ ครม.อนุมัติไปอย่างเงียบๆเมื่อสัปดาห์ก่อน และกลายเป็นข่าวใหญ่ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางมาจนถึงวันนี้
ผมเองโดยส่วนตัวขอวางตัวเป็นกลางครับสำหรับกรณีนี้ เพราะในฐานะคนที่เคยเรียนวิชาเศรษฐศาสตร์และถูกสอนให้รู้จักทฤษฎี “ซื้อเนยกับซื้อปืน” มาตั้งแต่เรียนปีที่ 1 ทำให้ผมมองเห็นความจำเป็นทั้งเนยและปืน ซึ่งมีความสำคัญต่อประเทศชาติทั้งคู่
เนย หมายถึงอาหารการกิน ซึ่งสมัยนี้ก็หมายถึงการพัฒนาให้ประชาชนอยู่ดีมีสุข ซึ่งเป็นภารกิจหลักของรัฐบาลทุกประเทศทั่วโลก
ส่วน ปืน ก็จำเป็นที่จะต้องมีไว้ป้องกันตัวหรือมองจากประเทศ ก็คืออาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ ที่จะมีไว้ป้องกันประเทศ ซึ่งก็สำคัญอีกเช่นกัน
จึงเป็นหน้าที่ของผู้บริหารประเทศในแต่ละยุค จะต้องตัดสินใจว่าจะเทน้ำหนักไปทางด้านไหนขึ้นอยู่กับทรัพยากร หรืองบประมาณต่างๆ หรือฐานะการเงินการคลังที่ประเทศนั้นๆมีอยู่
ผมห่างไกลจากข้อมูลด้านการเงินการคลังในช่วงนี้ จึงขออนุญาตเป็นคนดูนั่งดูเหตุการณ์ไปพลางๆก็แล้วกัน
แม้ใจจะเชียร์อยากให้เก็บเงินไว้ซื้อ “เนย” มากกว่า แต่ก็ไม่ขัดข้องที่จะแบ่งปันไปซื้อ “ปืน” บ้าง หากมีความจำเป็นโดยแท้จริง ซึ่งก็คือการชี้แจงของกองทัพเรือที่ว่านี้แหละครับ ว่าจะจำเป็นจริงหรือไม่?
เผอิญระหว่างที่กำลังโต้เถียงกันอยู่นี้เอง ผมมีโอกาสไปนั่งเรือลอยแม่น้ำเจ้าพระยา จาก พระสมุทรเจดีย์ ที่สมุทรปราการล่องออกไปจนเกือบถึงปากอ่าวเมื่อวันเสาร์ที่แล้ว
...
มีอยู่ตอนหนึ่งผ่านไปทางบริเวณอู่ซ่อมเรือของกองทัพเรือและบริเวณที่เป็นสถานที่สำคัญๆ ของกองทัพเรือแถวแหลมฟ้าผ่า ไกด์กิตติมศักดิ์ของผมก็เล่าว่า ทหารเรือเราเคยมีเรือดำน้ำมาแล้วในประวัติศาสตร์
มีตั้ง 4 ลำแน่ะ ชื่อ มัจฉานุ, วิรุณ, สินสมุทร และ พลายชุมพล ต่อจากญี่ปุ่นทั้งหมด ตอนหลังต้องปลดระวางไป เพราะไม่มีอะไหล่
พอกลับถึงบ้านผมก็เลยลองไปค้นเรื่องเก่าๆจากกูเกิล ในที่สุดก็พบว่าเราเคยมีเรือดำน้ำมาแล้ว 4 ลำจริงๆ
ในวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรีระบุไว้ว่า ทั้ง 4 ลำ ประกอบที่อู่ต่อเรือมิตซูบิชิ เมืองโกเบ ตั้งแต่ปี 2480 (ก่อนผมเกิด 4 ปี) และเดินทางมาถึงประเทศไทยปลายเดือนมิถุนายน ปี 2481 และเข้าประจำการ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ปีเดียวกัน
จากนั้นก็เกิดสงครามอินโดจีนต่อเนื่องมาถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเรือดำน้ำทั้ง 4 ลำ ก็ได้ออกปฏิบัติการร่วมไปกับเรือรบอื่นๆ ของกองทัพเรือบุกไปจนถึงน่านน้ำของเขมร
เรือดำน้ำทั้ง 4 ลำ รับใช้ประเทศชาติมาจนถึงปี 2494 ก็ต้องปลดระวางเนื่องจากขาดแคลนชิ้นส่วนอะไหล่ เพราะหลังจากญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกถูกห้ามมิให้ผลิตอาวุธ ซึ่งก็รวมทั้งอะไหล่เรือดำน้ำด้วย
ประกอบกับได้เกิดเหตุการณ์ กบฏแมนฮัตตัน เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2494 ที่ทหารเรือลงมือปฏิวัติ แต่กลับเป็นฝ่ายแพ้พ่าย ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ในกองทัพเรือ
มีคำสั่งให้ยุบหมวดเรือดำน้ำจากรัฐบาลในปีเดียวกันนั้น
ภายหลังปลดประจำการแล้วเรือดำน้ำทั้ง 4 ลำ ถูกลากจูงมาจอดในแม่น้ำเจ้าพระยาใกล้ๆ โรงพยาบาลศิริราชอยู่เป็นเวลานาน ซึ่งผมเองก็เคยเห็นภาพถ่ายในหนังสือพิมพ์เก่าๆสมัยเรียนหนังสืออยู่ต่างจังหวัด
ต่อมาได้มีการขายลำเรือให้บริษัทปูนซิเมนต์ไทย (ไม่ทราบเอาไปทำเศษเหล็กหรือเปล่า) คงเหลือแค่หอบังคับการ อาวุธปืน และกล้องส่องที่ทางกองทัพเรือได้นำไปจัดสร้างสะพานเรือจำลอง ที่พิพิธภัณฑ์ทหารเรือหน้าโรงเรียนนายเรือจังหวัดสมุทรปราการ
ก็ต้องขอบคุณที่มีการบันทึกไว้ทำให้ทราบว่ากองทัพเรือไทยเราเคยมีเรือดำน้ำมาแล้ว และเหตุใดจึงต้องถูกยุบหน่วยเรือดำน้ำไปในที่สุด
หลายๆปีต่อมาแม้กองทัพเรือจะมีความพยายามที่จะซื้อเรือดำน้ำกันอีกแต่ไม่เคยประสบความสำเร็จ เพิ่งจะมีโอกาส “สำเร็จ” ในครั้งนี้หาก ครม.ไม่มีการเปลี่ยนมติอีกภายหลัง
กองทัพเรือจะล้างอาถรรพณ์ในรอบ 66 ปี หลังกบฏแมนฮัตตัน โดยมีโอกาสกลับมามีหน่วยเรือดำนํ้าอีกครั้งหรือไม่? คงต้องติดตามกันต่อไปครับ.
ซูม