คตินิยมเจ้านายไทยพ่อขุนรามคำแหง กษัตริย์สุโขทัย แขวนกระดิ่งให้ราษฎร ที่ “เจ็บท้องข้องใจ” สั่นร้องทุกข์บอกเรื่องราว... เจ้านายไทย...ทรงทำต่อเนื่องยาวนาน

สมัยรัชกาลที่ 3 ราษฎรก็รู้ดี มีพระเมตตา เมื่อเสด็จออกเยี่ยมราษฎรก็พยายามเฝ้ารอรับเสด็จ ถวายฎีกา

“ตีกลองร้องทุกข์ถวายฎีกา” ทัศนา ทัศนมิตร (สำนักพิมพ์ ร.ศ.229 พ.ศ.2554)

แต่การถวายฎีมาในช่วงเวลาที่ต้องอารักขาเข้มแข็ง นั้น...เป็นเรื่องยากลำบาก ทุลักทุเล หากราษฎรตั้งใจเข้ามาถวายฎีกา ถึงในพระราชวังก็ยิ่งลำบากมากขึ้นไปอีก

“การร้องทุกข์นั้น ถ้าทำได้ทุกวันทุกเวลา คงจะช่วยราษฎรได้มาก” มีพระราชดำริ เช่นนี้ โปรดให้นำกลอง...ใบหนึ่ง พระราชทานชื่อ “วินิจฉัยเภรี” ไปตั้งไว้ให้เจ้าหน้าที่กรมวังคอยดูแล

เมื่อมีผู้ตีกลอง ประสงค์จะถวายฎีกา ตำรวจก็จะรับตัวไว้ ไต่สวนเบื้องต้น พอทราบเรื่องราวแล้ว จึงนำขึ้นกราบบังคมทูล เมื่อทรงวินิจฉัย ก็มีพระบรมราชโองการสั่งให้ชำระความ ให้ผู้ร้องทุกข์ได้รับความเป็นธรรม

โดยไม่เปิดช่องให้ขุนนางผู้ใดเข้ามาแทรกแซง

ธรรมเนียมการตีกลองร้องทุกข์ถวายฎีกา สืบเนื่องต่อมา ถึงในสมัยรัชกาลที่ 4 แต่วิธีการปรับเปลี่ยนไปบ้าง ดังประกาศกำหนดเวลาถวายฎีกา (ปีมะโรง อัฐศก) ความตอนหนึ่งว่า

เมื่อถึงวัน 7 ค่ำ 14 ค่ำ เสด็จพระราชดำเนินออก ณ พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ โปรดให้ตีกลองวินิจฉัยเภรี ร้องเรียกคนร้องฎีกาเมื่อใด ก็ให้นำเรื่องราวของตนมาทูลเกล้าฯ ถวายที่หน้าพระที่นั่ง

ถ้าถึงวันมีพระราชกิจอื่นมาก จะมิได้เสด็จพระราชดำเนินออกไป ก็จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาส เสด็จออกไปทรงคอยรับฎีกาของราษฎร

...

แต่มีปัญหา เรื่องการเขียนข้อความ ในคำร้องถวายฎีกา...มีประกาศ การที่จะทูลเกล้าฯถวายฎีกา ณ วันอังคาร เดือน 5 แรม 8 ค่ำ ปีมะเมีย ยังเป็นนพศก...ความบางตอนว่า

ถ้าผู้แต่งเรื่องราวให้ไม่มี ก็ให้ผู้จะร้องฎีกา ให้แก่กรมล้อมพระราชวัง ขอให้ช่วยเขียนให้ แล้วรับไปตรวจอ่านดู ถ้าชอบใจเห็นว่าถูกความแล้ว ก็จงนำขึ้นทูลเกล้าฯถวายเถิด

ห้ามอย่าให้กรมล้อมพระราชวัง เรียกค่าธรรมค่าจ้างเขียนมากไปกว่า สองสลึง

อนึ่ง อย่าให้กักความไว้ไม่เขียนนานกว่า 15 วัน ถ้ากักไว้ช้า หรือเรียกค่าธรรมเนียมเขียนมากไป ให้ร้องกล่าวโทษกรมล้อมพระราชวังเอง

ผู้ถวายฎีกาหน้าพระที่นั่งนั้น ก็ทรงพระราชทานเงินคนละสองสลึง ทุกคน เป็นค่าว่าจ้างเขียน

ผมอ่านประกาศของรัชกาลที่ 4 แล้วซาบซึ้งจนน้ำตาไหล เจ้าชีวิตคนไทยนั้น ท่านมีพระมหาเมตตาธิคุณ มีพระมหากรุณาธิคุณ แก่ราษฎรเป็นหนักหนา

เมื่อมีเรื่อง ตีกลองร้องทุกข์ถวายฎีกา...นอกจากทรงรับวินิจฉัย ตัดสินให้ความเป็นธรรมเต็มที่ ยังมีน้ำพระทัย พระราชทานค่าเขียนคำร้องทุกข์ ให้ทุกคน

การร้องทุกข์สมัยนั้น จึงไม่เป็นเรื่องของคนมั่งมี ราษฎรที่ยากจนก็กระทำได้ เงินสองสลึงพระราชทานค่าเขียนคำร้องนั้น จึงเป็นเสมือนรางวัลพระราชทาน

วันนี้วันที่ 3 พ.ค. วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก...ครับ...

ผมฟังเพื่อนพ้องน้องพี่ รำพึงรำพัน เรื่องการตีทะเบียนนักข่าวไทย...เป็นทำนองว่าเป็นการกดขี่ แล้วนึกอะไรไม่ออก ทำได้แค่ พยายามค้นเรื่องเก่าๆ มาเล่าสู่กันฟัง

นึกถึงโคลงบทหนึ่ง...บารมีพระมากพ้น รำพัน...

เจ้านายเก่าๆ ท่านพยายามสร้างสมพระบารมีทุกวี่ทุกวัน... เรื่องบารมี...นี่เป็นเรื่องเฉพาะตัว คนมีอำนาจสมัยใหม่...ดูจะไม่เข้าใจ และดูเหมือนจะทำกันไม่เป็น.

กิเลน ประลองเชิง