ไม่รู้ว่าจะเชื่อใครดีครับ ระหว่างพลโทเฮอร์เบิร์ต แมคมาสเตอร์ที่ปรึกษาความมั่นคงประจำทำเนียบประธานาธิบดีสหรัฐฯ กับประธานาธิบดีสหรัฐฯ นายโดนัลด์ ทรัมป์

พลโทแมคมาสเตอร์ให้สัมภาษณ์ว่า รัฐบาลสหรัฐฯจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการติดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธเพดานบินสูง หรือ THAAD ในเกาหลีใต้ ราคา 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 3.5 หมื่นล้านบาทตามข้อตกลงด้านความมั่นคงระดับทวิภาคี แต่ทรัมป์กลับให้สัมภาษณ์เดอะวอชิงตันไทม์สว่า รัฐบาลเกาหลีใต้จะต้องเสียค่าใช้จ่ายนี้เอง

แม้ว่ารัฐบาลสหรัฐฯจะออกค่าใช้จ่ายในการติดตั้ง ประชาชนคนเกาหลีใต้ก็ต่อต้านกันไม่น้อย มีคนเกาหลีใต้หลายกลุ่มตะโกนก้องร้องสั่งให้สหรัฐฯเอาอุปกรณ์ระบบป้องกันขีปนาวุธฯออกไปจากประเทศ การที่ทรัมป์บอกว่าเกาหลีใต้ต้องออกค่าใช้จ่ายก็ยิ่งเป็นการสาดน้ำมันเข้าไปในกองเพลิง นำความโมโหโกรธาให้คนเกาหลีใต้เพิ่มขึ้น

มีการวิจารณ์ทรัมป์ตามมาเยอะ ผู้คนมองว่าทรัมป์ไม่รักษาข้อตกลงที่ทั้ง 2 ประเทศลงนามไว้ ทรัมป์ปฏิบัติเหมือนสหรัฐฯกับเกาหลีใต้เป็นบริษัท ไม่ใช่ชาติรัฐพันธมิตร นิสัยของทรัมป์เอาแต่ได้ไม่ยอมเสีย และใช้แว่นตาของความเป็นพ่อค้ามองเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

สหรัฐฯและเกาหลีใต้มีข้อตกลงการค้าเสรี KORUS (ตัวย่อของ Korea-US) ที่ผูกพันกันมาตั้งแต่ พ.ศ.2555 แต่ไม่กี่วันก่อนทรัมป์ออกมาให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนอเมริกันหลายสำนักว่า แกต้องการให้ทบทวนข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างสหรัฐฯกับเกาหลีใต้

การให้สัมภาษณ์ของทรัมป์ทำให้สนธิสัญญาและข้อตกลงไม่ศักดิ์สิทธิ์ กว่าที่จะมีการลงนามข้อตกลงแต่ละฉบับกันได้ต้องใช้เวลาเจรจายาวนาน เมื่อลงนามแล้วทุกฝ่ายก็สบายใจ และปฏิบัติไปตามข้อตกลงนั้นอย่างเคร่งครัด

...

เขียนคอลัมน์ด้านต่างประเทศมาหลายปี ผมเพิ่งเคยเห็นทรัมป์นี่แหละครับที่ชอบพูดว่า จะทบทวนข้อตกลงโน่นนี่นั่น ทรัมป์มองเกาหลีใต้เป็นคู่ค้า ไม่ใช่เป็นพันธมิตร

เหมือนกับความสัมพันธ์สหภาพยุโรปและตุรกีในขณะนี้นะครับ ตุรกีเป็นประเทศที่เชื่อมระหว่างทวีปเอเชียและยุโรป ความใฝ่ฝันปรารถนาของตุรกีก็คือ การเข้าเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป ตุรกีจึงทำทุกอย่างเพื่อให้สมาชิกสภาพยุโรป 28 ประเทศ ยอมรับ สั่งอะไรก็ทำ ขออะไรก็ให้ แต่ดูเหมือนว่าตุรกีถูกสหภาพยุโรปหลอกใช้มาตลอด

ปัญหาของสหภาพยุโรปในปัจจุบันก็คือ การที่มีผู้อพยพลี้ภัยจากซีเรียเข้าไปในดินแดนสหภาพยุโรปจำนวนมาก สหภาพยุโรปจึงขอให้ตุรกีดูแลผู้ลี้ภัยพวกนี้หน่อย ฝ่ายรัฐบาลตุรกีบอกว่าสตางค์ของข้าพเจ้าไม่พอ สหภาพยุโรปก็โยนเงินไปให้ 3 พันล้านยูโร หรือ 1.1 แสนล้านบาท บอกว่าให้เอาเงินจำนวนนี้ไปเลี้ยงดูผู้ลี้ภัย 3 ล้านคน ไม่ให้เดินทางเข้าไปถึงสหภาพยุโรป

เมื่อสหภาพยุโรปสั่ง ตุรกีก็ปฏิบัติตามครับ ตุรกีมี 2 อย่างที่อยากได้จากสหภาพยุโรป อย่างหนึ่งก็คือ การได้รับการยอมรับให้เข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป และอย่างที่สองก็คือ ตุรกีอยากให้พลเมืองของตนเดินทางเข้าออกดินแดนของสหภาพยุโรปได้อย่างเสรีโดยที่ไม่ต้องมีวีซ่า

เมื่อตุรกีขอ สหภาพยุโรปก็ให้ โดยลงนามกันไว้ว่า ต่อไปนี้คนตุรกีเข้ามายุโรปได้ แต่ผู้อ่านท่านครับ จนถึงวันนี้คนตุรกีไปยุโรปก็ยังต้องมีวีซ่า

เมื่อรัฐบาลตุรกีถามเรื่องนี้จากสหภาพยุโรป พวกยุโรปก็บอกว่า คนตุรกีเข้ามาได้โดยไม่ต้องใช้วีซ่า ทว่ารัฐบาลตุรกีต้องปฏิรูปกฎหมายต่อต้านการก่อการร้ายเสียก่อนนะ เรื่องปฏิรูปกฎหมายนี้ ตุรกีทำไม่ได้ดอกครับ เพราะตนเองมีพรมแดนประชิดติดกับทั้งอิรักและซีเรีย ขืนปฏิรูปตามที่สหภาพยุโรปต้องการ ผู้ก่อการร้ายเต็มตุรกีแน่

ผมว่าสหภาพยุโรปรู้อยู่แล้วว่าตุรกีปฏิรูปกฎหมายต่อต้านการก่อการร้ายไม่ได้ แต่ตามข้อตกลงที่ลงนามกันไปแล้ว สหภาพยุโรปก็ไม่มีสิทธิยกเรื่องการปฏิรูปขึ้นมาอ้างเพื่อจะใช้กีดกันไม่ให้คนตุรกีเข้าดินแดนสหภาพยุโรปได้โดยไม่ต้องใช้วีซ่า

ฝรั่งมังค่าก็อย่างนี้นะครับ ทรัมป์ฝรั่งอเมริกันไม่ปฏิบัติตามสิ่งที่พูดไว้กับเกาหลีใต้ เหมือนกับใช้เกาหลีใต้กีดกันคอมมิวนิสต์เกาหลีเหนือ และใช้กันอิทธิพลจีนกับรัสเซียในคาบสมุทรเกาหลี

ฝรั่งสหภาพยุโรปก็หลอกใช้ตุรกีกันผู้อพยพไม่ให้เข้าไปในดินแดนตัวเอง.

นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com