มีรายงานข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์หลายฉบับว่า มีข้อเสนอจากสมาชิก สปก. บางท่านที่จะให้มีการถอยคนละก้าวในกรณีของร่าง พ.ร.บ. การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชนที่ได้รับการคัดค้านจากหลายๆฝ่ายอยู่ในขณะนี้

โดยจะเสนอให้ 2 ตัวแทนภาครัฐอันได้แก่ 2 ปลัดกระทรวงที่จะมานั่งเป็นกรรมการในสภาวิชาชีพสื่อมวลชนอยู่ในตำแหน่งเพียง
2 สมัย หลังจากนั้นจะไม่มีตัวแทนของภาครัฐมาเป็นกรรมการอีก

เหลือคณะกรรมการอยู่แค่ 13 คนเท่านั้น เพื่อให้สื่อลดความกังวลเรื่องการแทรกแซงหรือการเข้าครอบงำของภาครัฐ

ไม่ทราบว่าผลการพิจารณาเมื่อวันที่ 1 พ.ค. จะออกมาอย่างไร? จะมีการปรับปรุงโครงสร้างกรรมการ หรือระยะเวลาการดำรงตำแหน่งการเป็นกรรมการของทั้ง 2 ปลัดกระทรวงตามข้อเสนอนี้หรือไม่?

คงต้องเรียนย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า การไม่เห็นด้วยที่จะให้มีกรรมการภาครัฐเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เท่านั้น

แม้จะเป็นส่วนสำคัญ แต่ก็ยังไม่สำคัญเท่าแนวความคิดในเรื่องการออกใบอนุญาตบุคคลที่จะมาทำหน้าที่สื่อ และหากใครไม่มีใบอนุญาตจะมีการลงโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท ที่ผมเขียน ไว้แล้วว่าแรง...แรงทั้งบทลงโทษและความคิด

ผมขอหยิบยกข้อเขียนของ “กาแฟดำ” ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ซึ่งอธิบายในประเด็นนี้ได้อย่างชัดเจนมาให้อ่านกันอีกครั้งหนึ่ง

คุณ “กาแฟดำ” ชี้ให้เห็นว่า ข้อถกเถียงของเรื่องนี้มิใช่อยู่ที่คณะกรรมการสภาอาชีพสื่อฯ ว่าจะเป็นภาครัฐกี่คน สื่อมวลชนกี่คน หรือภาควิชาการอิสระอื่นๆกี่คน

“ประเด็นอยู่ที่ความคิดที่จะให้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมีอำนาจออกใบอนุญาตให้ใครทำสื่อได้ ใครทำสื่อไม่ได้นั้น เป็นวิธีคิดแบบ เผด็จการที่ต้องการจะควบคุมความคิดเห็นของประชาชน (ต่างหาก)

...

แม้จะให้คณะกรรมการของสภาอาชีพสื่อฯชุดนี้เป็นตัวแทนจากสื่อ 100% ก็รับไม่ได้

เพราะผิดหลักสากลที่ว่า อาชีพสื่อมวลชนเป็นอาชีพที่ทุกคนสามารถทำได้ตราบเท่าที่ยึดถือหลักจริยธรรม และความรับผิดชอบตามกฎหมายและกติกาของสังคม

เพราะเสรีภาพสื่อก็คือเสรีภาพของประชาชน ใครต้องการตีตรวนหรือตีทะเบียนคนทำสื่อก็คือการกักขังความคิดของประชาชน

คนกลุ่มหนึ่งไม่ว่าจะเป็นใคร ไม่ควรจะมีอำนาจในการอนุญาต หรือไม่อนุญาตให้ใครประกอบอาชีพสื่อมวลชน ซึ่งไม่จำกัดว่าจะต้องเรียนอะไรมา หรือมีพื้นภูมิทางด้านไหน ตราบที่สามารถทำหน้าที่เป็น “สื่อที่รับผิดชอบ” และทำหน้าที่เป็นปากเสียงของประชาชนได้

ร่างกฎหมายฉบับนี้อันตรายอย่างยิ่ง เพราะกำลังมอบอำนาจให้กำหนดว่าใครบ้างที่ทำหน้าที่สื่อได้

เพราะใครมีอำนาจให้ใบอนุญาต ก็มีอำนาจถอนใบอนุญาต

สื่อที่ต้องทำงานภายใต้อำนาจเช่นนี้ ก็ไม่สามารถตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลอย่างตรงไปตรงมาได้”

ครับ! นี่คือส่วนหนึ่งของข้อเขียนของคุณ “กาแฟดำ” ที่สรุปและสะท้อนการคัดค้านต่อสู้ของสื่อมวลชนในขณะนี้ได้อย่างตรงจุดที่สุด

ใครก็ตามที่คิดจะสร้างอำนาจในการออกใบอนุญาต แถมมีบทกำหนดโทษด้วยกับบุคคลที่กำลังทำหน้าที่เสนอความจริง เสนอความคิดเห็นสู่สาธารณชนเช่นนี้ จะไม่มีทางเรียกขานเป็นอย่างอื่นได้เลย นอกจากคำว่า “เผด็จการ” ไม่เว้นแม้แต่องค์กรที่เป็นของสื่อเอง

ดังนั้น ข้อสรุปสำหรับเรื่องนี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่สอดคล้องกับหลักสากล และความเป็นประชาธิปไตยของโลกก็คือ ควรจะถอนร่าง พ.ร.บ.นี้ออกไปเสียเถิด

ไม่ต้องห่วงหรอกว่า สื่อเขาจะเหลิง หรือจะถือตัวว่ามีอำนาจด่าใคร หรือทำให้ใครเสียหายได้ตามอำเภอใจ

เรามีกฎหมายมากมายที่คุ้มครองสิทธิประชาชนชาวไทยในแต่ละด้าน รวมทั้งกฎหมายหมิ่นประมาท ที่โทษรุนแรงทั้งแพ่งทั้งอาญา

ไปใช้ขบวนการทางด้านนั้นเถิดครับ ใช้ให้มากๆ ลงโทษกันหนักๆเลยก็ได้...แม้จะเจ็บปวดแต่พวกเราก็รับได้ เพราะนั่นคือกติกาที่แท้จริงของระบอบประชาธิปไตย.

ซูม