ผู้อ่านส่งคำถามไปที่ไลน์ไอดี @LGJ0596P ถามว่าจริงหรือเปล่า? ที่เครื่องบินของสายการบินสัญชาติไทยบินเข้าสหรัฐฯไม่ได้?

ก่อนจะตอบคำถาม ผมขอเขียนถึงองค์กรตรวจสอบมาตรฐานการบินที่ยอมรับนับถือกันบนโลกใบนี้ก่อนครับ

อันดับแรกคือองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือ ICAO ไอเคโอ สองคือองค์การบริหารการบินแห่งสหรัฐอเมริกา หรือ FAA เอฟเอเอ และสามคือสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติของสหภาพยุโรป หรือ EASA เอียซา

FAA ของสหรัฐฯ ตรวจสอบความปลอดภัยการบินของไทยเมื่อ 13-17 กรกฎาคม 2558 ผลของการตรวจสอบทำให้เราหล่นมาอยู่ที่ category 2 เมื่อ 1 ธันวาคม 2558

ผมขอไม่ตอบว่าสายการบินของไทยบินเข้าสหรัฐฯ ได้หรือไม่ แต่ขอเรียนว่า การตกมาอยู่ใน category 2 ของประเทศใดก็ตาม ทำให้สายการบินของประเทศนั้น 1.ไม่ได้รับอนุญาตให้เพิ่มเที่ยวบิน 2.ห้ามทำการบินร่วมกับสายการบินของสหรัฐฯ หรือ 3.ถูกพักใช้ หรือ 4.เพิกถอนใบอนุญาต

FAA ตรวจสอบโดยใช้มาตรฐานอ้างอิง ICAO ซึ่ง ICAO มีมาตรฐานอ้างอิงการตรวจสอบใน 19 ภาคผนวกที่เป็นไปตามมาตรฐานอนุสัญญาชิคาโกซึ่งเป็นกฎหมายด้านการบินระหว่างประเทศที่ทุกประเทศต้องปฏิบัติตาม

แม้ว่า FAA หรือองค์กรด้านการบินสากลอื่นๆ จะมีหลักเกณฑ์ในการตรวจสอบของตัวเอง แต่ก็ยังใช้มาตรฐานอ้างอิงใน 19 ภาคผนวกของ ICAO เพียงแต่จะหยิบยกมาบางภาคผนวกเพื่อใช้ในการตรวจสอบ ขอเรียนนะครับว่า แต่ละองค์กรด้านการบินสากลที่ต่างกัน ก็มีจุดเน้นที่ต้องการตรวจสอบที่แตกต่างกันออกไปด้วย

เขียนให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือ หากประเทศ ก. ต้องการตรวจสอบเครื่องบินที่จะบินเข้ามาในน่านฟ้าของตน ก็อาจจะตั้งองค์กรด้านการบินไปตรวจสอบเครื่องบินของชาวบ้านว่าได้มาตรฐานหรือเปล่า? บินเข้ามาแล้วจะตกทำให้คนตายเยอะแยะหรือเปล่า? นอกจากองค์กรของประเทศ ก. จะอ้างมาตรฐานของ ICAO หรือองค์กรการบินพลเรือนระหว่างประเทศแล้ว ก็ยังอาจจะตั้งมาตรฐานให้พิเศษแตกต่างจาก ICAO เพื่อตรวจสอบด้วยก็ได้

...

หลายท่านเข้าไปอ่านข้อความที่ FAA ตรวจความปลอดภัยของสายการบินของไทย ก็จะเจอข้อความที่อ่านแล้วเข้าใจยากหน่อยว่า ไทยถูก FAA ลดระดับจากประเภทที่ 1 หรือ category 1 (ซึ่งได้มาตรฐานของ ICAO ในการออกใบอนุญาตและทำการกำกับดูแลสายการบิน) มาอยู่ในประเภทที่ 2 หรือ category 2 (ซึ่งถือว่าไม่ได้มาตรฐาน ICAO ในการออกใบอนุญาตและทำการกำกับดูแลสายการบิน)

FAA ของสหรัฐฯ ตรวจสอบโดยอ้าง ICAO ซึ่งเป็นองค์กรโลก จึงมีความจำเป็นที่เราจะต้องให้การบินของไทยได้มาตรฐานของ ICAO เพื่อจะได้ถูกใช้เป็นแหล่งอ้างอิง

ถาม ICAO ที่เข้ามาตรวจสอบการทำงานด้านการบินของ “รัฐบาลไทย” ตรวจอะไรบ้างครับ? ตอบ ตรวจการกำกับดูแลความปลอดภัยสากล ถาม ตรวจใครครับ? ตอบ ตรวจกรมการบินพลเรือนที่ตอนนี้เปลี่ยนเป็นสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ถาม ตรวจเมื่อใดครับ? ตอบ 19-30 มกราคม 2558 ถาม ICAO ตรวจอะไรอีกครับ? ตอบ ตรวจการกำกับดูแลการรักษาความปลอดภัยที่เรียกชื่อย่อว่า USAP ซึ่งประเทศไทยเคยถูกตรวจมาแล้วครั้งหนึ่งและจะมาตรวจซ้ำอีกครั้งเป็นครั้งที่ 2 ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2560

ผลของการตรวจ ICAO ให้ธงแดงไทย ผู้เกี่ยวข้องหลายท่านประกาศมาหลายครั้งแล้วว่า ICAO จะปลดธงแดงเรา แต่เราก็ไม่เคยได้รับการปลดจริงๆสักที การตรวจซ้ำใน พ.ศ.2560 ซึ่งก็คือปีนี้ จึงมีความสำคัญสำหรับอนาคตการบินของประเทศไทยอย่างมาก

ถาม ส่วน FAA ของสหรัฐฯ ตรวจอะไรเราครับ ตอบ ตรวจโดยใช้มาตรฐานอ้างอิง ICAO ในภาคผนวกที่ 1 เรื่องใบอนุญาตผู้ประจำหน้าที่ ภาคผนวกที่ 6 เรื่องการปฏิบัติการบินของอากาศยาน และภาคผนวกที่ 8 เรื่องความสมควรเดินอากาศของอากาศยาน

ผู้อ่านท่านที่เคารพครับ สมัยก่อน มนุษย์ขี่ม้า ขี่ช้าง ไปมาหาสู่ประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนประชิดติดกับเรา ต่อมา เรานั่งเรือไปต่างประเทศ ทว่าเดี๋ยวนี้ ไม่ว่าจะเดินทางภายในประเทศ หรือไปต่างประเทศ มนุษย์นิยมใช้เครื่องบิน เรื่องมาตรฐานการบินสากลจึงสำคัญมาก อยากให้รัฐบาลไทยช่วยแก้ไขเรื่องนี้ด่วนครับ พรุ่งนี้มาว่ากันต่อครับ.

นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com