ตอนที่ทรัมป์ยังไม่ได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ความหวังของมาเลเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ บรูไน และอีก 8 ประเทศอยู่ที่ “ความตกลง หุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP)” ซึ่งทั้ง 12 ประเทศนี่เจรจา กันอยู่นาน 7 ปี จนบรรลุข้อตกลงเมื่อ 5 ตุลาคม 2558 และลงนามกันเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2559

ขณะที่ทีพีพีซึ่งเป็นกลุ่มที่สหรัฐฯ เป็นผู้นำประสบความสำเร็จ แต่การเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ที่มีจีนเป็นผู้นำกลับต้องเจรจาแล้วเจรจาอีกถึง 17 รอบ เลื่อนแล้วเลื่อนอีก เพราะสมาชิกบางประเทศอยากให้มีการเปิดตลาดบริการ บางประเทศ ต้องการให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมือเสรี บางประเทศต้องการปกป้องตลาดสินค้า หลายประเทศต้องการให้เข้มงวดในเรื่องแหล่งกำเนิดสินค้า ฯลฯ

อาร์เซ็ปที่มีจีนเป็นผู้นำประกอบด้วยอาเซียน 10 ประเทศกับ 6 ประเทศคู่ค้าคือ จีน อินเดีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เมื่อตอนที่สมาชิกทีพีพีที่ตกลงกันได้เมื่อ พ.ศ. 2558 นายกรัฐมนตรีมาเลเซียซึ่งเป็นประธานอาเซียนกลับประกาศเลื่อนการเจรจาและการลงนามอาร์เซ็ปออกไปอย่างไม่มีกำหนด

ตอนนั้น ทุกคนคิดว่าทีพีพีมีอนาคต ส่วนอาร์เซ็ปไร้อนาคต

แต่สรรพสิ่งในโลกนี้ไม่แน่นอนครับ ทรัมป์ได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อกุมภาพันธ์ 2560 แกก็บ๊ายบายทีพีพี จนทุกวันนี้ ทีพีพีกลับถูกเก็บใส่ขวดโหล

ส่วนอาร์เซ็ปกลับก้าวหน้า โดยสมาชิกทั้ง 16 ประเทศมีความมุ่งหวังตั้งใจว่าจะต้องเจรจาตกลงกันให้เสร็จภายใน พ.ศ.2560 และ ลงนามกันให้ได้ใน พ.ศ.2561

ใต้สมองของคณะผู้นำจีนคิดเรื่องการเชื่อมต่อโครงสร้างพื้นฐานทั้งทางบกและทางทะเลไปตามส่วนต่างๆของโลกให้ได้มากที่สุด ตอนที่อาร์เซ็ปยังโงนเงนเอนโอน (ขณะที่ทีพีพีมาแรง) ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ประกาศเส้นทางการเชื่อมโยงการค้าใหม่ของจีนด้วยโครงการ The Silk Road Economic Belt and the 21st-century Maritime Silk Road หรือ One Belt, One Road (OBOR)

...

OBOR ประกอบด้วย 2 ส่วน ส่วนแรก (The Silk Road Economic Belt) เป็นการเชื่อมประเทศต่างๆ ตามเส้นทางสายไหมเก่าทางบก 6,500 กม. และส่วนที่สอง (the 21st-century Maritime Silk Road) เป็นเส้นทางสายไหมใหม่ทางทะเล 8,000 กม.

ทั้งสองส่วน คือทั้งทางบกและทางทะเลทำหน้าที่เชื่อมคน 4 พันล้าน หรือร้อยละ 50 ของประชากรโลก และร้อยละ 40 ของจีดีพีโลก

ประเทศที่อยู่ในโครงการ OBOR ที่จะเชื่อมกันด้วยการนำของ จีนในครั้งนี้มีมากถึง 64 ประเทศในทวีปเอเชีย แอฟริกา และยุโรป

ขณะนี้เศรษฐกิจโลกไม่ดี แต่เศรษฐกิจจีนยังขยายตัวได้สูง เมื่อปีที่แล้วจีดีพีจีนขยายตัวที่ร้อยละ 6.7 ส่วนปีนี้ หน่วยงานต่างๆของจีนวิเคราะห์ว่า จีดีพีจีนน่าจะยังขยายตัวได้ถึงประมาณร้อยละ 6.5 เดี๋ยวนี้ใครๆก็ต้องง้อจีนครับ แม้แต่นอร์เวย์ซึ่งเป็นชาติมั่นคงและมีจุดยืนเรื่องสิทธิมนุษยชนสูงก็ยังต้องเหลือบตาดูจีนบ่อยๆ ว่าจีนจะโปรดตัวเองเมื่อใด

ผู้อ่านท่านยังจำเรื่องของนายหลิว เสี่ยวปัว ได้ไหมครับ นายคนนี้แกเป็นนักเขียนชาวจีนที่เขียนคัดค้านรัฐบาลจีนจนต้องติดคุกข้อหาปลุกระดมการล้มล้างอำนาจรัฐนานถึง 11 ปี การเคลื่อนไหวของนายหลิวเป็นที่ประทับใจของคณะกรรมการรางวัลโนเบล คณะกรรมการฯ จึงมอบรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพให้กับนายหลิวเมื่อ พ.ศ.2553 เรื่องนี้จีนโกรธและทำให้ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างจีนและนอร์เวย์ไม่ปกติ

เพราะความยิ่งใหญ่ของจีนทำให้นอร์เวย์เกรงว่าตนจะเสียโอกาส จึงพยายามจะปรับปรุงความสัมพันธ์ จีนบอกนอร์เวย์ว่า “ได้” แต่ลื้อต้องขอโทษเรื่องที่ลื้อไปให้รางวัลโนเบลสันติภาพกับไอ้หลิว เสี่ยวปัว นักโทษของอั๊วซะก่อน

นอร์เวย์ต้องอธิบายแล้วอธิบายอีกว่า คณะกรรมการรางวัลโนเบลเป็นอิสระ ไม่เกี่ยวอะไรกับรัฐบาลนอร์เวย์ อย่าโกรธนอร์เวย์เลยนะ จีนนะ

และเดือนนี้นี่เองครับ ที่นายกรัฐมนตรีนอร์เวย์ไปจีน เพื่อเจรจาเรื่องการค้าเสรีกับจีน จีนมีวิธีคิดและวิธีปฏิบัติที่แตกต่าง ไม่เหมือนชาติอื่น แต่สุดท้ายแล้ว จีนมักเป็นฝ่ายชนะเสมอ

ขณะที่ทั้งโลกกำลังสร้างลัทธิปกป้องการค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สหรัฐฯ ที่นำโดยโดนัลด์ ทรัมป์ แต่จีนกลับหยิบเรื่องการค้าเสรีมาคุยกับชาติโน้นประเทศนี้

จีนนำวิกฤติมาพลิกเป็นโอกาสเสมอครับ.

นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com