อนาคตความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ หลังจากที่ประชุม สนช. มีมติเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม โฟกัสไปที่ การตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติ โดยเป็นการตั้งข้อสังเกตให้ ครม. ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษารายละเอียดภายใน 60 วันหลังจากที่กฎหมายดังกล่าวบังคับใช้
ควันหลงจากประเด็นการจัดตั้ง บรรษัทพลังงานแห่งชาติ โดยการพาดพิงถึงการทำงานของ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ว่าเป็นหน่วยงานที่ไม่มีประสิทธิภาพ เชื่อตามข้อมูลของเอกชนเรื่องปริมาณปิโตรเลียม โดยเฉพาะ เอ็นจีโอ ที่ตั้งเป้าโจมตี ไม่มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงแต่อย่างใด
เรื่องทำนองนี้จะต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายไม่เช่นนั้นข้อมูลที่ออกสู่สาธารณชนก็จะเกิดความสับสนและเกิดความเข้าใจที่ผิดๆ เพราะเมื่อตรวจสอบข้อมูลปี 2559 ที่ผ่านมา กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เป็นหน่วยงานที่ได้รับการประเมิน คุณธรรมและความโปร่งใส ในการดำเนินงานภาครัฐระดับสูงมาก จาก คณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ท.
การผลิตน้ำมันหรือก๊าซธรรมชาติ จะมี มิเตอร์ตรวจสอบแบบเรียลไทม์ ปริมาณก๊าซและน้ำมันที่นำขึ้นมาจากแหล่งขุดเจาะต่างๆที่เอกชนได้รับสัมปทานจะมีการบันทึกไว้โดยอัตโนมัติ จะแก้ไขข้อมูลไม่ตรงความเป็นจริงไม่ได้แน่นอน ซึ่ง เอ็นจีโอ เองก็ทราบข้อมูลดังกล่าวแต่ไม่นำมาอธิบายให้สังคมได้ทราบ แม้แต่ สนช.ที่อภิปรายในประเด็นนี้ก็ไม่ทราบข้อเท็จจริงในการดำเนินการ จึงเป็นการตัดสินใจบนข้อมูลที่คลาดเคลื่อน
จะว่าไปแล้ว กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ มีข้าราชการเพียง 200 คน ที่เป็นเช่นนี้เพราะการออกแบบขององค์กรในการทำหน้าที่ด้านควบคุมการผลิตเชื้อเพลิงธรรมชาติ เฉพาะในการกำกับดูแล ควบคุมสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ไม่ใช่ลงมือปฏิบัติเอง
แต่ความรับผิดชอบของ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ที่สามารถหารายได้เข้ารัฐกว่า 2 แสนล้านบาทต่อปี หรือเฉลี่ยข้าราชการ 1 คนหารายได้เข้ารัฐได้กว่า 1 พันล้านบาท จะโจมตีว่า ข้าราชการกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ไม่มีประสิทธิภาพ ก็จะเป็นการหลับหูหลับตาวิพากษ์วิจารณ์เกินไป
...
การบิดเบือนข้อเท็จจริงและกล่าวเท็จ ให้สังคมเกิดความสับสนและเข้าใจผิดในประสิทธิภาพการทำงานของข้าราชการกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ โดยไม่มีคุณธรรมและความโปร่งใส เป็นการทำลายองค์กรเดิมเพื่อให้ได้องค์กรใหม่ขึ้นมามีอะไรแอบแฝงหรือไม่ คงต้องเก็บเอาข้อมูลที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุลอดีตรองนายกฯ มาตีความ มี ไอ้โม่ง ที่อยู่เบื้องหลังการยัดไส้ บรรษัทพลังงานแห่งชาติ ในลักษณะเป็นร่างทรงของ กรมการพลังงานทหาร ย้อนไปสู่ยุค น้ำมันสามทหาร จริงเท็จประการใดเล่นเอา พล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ ในฐานะประธานกรรมาธิการ ต้องถอยไปตั้งหลัก
เมื่อมีเบื้องหน้าก็ต้องมีเบื้องหลัง ไอ้โม่ง ที่ว่าใส่หน้ากากสีเขียว แถมยังใกล้ชิดกับรัฐบาลชุดนี้ จะมีบทบาทแค่ไหนในการผลักดันให้มีการจัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติ และจะสนองความต้องการของ เอ็นจีโอ ได้ถึงพริกถึงขิงหรือไม่ ห้ามกะพริบตา.
หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th