คุณทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนฯ เพิ่งจัดงานประชุม ใหญ่ประจำปี 2563 ไปเมื่อวันจันทร์ในหัวข้อ “ชีวิตวิถีใหม่ ประเทศไทยหลังโควิด” สรุปผลการพัฒนาประเทศจาก แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 (2561-2565) ซึ่งอยู่ในยุครัฐบาล คสช.ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีพอดี เห็นตัวเลขเศรษฐกิจแล้วก็อ่อนแรง 10 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2550–2563 (อยู่ภายใต้การบริหารของรัฐบาล คสช. 6 ปี) หนี้สินครัวเรือนคนไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องไปอยู่ในระดับสูงสุด 80% ของจีดีพีในปัจจุบัน
จีดีพีไทยปี 2562 อยู่ที่ 17 ล้านล้านบาท หนี้สินครัวเรือนไทย 80% ต่อจีดีพีก็ตก 13.6 ล้านล้านบาท เฉลี่ยคนไทยเป็นหนี้ครัวเรือนละ 2 แสนบาท มากโขทีเดียว
ยิ่งน่าตกใจเมื่อ คุณทศพร เปิดเผยว่า ความเหลื่อมล้ำของรายได้ระหว่างคนรวยกับคนจนก็เพิ่มขึ้นสูงมาก คนมีรายได้สูง 10% มีรายได้มากกว่าคนที่มีรายได้ตํ่าสุดถึง 20 เท่า สะท้อนถึง การกระจุก ตัวของรายได้ในกลุ่มบน การแบ่งปันผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจก็ยังไม่ทั่วถึงไปสู่คนกลุ่มล่าง ด้านการศึกษาก็พบว่า ลูกคนรวยมีโอกาสเรียนต่อปริญญาตรีสูงถึง 65.6% แต่ลูกคนจนมีโอกาสเรียนต่อปริญญาตรีเพียง 3.8% เท่านั้น ทั้งที่งบประมาณการศึกษาได้รับมากสุด ทุกปี และยังมีกระทรวงศึกษามากที่สุดในโลกถึง 2 กระทรวง คือ กระทรวงศึกษาธิการ และ กระทรวงการอุดมศึกษาฯ แต่ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของไทยกลับห่วยไม่แพ้ประเทศยากจนในทวีปแอฟริกา?
คุณทศพร เปิดเผยอีกว่า คนจนที่มีรายได้ตํ่ากว่าเส้นยากจนในปี 2561 มี 9.85% หรือ 6.7 ล้านคน เพิ่มขึ้น 1.4 ล้านคนจากปี 2560 โดยตั้งข้อสังเกตว่า สัดส่วนคนจนที่เพิ่มขึ้น เป็นผลมาจาก เทคโนโลยีดิสรัปชัน สงครามการค้า และ เศรษฐกิจโลกตกต่ำ
...
ตัวเลขคนจนของสภาพัฒนฯ 6.7 ล้านคน ผมไม่แน่ใจว่าถูกต้อง หรือไม่ เพราะตัวเลขผู้ใช้ “บัตรคนจน” หรือ “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” ที่กระทรวงการคลังแจกเงินให้ทุกเดือนนั้น มีประมาณ 14 ล้านคน มากกว่าตัวเลขของสภาพัฒนฯถึง 2 เท่าเลยทีเดียว
ข้อมูลประเทศไทยที่ คุณทศพร เลขาธิการสภาพัฒนฯ แถลงมาทั้งหมด เป็นผลงานของรัฐบาลก่อนเกิดโรคระบาดโควิด-19 แต่ “ชีวิตวิถีใหม่ ประเทศไทยหลังโควิด” ท่านเลขาธิการสภาพัฒนฯกล่าวว่า เศรษฐกิจไทยจะต้องเจอกับสภาวะ “3 สูง 3 ตํ่า” โดย 3 สูง ก็คือ อัตรา การว่างงานสูง หนี้สาธารณะสูง หนี้ภาคเอกชนสูง ส่วน 3 ตํ่า ก็คือ การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจตํ่า อัตราเงินเฟ้อตํ่า อัตราดอกเบี้ยตํ่า ใครจะรอดใครจะไปก็ตัวใครตัวมันแล้วกันนะโยม
หนี้สาธารณะ ที่รัฐบาลกู้มาใช้จ่ายตลอด 6 ปีใน รัฐบาล คสช. วันนี้กำลังท่วมคอหอย คุณทศพร เปิดเผยว่า ก่อนโควิดหนี้สาธารณะอยู่ที่ 40% ของจีดีพี ปีนี้ 2563 หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นเป็น 47% ของจีดีพี และ ปีหน้า 2564 หนี้สาธารณะจะเพิ่มขึ้นเป็น 57% ของจีดีพี อีก 3% ก็ชนเพดาน 60% ที่กฎหมายกำหนดว่าห้ามเกิน แต่ เมื่อรัฐบาลบริหารประเทศให้ดีกว่านี้ไม่ได้ ผมเชื่อว่าจะมีการแก้กฎหมายเพื่อเพิ่มเพดานหนี้ให้สูงขึ้นไป สุดท้ายอนาคตประเทศไทยหลัง โควิดจะเป็นอย่างไร ก็เป็นเรื่องที่เหนือการคาดเดา ขนาด รัฐมนตรีคลัง ผ่านมาค่อนเดือน ก็ยังหาคนมาเป็นรัฐมนตรีคลังไม่ได้
แล้ว อนาคตคนไทย 68 ล้านคนหลังโควิดจะเป็นอย่างไร ต้อง ไปคิดกันเอาเอง
“จุดอ่อน” ที่ ทำให้ประเทศไทยพัฒนาไม่ได้ เกิดจากการสร้าง “รัฐราชการ” ของ คสช. เพื่อครอบงำ “ระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบ” ในปัจจุบัน แม้จะเห็นโอกาสอยู่ข้างหน้าก็ยากที่จะไปถึง เพราะมี “ระบบรัฐราชการ” เป็นด่านสกัด ทำให้ประเทศไทยเสียโอกาสมากมาย และคนไทยก็เสียโอกาสกันทุกคน เป็นผลกระทบระดับชาติเลยทีเดียวนะครับ.
“ลม เปลี่ยนทิศ”