วันเสาร์สบายๆวันนี้ผมชวนท่านผู้อ่าน “นั่งรถไฟไปเที่ยวหัวหิน” กันสักวันนะครับ เป็นทริปการท่องเที่ยววันหยุดสุดสัปดาห์ที่สนุกมาก การรถไฟแห่งประเทศไทย มีรถไฟนำเที่ยวในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ อยู่ 2 เส้นทาง คือ กรุงเทพฯ–หัวหินและสวนสนประดิพัทธ์ และ กรุงเทพฯ-น้ำตกไทรโยคน้อย กาญจนบุรี เที่ยวแบบเช้าไปเย็นกลับ ราคาตั๋วถูกมาก ที่นั่งชั้น 3 คนละ 120 บาท ชั้น 2 ปรับอากาศ คนละ 240 บาท

ทริปนั่งรถไฟไปเที่ยวหัวหินครั้งนี้ เป็นทริปพิเศษที่ผมไปกับเพื่อนร่วมรุ่นใน หลักสูตร วธอ.3 โดยเช่าเหมารถไฟตู้พิเศษที่เรียกว่า SRT Prestige จำนวน 2 ตู้ นั่งได้ 50-60 คน

ไอเดีย “นั่งรถไฟไปเที่ยวหัวหิน” ครั้งนี้มาจาก คุณเทวัญ ลิปตพัลลภ อดีตรัฐมนตรีสำนักนายกฯ ประธานรุ่น วธอ.3 เพื่อสังสรรค์เพื่อนร่วมรุ่นที่ไม่ได้เจอกันหลายเดือนแล้ว มีเพื่อนร่วมรุ่นไปกันถึง 60 คน เช่น ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ. คุณนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟ คุณวรวิทย์ เจนธนากุล รองกรรมการผู้จัดการเครือซีพี นายกสภาวิชาชีพการบัญชี เป็นต้น ทุกคน (ยกเว้นผู้ว่าการรถไฟ) ไม่ได้นั่งรถไฟมาหลายสิบปีแล้ว ครั้งนี้เลยได้รำลึกความหลังครั้งนั่งรถไฟตอนเด็ก ถึงก็ช่าง ไม่ถึงก็ช่าง

ตู้ SRT Prestige จะเป็นตู้รถไฟส่วนตัวที่ให้เช่าในราคาพิเศษ ถ้าไม่เกิน 500 กม. ค่าเช่า 17,000 บาทต่อเที่ยว เกิน 500 กม. 27,000 บาทต่อเที่ยว ถ้าไปกันเยอะเฉลี่ยคนละไม่กี่ร้อยบาท

ก่อนออกเดินทางที่สถานีรถไฟหัวลำโพงในเวลา 06.30 น. คุณนิรุฒ ผู้ว่าการรถไฟ ได้นำคณะไปถวายสักการะพระบรมรูป รัชกาลที่ 5 บริเวณที่มีการตอกหมุดรถไฟหมุดแรก ได้เห็นพื้นที่ด้านหลังหัวลำโพงนับร้อยไร่แล้วก็เสียดาย รัฐบาลน่าจะสร้างสถานีรถไฟหัวลำโพงใหม่ให้ทันสมัย แล้วเก็บสถานีหัวลำโพงเดิมไว้เป็นที่ระลึก เหมือนในเมืองหลวงต่างประเทศ ดีกว่าไปสร้างใหม่ที่บางซื่อ แต่ก็สายไปเสียแล้ว

...

ไฮไลต์ของทริปนี้ผมยกให้ รายการอาหารตามสถานีรถไฟ ที่ คุณนิรุฒ ผู้ว่าการรถไฟ จัดขึ้นมาเสิร์ฟให้เป็นพิเศษ เริ่มตั้งแต่ โจ๊กสามย่าน กับ ปาท่องโก๋จิ้มนมข้นหวาน ระหว่างทางก็ทยอยเสิร์ฟอาหารที่เป็น signature dishes ของแต่ละสถานี เช่น ข้าวหลาม ข้าวหลามบ๊ะจ่าง ของ นครปฐม ต่อด้วย ข้าวแกงกระทงใบตอง ของ สถานีชุมทางหนองปลาดุก เป็นข้าวแกงที่ขึ้นชื่อลือชามาก ใครนั่งรถไฟสายใต้แล้วไม่ได้ทานข้าวแกงกระทงถือว่าไปไม่ครบ ถัดไปก็เป็น เต้าหู้ดำ ของ สถานีโพธาราม และ ก๋วยเตี๋ยวแห้งห่อ ของ สถานีราชบุรี ตบท้ายด้วยของหวาน ลอดช่องวัดเจษ อิ่มท้องนั่งชิมวิวไปอีกแป๊บเดียวก็ถึงหัวหินพอดี

ที่ สถานีนครปฐม รถไฟขบวนนี้จะจอดให้ไปไหว้ พระปฐมเจดีย์ เป็นเวลา 40 นาที ผมก็เพิ่งเคยไปเป็นครั้งแรก วัดพระปฐมเจดีย์ อยู่ใกล้กับสถานีรถไฟมาก ลงจากรถไฟเดินข้ามถนนไปสองสายก็ถึงวัดแล้ว ขึ้นไปไหว้พระทำบุญเสร็จก็เดินกลับมาขึ้นรถไฟ สถานีรถไฟนครปฐมวันนั้นคึกคักมาก ทั้งผู้เดินทางด้วยรถไฟ นักท่องเที่ยว พ่อค้าแม่ค้า แน่นจากสถานีไปจนถึงทางเข้าวัด ที่ขายดิบขายดีก็คือข้าวหลามนครปฐมที่ขึ้นชื่อนั่นเอง

ตลอดเส้นทางสายนี้เราจะได้ผ่านสถานที่ทางประวัติศาสตร์มากมาย เช่น สะพานพระรามหก ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา สะพานเสาวภา ข้ามแม่น้ำท่าจีน สะพานจุฬาลงกรณ์ ข้ามแม่น้ำแม่กลอง ที่สร้างเป็นสะพานขึง เพราะใต้แม่น้ำแม่กลองยังมีระเบิดสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 หลงเหลืออยู่อีกหลายลูกที่ยังไม่ได้กู้ขึ้นมา วิศวกรจึงต้องออกแบบเป็นสะพานขึงแทน

เราใช้เวลา 4 ชั่วโมง (เมื่อรถไฟทางคู่เสร็จจะเหลือ 2 ชั่วโมง) ก็เดินทางถึง สถานีรถไฟหัวหิน สถานีรถไฟที่คลาสสิกที่สุด สร้างตั้งแต่ปี 2453 ปีนี้อายุปี 2469 ได้มีการเปลี่ยนรูปอาคารใหม่ เป็นสถาปัตยกรรมวิคตอเรีย จุดเด่นคือหลังคาคลุมชานชาลาที่เสามีลวดลายประดับสวยงาม ข้างๆเป็นพลับพลาทรงไทย ลงจากรถไฟก็มีรถสองแถวมารับไปโรงแรม

ใครยังไม่เคยลองเส้นทางนี้ ผมแนะนำว่าต้องลองเลยครับ สนุกและได้บรรยากาศจริงๆ จะไปเช้าเย็นกลับ พักค้างคืนเล่นน้ำทะเลหัวหิน แล้วกลับวันรุ่งขึ้นก็ได้ รถไฟขบวนพิเศษนี้มีวิ่งไปกลับ 2 วัน คือ เสาร์และอาทิตย์ เป็นอีกหนึ่งประสบการณ์ท่องเที่ยวที่ผมคิดว่าไม่ควรพลาด ถ้าไปแบบครอบครัว จะได้อยู่กันอย่างอบอุ่นถึง 4 ชั่วโมงเต็มไม่มีเบื่อเลย.

“ลม เปลี่ยนทิศ”