ก็เป็นเรื่องมหัศจรรย์ที่ต้องบันทึกไว้ใน กินเนสส์บุ๊ก เลยทีเดียว เมื่อ คุณถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยคมนาคม แถลงผลสอบสวนข้อเท็จจริง ผลขาดทุนการบินไทยในช่วง 3 ปี 2560-2562 พบความมหัศจรรย์พันลึกในดินแดนอาถรรพณ์แห่งนี้อย่างไม่น่าเชื่อ พนักงานฝ่ายช่างมีวันทำงานล่วงเวลา หรือโอทีถึง 419 วัน? แต่ 1 ปีมีเพียง 365 วัน มหัศจรรย์ไหมล่ะ เครื่องบิน 10 ลำ ประจำการ 6-10 ปี สามารถทำให้การบินไทยขาดทุนกว่า 62,800 ล้านบาท ถ้าสามารถฟื้นฟูการบินไทยให้กลับมามีกำไรได้ ก็ต้องยกนิ้วให้ คุณชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการดีดีการบินไทย เป็นสุดยอดซีอีโอของประเทศไทยเลยทีเดียว

วันนี้ คุณถาวร จะให้เจ้าหน้าที่นำเอกสารการตรวจสอบข้อเท็จจริงกว่า 10 ลัง ส่งไปให้ ป.ป.ช. และ กระทรวงการคลัง ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ และรายงานให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ รับทราบ เนื่องจากพบว่า การขาดทุนมีต้นเหตุมาจากการทุจริต

งานนี้ คุณถาวร บอกว่า เป็นการวัดใจ ป.ป.ช. เพราะมีผู้ทำความผิดตั้งแต่ รักษาการดีดีลงมา ผลการตรวจสอบพบว่า ช่วงปี 2560-62 การบินไทยมีผลขาดทุนไม่ต่ำกว่า 25,659 ล้านบาท โดยมีจุดเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2551 การบินไทยจัดซื้อเครื่องบินแอร์บัส A340-500 และ A340-600 จำนวน 10 ลำ การขาดทุนมาจาก 3 ปัจจัย คือ ไม่ให้ความสำคัญต่อมติ ครม.การจ่ายสินบนของโรลส์รอยซ์ให้ซื้อเครื่องยนต์และการซ่อมบำรุงแบบเหมาจ่าย และ การจ่ายสินบนให้นักการเมืองแลกกับการซื้อเครื่องบินรุ่น A340

ช่วงปี 2560-2562 การบินไทยขายตั๋วมาก แต่มีผลขาดทุนมากต่อเนื่อง ปี 60 ขาดทุน 2,072 ล้านบาท ปี 61 ขาดทุน 11,569 ล้านบาท ปี 62 ขาดทุน 12,017 ล้านบาท ทั้งที่ ผู้โดยสารใน 3 ปีใกล้เคียงกันคือ 24 ล้านคน อัตราบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ยอยู่ที่ 79.2% 77.6% และ 79.1% ตามลำดับ จำนวนเครื่องบินก็มีเท่าเดิม 102-103 ลำ

...

พล.ต.ท.ชาญเทพ เสสะเวช อดีต ผบช.น.หัวหน้าคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ แถลงเพิ่มเติมว่า คณะทำงานใช้เวลา 43 วัน มีคณะทำงานชุดย่อย 6 คณะ มีผู้ให้ข้อมูลโดยเปิดเผยและไม่เปิดเผยกว่า 100 คน ตรวจสอบย้อนหลัง 3 ปี ตั้งแต่ปี 2560–2562 พบว่า

สาเหตุความเสียหายมาจากปี 2551 เป็นปีแรกที่การบินไทยขาดทุนมากที่สุดถึง 21,450 ล้านบาท (ทำไมไม่มีการสอบสวนในตอนนั้นก็ไม่รู้?) เป็นผลมาจากการจัดซื้อเครื่องบินแอร์บัส A340-500 และ A340-600 จำนวน 10 ลำ พิสัยไกลพิเศษ ขนาด 4 เครื่องยนต์ มูลค่าตามบัญชี 53,043.04 ล้านบาท เข้าประจำการตั้งแต่เดือน ก.ค.48 ทำการบินเส้นทาง กรุงเทพฯ-นิวยอร์ก และ กรุงเทพฯ-ลอสแอนเจลิส บินเพียง 3 ปีต้องหยุด เพราะขาดทุนทุกเที่ยวบินรวม 12,859.55 ล้านบาท มีการปรับเส้นทางไป 51 เส้นทางก็ขาดทุนอีก ทำให้บริษัทขาดทุนจากการดำเนินงาน 39,859.52 ล้านบาท

การบินไทยจึงต้องปลดระวางเครื่องก่อนกำหนดในปี 2556 ประจำการเพียง 6-10 ปี ทั้งที่มีอายุใช้งาน 20 ปี ระหว่างจอดรอขายทำให้บริษัทขาดทุนจากการด้อยค่าอีกไม่ต่ำกว่า 22,943.97 ล้านบาท รวมเบ็ดเสร็จ เครื่องบินแอร์บัส A340 จำนวน 10 ลำ ทำให้การบินไทยขาดทุนไม่ต่ำกว่า 62,803.49 ล้านบาท โอ้แม่เจ้า อะไรจะขาดทุนบานเบิกขนาดนั้น ครม.ชุดไหนมีมติให้ซื้อ ใครเป็นคนสั่งซื้อ ผลสอบสวนน่าจะไปถึงหมด ก็อยู่ที่ ป.ป.ช.จะกล้าชี้มูลความผิดใครหรือไม่ ถ้าไม่กล้าก็อย่าเป็น ป.ป.ช.เลย

แต่เรื่องที่มหัศจรรย์ยิ่งกว่าแอร์บัส 10 ลำก็คือค่าโอที พล.ต.ท.ชาญเทพ เปิดเผยว่าปี 60-62 ค่าโอที หรือค่าทำงานล่วงเวลาของฝ่ายช่างอยู่ที่ 2,022 ล้านบาท พบว่าพนักงาน 1 คนทำโอทีสูงสุดถึง 3,354 ชั่วโมง และ มีวันทำโอทีถึง 419 วัน แต่ 1 ปีมีเพียง 365 วัน ฝ่ายบุคคล (HR) ทั่วโลกคงต้องบินมาเรียนรู้กับการบินไทย ทำได้ยังไง? 1 ปีมีโอที 419 วัน มหัศจรรย์จริงๆ

ก็ต้องชม คณะกรรมการตรวจสอบฯ ที่สอบได้ลึกจริง ทั้งการซื้อเครื่องบิน โอที การขายตั๋วผ่านเอเย่นต์ 3-4 รายที่แบ่งประโยชน์มหาศาลทุกปี ล้วนเงินภาษีประชาชนทั้งนั้น.

“ลม เปลี่ยนทิศ”