ข่าวคราวเงียบหายไปนานพอสมควร ไม่ทราบว่าชะตากรรมของ พ.ร.บ.ภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง 2562 จะเป็นอย่างไร หลังจากที่สภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบกับคณะกรรมาธิการ ขอให้คณะรัฐมนตรีออกพระราชกำหนด เพื่อชะลอการใช้บังคับ พ.ร.บ.และปรับปรุงเนื้อหาใหม่ เพื่อให้เก็บภาษีที่มีประโยชน์ มีความพร้อม และไม่มีปัญหา
พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างใหม่ ออกโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในยุค คสช.จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2562 แม้จะออกมาหลังจากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 แต่เชื่อว่าไม่ผ่านการรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้อง ตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ และเลื่อนการเก็บภาษีเป็นวันที่ 1 มกราคม 2562
แต่มีการเลื่อนการเก็บภาษีออกไปอีก โดยอ้างว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ยังไม่พร้อม และเมื่อวันที่ 20 มกราคมที่ผ่านมา รัฐบาลได้ประกาศพระราชกฤษฎีกา ลดภาษีตาม พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ ฉบับใหม่ รายงานของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรระบุว่าถ้าไม่แก้ไขจะทำให้รายได้ของ อปท.ลดลง
มีการกล่าวอ้างว่ากฎหมายฉบับนี้ เป็นการปฏิรูประบบภาษีครั้งสำคัญ มีวัตถุประสงค์สำคัญคือการเพิ่มรายได้ให้ อปท.ทั่วประเทศ ยกเว้น อบจ. และลดความเหลื่อมล้ำในสังคม เช่น เก็บภาษีเพื่อเกษตรกรรมในอัตราต่ำที่สุด ล้านละ 100-1,000 บาท และเก็บภาษีที่ดินรกร้างว่างเปล่าเก็งกำไร ล้านละ 200-700 บาท
อาจจะเนื่องจากเป็นกฎหมายที่ไม่ได้ผ่านการรับฟังความเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง จึงมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันมาก ส.ส.บางคนยกตัวอย่างบ้านหลังแรกราคาไม่เกิน 50 ล้านบาท ไม่ต้องเสียภาษี แต่ ส.ส.มีบ้านในย่านชานเมืองราคา 1.5 ล้านบาท และจำเป็นต้องซื้อคอนโดอยู่ในเมือง เพื่อสะดวกในการเดินทาง ต้องเสียภาษี
...
ตัวอย่างข้างต้น แสดงว่ากฎหมาย แทนที่จะลดความเหลื่อมล้ำกลับซ้ำเติมให้เหลื่อมล้ำยิ่งขึ้น นักกฎหมายบางคนโจมตีอย่างรุนแรง กล่าวหาว่าเป็นกฎหมายที่มีช่องโหว่ ตัวอย่างเช่นที่ดินแปลงใหญ่ใน กทม. ราคานับพันล้านบาท เมื่อกฎหมายใหม่ออกมา เจ้าของที่ดินเลี่ยงภาษีด้วยการปลูกมะนาว เพื่อเสียภาษีที่ดินเกษตรกรรม
หลังจากที่สภาผู้แทนราษฎรมีมติให้รัฐบาลออกพระราชกำหนด เพื่อแก้ไขข้อบกพร่องต่างๆ และรอความพร้อมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐมนตรีคลังยืนยันว่าจะเดินหน้าต่อไป ไม่ออกพระราชกำหนดเพื่อชะลอการบังคับใช้ แสดงว่าไม่สนใจเสียงวิพากษ์วิจารณ์ กฎหมายแก้ไขความเหลื่อมล้ำ กลับซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำ.