หนังสือชื่อ “คนไท” ไม่ใช่ “คนไทย” แต่เป็นเครือญาติชาติภาษา รวมความรู้ “ไทยศึกษา” ของศาสตราจารย์สองแผ่นดิน เจีย แยนจอง มหาวิทยาลัยยูนนาน (สุจิตต์ วงษ์เทศ บ.ก.สำนักพิมพ์มติชน พ.ศ.2548) มีเหตุสำคัญให้ต้องรำลึกถึงท่าน ผมต้องอ่านอีกครั้ง

ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว จีนยุคโบราณ ตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฉิน หรือสมัยราชวงศ์ถัง เมื่อกำหราบเผ่าเยว่ราบคาบ ผู้นำจีนใช้ระบบปกครองเยว่ แบบหัวเมือง “จีหมี”

จี อักษรจีน คือขลุมม้า ที่เชื่อมกับบังเหียนม้า หมี ในอักษรจีนคือ เชือกสนตะพายวัว ซึ่งรวมความได้ว่า ล่ามโยงสัตว์เลี้ยง

ระบบจีหมี...แต่งตั้งประมุข หรือหัวหน้าเผ่าชนกลุ่มน้อย เป็นเจ้าเมือง ปกครองกันเอง โดยราชสำนักไม่เกี่ยวข้องกับขนบธรรมเนียมและกิจการภายใน ขอแต่ให้จงรักภักดีต่อราชสำนักจีนก็เป็นพอ

ระบบจีหมี ตรงกับศัพท์ว่า “ล่าม” มีคำนิยามว่า ผูกโดยวิธีให้เคลื่อนย้ายได้บ้างในที่จำกัด นี่แหละ จิตร ภูมิศักดิ์ จึงแปลความ คำว่า ไท หรือไต เป็นความหมายในเชิงประกาศตัวตนว่า “กูเป็นคน”

เชื้อชุดความรู้นี้กระมัง ช่วงเวลาก่อน 14 ตุลาฯ 2516 จึงมีสโลแกนจากปากผู้นำการชุมนุมต่อต้านเผด็จการ...“ฝูงสัตว์ต้องต้อน ฝูงชนต้องนำ” สโลแกนนี้ วันนี้น่าจะยังมีคนใช้อยู่

คนไทยวันนี้ เผ่าพันธุ์เดียวกับ เยว่ ในจีน เมื่อถูกปกครองกดขี่แบบสัตว์ก็ต่อต้าน

สมัยราชวงศ์หมิง จีนเบื่อการต่อต้าน จึงเริ่มผ่อนปรน เลือกคนที่ว่านอนสอนง่ายเป็นหัวหน้า เรียกระบบนี้ว่า ระบบพ่อล่าม เค้าของระบบนี้ยังอยู่ที่เมือง “แสนหวี” แถวสิบสองปันนา

อาจารย์เจีย แยนจอง บอกว่า กลายมาจากภาษาจีน “แซนเว่ย” แปลว่า ว่ากล่าว

...

หนังสือคนไท ไม่ใช่คนไทย...เล่มหนาเล่มนี้ สุที หลิมเทพาธิป เขียนบทส่งท้าย

“เจีย แยนจอง” (บรรยง จิระนคร) เกิดที่หาดใหญ่ ไปเรียนเมืองจีน ค้นคว้าเรื่อง “คนไท” ในยูนนาน เป็นศาสตราจารย์สองแผ่นดิน

เกษียณจากงานมหาวิทยาลัยยูนนาน อาจารย์เจียมาเป็นนักวิจัยรับเชิญ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อาจารย์เจีย เป็นลูกพี่ชายขุนนิพัทธ์จีนนคร ผู้บุกเบิกเมืองหาดใหญ่ เรียนทั้งจีนไทย จบ ม.ปลายจากเมืองไทย

ปี 2490 ไปเรียนต่อที่จีน สืบสานปณิธานของพ่อ ที่จะต้องเรียนให้จบ

ปี 2492 จีนเปลี่ยนการปกครองเป็นคอมมิวนิสต์ เจีย แยนจอง มุ่งมั่นเรียนจนจบมหาวิทยาลัยฝึกหัดครู รับงานสื่อสารกับชนกลุ่มน้อย ใช้เวลา 7–8 ปี ศึกษาเรียนรู้วิถีชีวิตคนไท ในสิบสองพันนา

“คนสิบสองพันนาเป็นไทแบบดั้งเดิม เค้ามีชีวิตความเป็นอยู่แบบเก่า ชาวบ้านมีอัธยาศัยดีมาก”

อาจารย์เจียเล่าประสบการณ์ในจีนตอนนี้ แล้วย้อนไปรำลึกถึงความหลัง สมัยยังอยู่ที่หาดใหญ่ ตอนญี่ปุ่นบุกไทย คุณอา (ขุนนิพัทธ์จีนนคร) ห่วงคนในครอบครัว ตัวเองอยู่ดูแลบ้าน ส่งลูกๆหลานๆ ไปอยู่ที่คลองแห

ห่างจากหาดใหญ่ไปราว 10 กม.

ระหว่างทางมีศาลาพักร้อน ริมลำธารเล็กมีน้ำใสไหลผ่าน บนศาลานั้นมีถ้วยชามไว้ให้คนเดินทางเอามาใช้กินข้าวกลางวัน กินเสร็จแล้วก็ล้างให้สะอาดเก็บไว้ในตู้เหมือนเดิม

ศาลากลางทางแบบเดียวกันนี้ มีที่เมืองสิบสองพันนา

อ่านเรื่องนี้แล้ว เห็นความผูกพันแบบบ้านพี่เมืองน้อง ระหว่างจีนและไทยได้ชัดเจน จนแทบไม่เหลือใจให้ฝรั่ง

อาจารย์เจีย แยนจอง เสียชีวิตเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2562 ที่ผ่านมาครับ อายุท่าน 89 ปี ทั้งประเทศจีนและประเทศไทยสูญเสียนักวิชาการผู้ยิ่งใหญ่ไปด้วยกัน.

กิเลน ประลองเชิง