สำนวน “เทวดาเดินดิน กินข้าวแกง”? สำนวนนี้ไม่ตั้งใจเปรียบเปรยเย้ยหยันใคร...แต่เป็นสำนวนที่ออกจากปากคนที่เคยเห็นเทวดาเดินดินตัวเป็นๆ
ในสารานุกรมวัฒนธรรมไทย (พิมพ์คำสำนักพิมพ์ พ.ศ.2553) หัวข้อโล้ชิงช้า ส.พลายน้อย อ้าง “คำให้การชาวกรุงเก่า” ที่พระเจ้าอังวะมังระสั่งให้เชลยไทยเล่าและบันทึกไว้
การพระราชพิธีโล้ชิงช้า พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาโปรดให้ออกญาพลเทพ เสนาบดีกรมนาต่างพระองค์แห่ไปยังที่พราหมณ์โหนชิงช้า นั่งในมณฑป แต่เอาเท้าลงดินได้ข้างเดียว
ถ้าเมื่อเผลอยกเท้าลงดินทั้งสองข้างแล้วถูกปรับ ของที่ได้รับพระราชทานคือส่วยแลอากรซึ่งมาแต่หัวเมืองต่างๆ ตลอดจนเครื่องราชบรรณาการที่เข้ามาในระหว่างพิธี ต้องตกเป็นของพราหมณ์ทั้งสิ้น
มีเรื่องเล่าในพระราชพงศาวดารว่า พระเจ้าปราสาททองทรงเห็นว่าเทวสถานเดิมนั้นไม่เหมาะ จึงโปรดให้รื้อไปสร้างที่ใหม่บริเวณสะพานชีกุน เมื่อ พ.ศ.2179
เรียกเทวสถานแห่งนี้ว่า พระศรีรุทรนาถเป็นที่ประดิษฐานพระอิศวร พระนารายณ์
เมื่อรื้อเทวสถาน ก็จำเป็นต้องรื้อเสาชิงช้า เอามาตั้งที่หน้าเทวสถาน แต่ถูกไฟเผาเมื่อตอนกรุงแตก
พระราชพิธีโล้ชิงช้า เริ่มมีในเดือนอ้าย เดือนขึ้นปีใหม่ไทยโบราณ เดือนนี้พระอิศวรจะเสด็จมาเยี่ยมโลกมนุษย์ วันขึ้น 1 ค่ำเสด็จลง วันแรม 1 ค่ำเสด็จกลับ สิ้นพิธีตรียัมปวาย
พิธีตรียัมปวายต่อจากนั้น วันแรม 1 ค่ำพระนารายณ์จะเสด็จลงจนถึงวันแรม 5 ค่ำ
สรุป พระอิศวรเสด็จตอนข้างขึ้นเดือนหงาย พระนารายณ์เสด็จข้างแรมเดือนมืด จึงมีคำพูดติดปากกันว่า “แห่พระนเรศวร์เดือนหงาย แห่พระนารายณ์เดือนมืด”
เหตุที่พระอิศวรเสด็จลงมานั้น ตำนานกล่าวว่า เมื่อพระพรหมสร้างโลกเสร็จได้ขอให้พระอิศวรดูแล พระอิศวรไม่วางพระทัยว่าโลกจะแข็งแรงมั่นคงจึงขอลงมาตรวจสอบ
...
พระอิศวรให้พญานาคเอาหางเกี่ยวพันภูเขาริมแม่น้ำฟากหนึ่ง ข้างหัวพันภูเขาริมแม่น้ำอีกฟากหนึ่ง แล้วให้ไกวตัวแบบเล่นชิงช้า ทรงนั่งด้วยพระบาทข้างเดียว ลักษณะไขว่ห้าง
ถ้าโลกไม่แข็งแรงมั่นคง เกิดแผ่นดินไหว จะทรงนั่งในท่านั้นต่อไปไม่ได้
ผู้ทำหน้าที่พระอิศวร คือพระยายืนชิงช้า (ความจริงนั่ง) เลือกจากข้าราชการผู้ใหญ่ พราหมณ์พิธีปลูกปะรำ กลางโรงมีราวไม้ไผ่หุ้มผ้าขาว สำหรับนั่งราวหนึ่ง สำหรับพิงราวหนึ่ง
พระยายืนชิงช้านั่งที่ราว เอาเท้าซ้ายยันพื้น เท้าขวาพาดเข่าซ้าย กติกามีว่า ถ้าทำเท้าขวาตกเหยียบดิน จะถูกปรับเอาทรัพย์สินให้พราหมณ์
ครั้งหนึ่งสมัยรัชกาลที่ 2 เจ้าพระยาพลเทพ (ทองอิน) เคยทำเท้า ขวาตก งานนี้ถือว่าขาดทุน
กระบวนพิธีพระยายืนชิงช้า...เป็นกระบวนใหญ่ มีคนแต่งตัวเป็นเทวดากว่า 800 คน ค่าใช้จ่าย ค่าเครื่องแต่งตัว ค่าอุปกรณ์พิธี ค่าอาหาร เป็นเงินไม่น้อย พระยายืนชิงช้าต้องจ่ายเอง
บางปีพระยายืนชิงช้า ไม่มีเงิน ต้องขอพระราชานุเคราะห์
พ.ศ.2477 มีพระราชพิธีโล้ชิงช้า...พระยาชลมารควิจารณ์ (ม.ล.พงศ์ สนิทวงศ์) เป็นพระยายืนชิงช้าถือว่าเป็นปีสุดท้าย เพราะปีต่อมา รัฐบาลสั่งให้เลิก
ผู้ใหญ่หลายท่านที่เกิดทันเล่าให้ลูกหลานฟัง เคยเห็นคนแต่งตัวเป็นเทวดา สวมเสื้อครุยสีขาว สวมหมวกแบบลอมพอก ช่วงก่อนเวลาพิธีนั่งกินข้าวแกงอยู่ตามร้านอาหารริมถนน
เทวดาเดินดิน กินข้าวแกง ให้มนุษย์ได้เห็นตัวเป็นๆก็ตอนนี้
คนรุ่นหลังอย่างเราๆจะได้เห็นก็แต่เทวดาในโขนละคร หรือภาพจิตกรรมฝาผนัง
โอกาสจะได้เห็นเทวดาตัวเป็นๆเดินดินมานั่งกินข้าวแกงริมถนน เหมือนคนสมัยปู่ย่าไม่มีอีกแล้ว.
กิเลน ประลองเชิง