วันนี้ (13 ตุลาคม 2562) เป็นวันสำคัญยิ่งวันหนึ่งสำหรับพสกนิกรชาวไทยทั้งปวงที่ยังรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันใหญ่หลวงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาโดยตลอดและได้ร่วมกันจัดงานถวายความจงรักภักดีอย่างพร้อมเพรียงทั่งประเทศ

พระราชกรณียกิจจากโครงการในพระราชดำริต่างๆของพระองค์ท่าน ยังคงก่อประโยชน์อย่างยิ่งยวดต่อพสกนิกรชาวไทย ทั้งในท้องถิ่นทุรกันดารอันห่างไกลและในเมืองใหญ่อันเจริญรุ่งเรือง เช่น กรุงเทพมหานครตราบเท่าทุกวันนี้

พระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทที่ทรงแนะนำสั่งสอนให้ประพฤติแต่ความดีงาม รู้รักสามัคคีและอุทิศตนแก่ชาติบ้านเมือง ในโอกาสต่างๆยังคงกึกก้องอยู่ในความทรงจำของปวงประชาเสมอมา

แม้ ณ กาลปัจจุบันพระองค์ท่านจะเสด็จสู่สรวงสวรรคาลัยครบ 3 ปีแล้ว แต่พสกนิกรชาวไทยยังคงสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ อันหาที่เปรียบมิได้อยู่ตลอด และจะสำนึกไปตราบกาลนิรันดร์ โดยไม่มีเสื่อมคลาย

สำหรับเรื่องราวที่จะเขียนถึงในวันนี้ จะเกี่ยวกับบุคคลสำคัญของโลก ที่ได้รับการยกย่อง โดยยูเนสโกอีกท่านหนึ่ง และเป็นบุคคลที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากในหลวงรัชกาลที่ 9 มาเป็นเวลายาวนานตราบจนวาระสุดท้ายของบุคคลผู้นี้

ได้แก่ ครู เอื้อ สุนทรสนาน หรือที่รู้จักกันในนามของ “สุนทราภรณ์” ผู้ก่อตั้งวงดนตรี “สุนทราภรณ์” อันโด่งดัง ซึ่งทุกวันนี้แม้ตัวคุณครูเองจะจากไปหลายปีแล้ว แต่วงดนตรีของท่านก็ยังคงอยู่ รวมทั้งเพลงต่างๆที่คุณครูแต่งหรือร่วมแต่งไว้กว่า 2,000 เพลง ก็ยังคงความไพเราะและเป็นอมตะ ได้รับการบรรเลงขับร้องจากนักร้องรุ่นหลังๆเรื่อยมา โดยไม่มีวี่แววว่าประชาชนจะหลงลืมเพลงเหล่านี้แต่อย่างใดเลย

...

ครูเอื้อเกิดเมื่อวันที่ 21 มกราคม พ.ศ.2453 ที่อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2524 และได้รับการยกย่องจากยูเนสโก ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก ในสาขาวัฒนธรรมดนตรีไทยสากล ในวาระครบรอบ 100 ปีชาตกาล เมื่อ พ.ศ.2552

ท่านก่อตั้งวงดนตรี “สุนทราภรณ์” เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ.2482 ขณะดำรงตำแหน่งหัวหน้าวงดนตรีกรมโฆษณาการ หรือกรมประชาสัมพันธ์ในปัจจุบัน ครูเอื้อไม่ประสงค์จะใช้วงดนตรีของทางราชการไปรับงานแสดงส่วนตัว จึงได้ดำริจัดตั้งวงดนตรี “สุนทราภรณ์” ขึ้น เพื่อรับบรรเลงตามสถานที่ต่างๆในเวลานอกราชการ

คำว่า “สุนทราภรณ์” ได้มาจากการนำนามสกุลท่อนแรกของท่าน คือ “สุนทร” มาสนธิกับชื่อสุภาพสตรีอันเป็นที่รักของท่าน ได้แก่ “อาภรณ์” (กรรณสูต) กลายเป็น “สุนทราภรณ์” ซึ่งเป็นทั้งชื่อวงดนตรีและนามแฝงในการขับร้องเพลงของท่านควบคู่กันไป

เพลงของสุนทราภรณ์มีทุกแนว นับตั้งแต่เพลงปลุกใจ เพลงสดุดีเทอดพระเกียรติ เพลงประจำสถาบันต่างๆ มาจนถึงเพลงรักเพลงคติธรรมชีวิต ไปจนถึงเพลงรำวงและลีลาศอันสนุกสนาน

หลายๆเพลงยังคงความอมตะและได้รับความนิยมสืบเนื่องจนกลายเป็นสมบัติของชาติเคียงคู่สังคมไทยตราบเท่าทุกวันนี้ ได้แก่ เพลงเทศกาลต่างๆ เช่น เริงสงกรานต์, รำวงสงกรานต์, รำวงลอยกระทง, สวัสดีปีใหม่, รื่นเริงเถลิงศก, รำวงปีใหม่ ฯลฯ เป็นต้น

ไม่เพียงแต่จะเป็นที่รู้จักในประเทศไทยเท่านั้น เพลง “รำวงลอยกระทง” ของท่านยังเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ในฐานะเพลงสัญลักษณ์เพลงหนึ่งของประเทศไทย และเล่ากันว่าในการเสนอชื่อท่านต่อยูเนสโก เพื่อให้ยกย่องเป็นบุคคลสำคัญของโลกนั้น หากผลงานของบุคคลสำคัญเป็นที่รู้จักในต่างประเทศด้วย ก็จะได้รับการพิจารณา เป็นพิเศษ

ทางฝ่ายไทยจึงแนบเทปเพลง “รำวง ลอยกระทง” ไปด้วย เมื่อเปิดขึ้นคณะกรรมการพิจารณาก็ยิ้มทันที เพราะรู้จักเพลงนี้กันทุกคน

ครูเอื้อ สุนทรสนาน ได้รับพระราชทานเพลงพระราชนิพนธ์ “มหามงคล” จากในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นเพลงเปิดวงในโอกาสฉลองครบรอบปีที่ 20 แห่งการตั้งวง เมื่อ พ.ศ.2502 และทางวงดนตรีสุนทราภรณ์ก็ได้อัญเชิญบรรเลงเป็นเพลงเปิดวงแม้จนทุกวันนี้

เมื่อครั้งวงดนตรีสุนทราภรณ์มีอายุครบ 30 ปี ใน พ.ศ.2512 ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานพระราชวโรกาสให้ครูเอื้อ สุนทรสนาน นำนักร้อง นักดนตรี และนักเรียนจากโรงเรียนสุนทราภรณ์การดนตรี เข้าเฝ้า ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ทรงพระสุหร่าย ทรงเจิม และพระราชทานเหรียญเสมาทองคำ “ภปร.” แก่หัวหน้าวง นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นพ้นแก่ครูเอื้อ

ในงานฉลอง 70 ปี ของการตั้งวงดนตรีสุนทราภรณ์ เมื่อ พ.ศ.2552 นาย แก้วขวัญ วัชโรทัย เลขาธิการพระราชวังใน พ.ศ.ดังกล่าว ได้กล่าวไว้ว่า “วงดนตรีสุนทราภรณ์ถือเป็นวงในพระราชสำนัก เพราะได้บรรเลงดนตรีถวายต่อเนื่องเป็นเวลาหลายสิบปี”

เมื่อครูเอื้อถึงแก่กรรม ก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานเพลิงศพด้วยพระองค์เอง ณ วัดเทพศิรินทราวาส นับเป็นศิลปินคนที่ 2 และคนสุดท้ายที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระองค์

เนื่องในโอกาสครบรอบปีที่ 80 ของวงดนตรีสุนทราภรณ์ ในเดือนพฤศจิกายนที่จะมาถึงนี้ จะมีการแสดงพิเศษเฉลิมฉลองในวันเสาร์ที่ 23 และวันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน เวลา 14.00 น. ทั้ง 2 วัน ณ โรงละครอักษรา คิง เพาเวอร์ รางน้ำ โดยมีคุณ เอมอร ศรีวัฒนประภา เป็นประธานจัดงาน และจะมีนักร้องรุ่นใหม่ เช่น กัน-นภัทร, นัททิว และ พริม พริตา มาร่วมด้วย ส่วนนักร้องรุ่นเก่าคู่บารมีของวงสุนทราภรณ์จะมาร่วมหลายท่าน รวมทั้ง สุปาณี พุกสมบุญ วัย 95 ปี และ รวงทอง ทองลั่นธม วัย 82 ปี

...

มีข่าวว่าบัตรจำหน่ายไปเกือบหมดแล้ว ผู้สนใจเข้าร่วมในงานฉลองครั้งนี้ลองติดต่อหาข้อมูลได้ที่ศูนย์บริการสุนทราภรณ์ 08–1285– 1427 นะครับเผื่อจะมีเหลืออยู่บ้าง.

“ซูม”