หัวค่ำวันศุกร์ที่แล้ว...พื้นที่ส่วนหนึ่งในรถไฟฟ้าใต้ดิน สถานีจตุจักร มีตลาด(นัด)หนังสือ ประชันกับวงดนตรีวัยรุ่นชาย แฟนๆฝ่ายไหนมากกว่า ผมประเมินด้วยสายตา ไม่ถึงกับบางตา มีพอๆกัน

ภาพตลาดหนังสือ มีคนเดินดูเดินซื้อขวักไขว่ เป็นภาพที่คนแก่อย่างผม ที่ยังอยู่กับอาชีพเขียนหนังสือลงกระดาษ...ชื่นใจ อย่างน้อย คนรักการอ่านหนังสือยังมีอยู่

แต่หนังสือที่ยังขายได้ ต้องเป็นหนังสือดี มีจุดขาย ไม่ว่าคอหนังสือที่เสาะหาความรู้ หรือหนังสือการ์ตูน นิยาย ตรงใจวัยรุ่น

นิตยสารที่ยังยืนหยัด ยืนยงคงอยู่ มีคนส่งมาให้ผมอ่านหลายเล่ม อย่างเล่มสารคดี ฉบับสิงหาคม 2562 เรื่องขึ้นปก จาก มาเรียม สู่พะยูน 250 ตัวสุดท้ายในประเทศไทย

เราดูข่าวมาเรียม ลูกพะยูนเพศเมียหลงแม่ ทั้งยังหลงน้ำ ไม่รู้น้ำขึ้นน้ำลง จนเกยตื้น จนมาถึงยามีล ลูกพะยูนเพศผู้...จนรู้ตอนจบ แสนเศร้าเรียกน้ำตา จากสื่อทุกสื่อตรงหน้ากันไปแล้ว

ผมอยากรู้สื่ออย่างสารคดี จะทำหน้าที่บันทึกสรุปเรื่องราวที่ผมถือว่า เป็นมหากาพย์แห่งความรักของโลก ความรักระหว่างมนุษย์กับสัตว์ทะเล เรื่องนี้ได้แค่ไหน อย่างไร

คนไทยส่วนใหญ่ มีภาพเงือกน้อย ที่ชายหาดสมิหลา สงขลา ในใจ แต่ภาพเงือกน้อย ในเรื่องเล่า ของชายโหด จิเหลา ผู้เฒ่าแห่งเกาะลิบง ตรัง แตกต่าง

คู่ผัวเมียหมู่บ้านริมทะเล แต่งงานมานาน วันที่เมียตั้งท้องได้สี่เดือน เรียกร้องอยากกินหญ้าชะเงา หญ้าทะเลชนิดหนึ่ง ผัวหามาให้กินไม่ทันใจ วันหนึ่งขณะผัวเอาเรือออกหาปลาในทะเล กลับถึงบ้านเมียหาย

มีคำบอกเล่า เดินลงทะเลเก็บหญ้าทะเลกินแก้แพ้ท้อง แล้วก็หายไป

เมียเข้าฝัน ให้ลงทะเลตามไปเจอกันในคืนพระจันทร์เต็มดวง เจอเมียในสภาพครึ่งบนเหมือนหมู ครึ่งล่างเหมือนปลาโลมา บอกกับผัวว่า ยังรักกันเหมือนเดิม เพียงแต่จะอยู่กันเหมือนเดิมไม่ได้

...

เรื่องเล่าสไตล์เลิฟสตอรี่...ของพะยูน มากับความคุ้นเคยของชาวเกาะลิบง ระหว่างหาปลาพวกเขามักเจอพวกมันโผล่ขึ้นมาหายใจ “เฮือกใหญ่”

ปี 2536 คนแถวหาดเจ้าไหม จังหวัดตรัง เจอเจ้าโทน เพศเมียอายุ 6 เดือน พะยูนตัวนี้ ตัวเดียวกับเจ้าอาย ที่เคยติดในกระชังปลาเก่า ทะเลหน้าอำเภอสุขสำราญ จังหวัดระนอง

ดร.กาญจนา อดุลยานุโกศล ดูแลไว้ที่ภูเก็ต จนแข็งแรง แล้วนำมาปล่อยไว้ที่หาดเจ้าไหม เจ้าอายคุ้นเคยกับคน มักว่ายวนเข้ามาคลอเคลียกับเรือ ชาวบ้านคุ้นเคยเรียกเจ้าโทน

9 เดือนต่อมา เจ้าโทนพะยูนขวัญใจคน ว่ายไปติดอวนลอย...ตาย

เรื่องของเจ้าโทน ยืนยันความสามารถมนุษย์ ดูแลพะยูนให้มีชีวิตต่อไปได้ กรณีมาเรียม หรือยามีล เป็นเรื่องเหลือวิสัย ที่จะต้องเรียนรู้ต่อไปอีก

เรื่องเร้นลึก ที่ควรรู้ เขี้ยวพะยูน ราคาแพงถึงข้างละแสน น้ำตาปลาพะยูน ที่ฟังแล้วเป็นเรื่องโม้...ก็ถูกเล่าให้ดูเป็นจริงเป็นจัง คนมักจับพะยูนได้ทั้งแม่ลูก การจะได้น้ำตาพะยูน ต้องตบตีทำร้ายลูก เพื่อให้น้ำตาแม่พะยูนไหล

ทางไสยศาสตร์น้ำตาพะยูนใช้ทำเสน่ห์ ช่วงที่จตุคามรามเทพฮิต ถูกโฆษณาว่าผสมน้ำตาพะยูนด้วย

เรื่องเล่าเหล่านี้ เป็นแค่เกร็ดๆของเรื่อง ผมตั้งใจขอดเกร็ดมาเรียกความสนใจ ให้ไปซื้อนิตยสารสารคดีอ่าน เนื้อหนังที่เป็นสาระและความประทับใจ ที่มีอยู่ให้อ่านเต็มอิ่ม กันเอง

ผมเชื่อของผมว่าหนังสือดียังอยู่ได้ เหมือนพะยูน 250 ตัวสุดท้ายในทะเลอันดามัน ยังอยู่ต่อไปได้

หากมนุษย์รู้จัก มั่นคงในความรักและเข้าใจ เหมือนที่เคยรักเจ้าโทน รักยามีล และรักมาเรียม.

กิเลน ประลองเชิง